ถอดรหัส “ใจ” กลุ่มเจมาร์ท ไม้ต่อ GEN2 อัพสปีดโตทวีคูณ

เอกชัย-อดิศักดิ์ วิทยาสุขุมวิทยา

จังหวะก้าวสู่ปีที่ 35 กลุ่มเจมาร์ท ขยับครั้งใหญ่ด้วยการปรับภาพลักษณ์องค์กร และเปิดตัวแคมเปญสื่อสารการตลาด ภายใต้แนวคิดในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วย “ใจ” กับเป้าหมายที่แม่ทัพและผู้ก่อตั้งกลุ่มเจมาร์ท “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ประกาศชัดถ้อยชัดคำว่า ในอีกสองปีหรือในปี 2567 ต้องการให้กิจการโดยรวมของกลุ่มบริษัทเจมาร์ทมีมูลค่า 5 แสนล้านบาท

เชื่อว่าแม้แต่คนที่รู้จักแบรนด์ “เจมาร์ท” ก็คงอดมีคำถามไม่ได้ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน

แต่ถ้ามองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น จากตึกแถวสองคูหาขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน เมื่อ 30 กว่าปีก่อน มาวันนี้ มีบริษัทในเครือกว่า 20 แห่ง และมีถึง 4 บริษัทระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว คือ เจมาร์ท, เจเอ็มที, ซิงเกอร์ และ JAS Asset มีมูลค่าธุรกิจรวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท

ไม่นับบริษัทที่ 5 และ 6 ที่กำลังจ่อคิวตามมาอีก

นับว่า เจมาร์ท ผ่านคำว่า “เป็นไปไม่ได้” มาหลายครั้ง และไกลกว่าจุดตั้งต้นมาก

จุดเริ่มต้นและที่มาของ “ใจ”

“อดิศักดิ์” กล่าวว่า ที่ใช้คำว่า “ใจ” เป็นธีมหลักในการสื่อสารภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ เพราะเป็นคำที่มีความหมายสำหรับเขาและทีมงาน และว่าเริ่มต้นตั้งบริษัทจากความตั้งใจเมื่อ 30 กว่าปีก่อนที่อยากสร้างธุรกิจของตนเอง

แม้ระหว่างทางจะมีอุปสรรคนับไม่ถ้วน แต่เพราะ “ใจ” ที่ไม่ยอมแพ้ทำให้เขาและทีมงานขยับขยายธุรกิจไปได้มากมาย จากร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน มาขายมือถือ ทำธุรกิจติดตามหนี้, บริหารพื้นที่เช่า, ธุรกิจการเงิน เป็นเจ้าบริษัทเงินผ่อนที่มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี “ซิงเกอร์” และกระโดดเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัล และเทคโนโลยี “บล็อกเชน” ออก “เจฟินคอยน์” เงินดิจิทัลที่ทั้งเทรดอยู่ในกระดานเทรดดิจิทัล และเป็น “ยูทิลิตี้โทเค็น” กับธุรกิจในเครือ

“ต้องบอกว่า เรามาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะใจ ใจทำให้เรามาไกล มองเห็นอนาคต และความเป็นไปได้มากกว่าที่ใคร ๆ จะคิด”

ย้ำเป้า 5 แสนล้านปี 2567

“อดิศักดิ์” เล่าว่า มักมีคนถามเขาเสมอว่า เจมาร์ทมาได้ไกลขนาดไหน ถ้าถามเมื่อ 20 ปีก่อน ก็จะบอกว่ามาได้ 20% จนไม่กี่ปีมานี้มีคนถามอีก ก็บอกว่ามาได้สัก 30%

“ที่บอกแบบนั้น ก็เพื่อส่งสัญญาณให้ทีมงานรู้ว่าเรายังไปได้มากกว่านี้อีกเยอะ”

เป็นที่มาของการวางเป้าที่จะทำให้มูลค่าธุรกิจของกลุ่มเจมาร์ทไปถึง 5 แสนล้านบาทให้ได้ใน 2 ปีจากนี้

เขาบอกว่า โดยส่วนตัวไม่ได้มีความทะเยอทะยานอะไรมาก ที่ผ่านมา มีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว กระทั่งเมื่อต้นปีนี้ได้ KBJ เป็นพาร์ตเนอร์ ทำให้เริ่มคิดว่าบริษัทมาได้ไกลถึงขนาดได้แบงก์ใหญ่อันดับต้น ๆ ของเกาหลีมาเป็นพาร์ตเนอร์ มีบริษัทเทคโนโลยี TIS มาลงทุนด้วย และได้รับเกียรติจากกลุ่มบีทีเอส ภายใต้การดูแลของคุณเควิน (กวิน กาญจนพาสน์) เข้ามาลงทุนในเจมาร์ท และซิงเกอร์ ด้วยมูลค่า 17,500 ล้านบาท

เมื่อเร็ว ๆ นี้ยังได้ “เคแบงก์” มาลงทุนกับ “JMT” ร่วมกันคนละ 5 พันล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจบริหารหนี้

นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องเริ่มคิดว่า กลุ่มเจมาร์ทจะไปต่ออย่างไรเพื่อไม่ให้คนที่มาลงทุนด้วยผิดหวัง

“เป็นที่มาที่ทำให้ผมต้องคิดต่อว่าเราจะทำธุรกิจเหมือน 30 กว่าปีที่ผ่านมาได้ไหม เราจะโชคดีแบบนี้อีกหรือเปล่า”

ปัจจุบัน “อดิศักดิ์” วางบทบาท “เจมาร์ท กรุ๊ป” ให้เป็นกลุ่มบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี ภายใต้วิสัยทัศน์ “Technology Investment Holding Company” ที่พร้อมจับมือกับพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อสร้างการเติบโตแบบทวีคูณ โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชนบิ๊กดาต้า และนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจค้าปลีก พัฒนารูปแบบธุรกิจ และผลิตภัณฑ์ด้านการเงิน เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งทุน ลดหนี้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ไม้ต่อเจน 2 ต่อยอดโตทวีคูณ

“เอกชัย สุขุมวิทยา” ลูกชายคนโต ปัจจุบันนั่งในตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจมาร์ท เสริมว่า การทำธุรกิจด้วย “ใจ” ในมุมของคุณพ่อเป็นเรื่องความเป็นนักสู้ ไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ แต่สำหรับเขา คือการมองไปที่ความต้องการของลูกค้า

“ชัดเจนว่าเราเป็นองค์กรที่มีแพสชั่นในการสร้างการเติบโต เจเอ็มทีตอนแรกที่ทำ ก็มีคนบอกทำไมไปซื้อหนี้เน่า แต่เราไม่เคยท้อ ทำจนกลายเป็นบริษัทติดตามหนี้อันดับต้น ๆ ของประเทศได้ หรือการทำ เจฟินคอยน์ เราก็เป็นคนแรกที่ทำ ตั้งแต่ยังไม่มี กม.รองรับ เพราะเชื่อและมั่นใจในเทคโนโลยีบล็อกเชน”

ในมุมมองของเขา “เจมาร์ท” ไม่ได้เติบโตมาได้อย่างทุกวันนี้ เพราะขายมือถือ ปล่อยกู้ หรือมีธุรกิจติดตามหนี้ แต่เป็นเพราะ “รู้” และ “เข้าใจ” ว่าลูกค้าต้องการอะไร

“ท้ายที่สุด เราอยากเป็นแบรนด์ที่ทำให้ลูกค้ามีความสุขทุกวัน เป็นมือที่คอยช่วยเหลือผู้คน ยกระดับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือวัยเกษียณ”

ดึงคนรุ่นใหม่เสริมรับโอกาสใหม่

แม้จะเริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจของครอบครัว “สุขุมวิทยา” แต่ “เอกชัย” บอกว่า เจมาร์ทไม่ได้บริหารงานแบบธุรกิจครอบครัว แต่เป็นกลุ่มบริษัทที่มีโครงสร้างการบริหารงานแบบมืออาชีพ

“การรีแบรนด์ก็เพื่อปรับความเข้าใจกับผู้บริโภคว่า เราไม่ใช่แค่ร้านขายมือถือ ทำภาพลักษณ์ให้มีความเป็นอินเตอร์ น่าเชื่อถือ โดยสื่อสาร และสร้างการรับรู้กับลูกค้า คู่ค้า พันธมิตร นักลงทุนก็หวังว่าจะทำให้เราดึงดูดทาเลนต์รุ่นใหม่ เข้ามาเสริมทีมได้ด้วย เพราะธุรกิจยังจะขยายไปได้อีกมากจึงต้องการคนรุ่นใหม่มาช่วย”

อย่างไรก็ตาม แม้ “ใจที่สู้” จะขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้ก็จริง แต่ถ้าจะไปให้ได้ไกลต้องประสานความร่วมมือ (synergy) เริ่มจากธุรกิจในกลุ่มเจมาร์ท ก่อนขยายไปยังพันธมิตรอย่างเปิดกว้าง เพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่ และสร้างโมเดลการเติบโตแบบทวีคูณร่วมกัน

เชื่อมพันธมิตรโตไปด้วยกัน

ที่ผ่านมา “เจมาร์ท กรุ๊ป” ร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลาย เช่น กลุ่ม BTS เสริมศักยภาพธุรกิจค้าปลีก และการเงินกับ “กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง” พัฒนาการขายโซลาร์รูฟท็อปให้ลูกค้า และไปลงทุนกับกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ขยายอีโคซิสเต็มในบุรีรัมย์ ทั้งจะเข้าไปลงทุนในพีอาร์ทีอาร์ ผู้ให้บริการ HR Outsource รวมถึงเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เช่น สุกี้ตี๋น้อย ซึ่ง “เอกชัย” บอกว่าไม่ใช่เข้าไปเทกโอเวอร์ แต่เข้าไปถือหุ้นบางส่วน

“เราไม่ได้ถนัดทุกธุรกิจ แต่จะนำสิ่งที่มีไปช่วยทำให้เขาโตได้เร็วที่สุด เพราะเรามีระบบต่าง ๆ ทั้งบัญชี การเงิน และเทคโนโลยี มีประสบการณ์ทั้งในการทำธุรกิจ และการนำบริษัทเข้าตลาดจึงน่าจะให้คำแนะนำต่าง ๆ ที่จะทำให้เขาขยายธุรกิจได้เร็วขึ้น ด้วยต้นทุนที่ดีขึ้นด้วย”

แน่นอนว่าจะไม่ใช่มีแค่ “สุกี้ตี๋น้อย” แต่ยังจะเห็นความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ในธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มอีก ภายใต้หลักการที่ว่าจะต้องเป็นธุรกิจที่มีลูกค้าจำนวนมาก (mass) และสามารถใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไปต่อยอดให้เติบโตได้ ดังจะเห็นการเตรียมออกหุ้นกู้ของหลายบริษัทในกลุ่มอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุน และขยับขยายอาณาจักรธุรกิจ

“อดิศักดิ์” แม่ทัพกลุ่มเจมาร์ททิ้งท้ายว่า “การออกหุ้นกู้ ถ้าไม่มีการลงทุนจะเป็นภาระทางการเงิน แต่ถ้านำไปลงทุนก็จะสามารถทำได้มากกว่าดอกเบี้ย”

ทั้งหมดก็ด้วย “ใจ” ที่เชื่อมั่นว่า “กลุ่มเจมาร์ท” ยังไปได้อีกไกลกว่านี้มาก