Next Step ไปรษณีย์ไทย พลิกบทบาทสู่ Data Company

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์

ยืนหนึ่งในฐานะบริษัทขนส่งสัญชาติไทยมายาวนานกว่า 137 ปี สำหรับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย (ปณท) แต่สิบกว่าปีที่ผ่านมาเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากทั้งคู่แข่งหน้าใหม่ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้รายได้หลักในปัจจุบันห่างไกลจากการส่งจดหมายและขายแสตมป์อย่างมาก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ปณท” จึงพยายามที่จะปรับเปลี่ยนตนเองอย่างต่อเนื่อง แม้รู้ดีว่าไม่ง่าย ล่าสุดภายใต้การนำทัพของ “ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไปรษณีย์ไทยเดินหน้าผลักดันหลายสิ่ง ทั้งการรีสกิล “บุรุษไปรษณีย์” ปรับโครงสร้างการทำงานเป็น 365 วัน ลงทุนด้านดิจิทัลและแพลตฟอร์ม รวมถึงขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งธนาคาร สำนักพิมพ์ ร้านค้าปลีก ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือแม้แต่คู่แข่งในธุรกิจโลจิสติกส์ด้วยกัน

อะไรอยู่เบื้องหลังแนวคิดและเป้าหมายใหม่ที่เขาประกาศว่า ปณท ไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เริ่มจากการมองตนเองเป็น “แพลตฟอร์ม” ที่สร้างโซลูชั่นด้านการขนส่งแบบใหม่ กับการก้าวไปสู่ data company

ประคองตัวสู้แข่งดุ

“ดนันท์” กล่าวถึงภาพรวมตลาดขนส่งในปัจจุบันว่ามีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท โดย ปณท ยังคงครองสัดส่วนการขนส่งต่อชิ้นกว่า 50% ด้วยการแข่งขันที่สูงมาก จึงต้องมองหารายได้จากช่องทางใหม่ ๆ เช่น การขนส่งสินค้าให้กับธุรกิจไปยังลูกค้าทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่เติบโตอย่างมากในช่วงโควิด

“ปีที่แล้ว รายได้รวมไปรษณีย์ไทยอยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะโต 5-10% แต่โดยรวมแล้วจะกำไรหรือขาดทุนขอยังไม่เปิดเผย เหลืออีกไตรมาสที่ยังต้องพยายามเต็มที่ แม้ไตรมาสนี้ยอดช็อปออนไลน์คงไม่เพิ่ม เพราะคนเริ่มออกไปเที่ยวหลังจากช่วงโควิดไม่ได้เที่ยวมานาน คนกลับไปซื้อของตามร้านมากขึ้น ทำให้ไตรมาส 4 น่าจะเป็นการประคองให้รอด”

และว่าที่ผ่านมา ปณท ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนผู้ประกอบการร้านค้าที่ขายสินค้าออนไลน์ โดยปรับโครงสร้างองค์กร และตารางการทำงานเป็น 365 วัน รวมไปถึงการขยายบริการใหม่ ๆ โดยจับมือกับพันธมิตรหลายราย

จัดทัพใหม่บริหาร “คน-เวลา”

“เราทำครบวงจร มี fulfillment ผ่านคลังสินค้า 9 แห่ง ครอบคลุมทั้งประเทศ และเจาะตลาดเพิ่ม โดยมีทีมเซลส์แอดไวเซอร์คอยให้คำปรึกษาด้านการบริการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า”

ปณท มี “เซลส์” หรือที่ปรึกษาธุรกิจอยู่ทั่วประเทศเกินกว่าพันคนแล้ว ทำให้สัดส่วนรายได้ที่มาจากที่ปรึกษาธุรกิจอยู่ที่ 20% ซึ่ง “ดนันท์” มองว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีกเมื่อเครือข่ายแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะทำงานร่วมกับทีมดูแลหลังการขาย และทีมขนส่ง โดยในทุกพื้นที่จะมี 3 ทีม คอยดูแลตั้งแต่การให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ระบบการขนส่งที่เหมาะสม ด้านราคา การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการตลาดบนแพลตฟอร์มของไปรษณีย์ไทย

“ทีมข้างต้นเกิดจากการปรับโครงสร้างใหม่ ไม่ได้เพิ่มพนักงาน แต่เป็นการเกลี่ย และดึงคนมาทำงานในส่วนการสนับสนุนงานขาย และการบริการลูกค้า โดยเปิดบริการทุกวันได้แม้คนไม่ได้เพิ่ม ด้วยการบริหารจัดการเวลา และพนักงานใหม่ เกลี่ยคนแบ่งเวลาเป็นกะ”

สื่อสาร สื่อสาร สื่อสาร

อย่างไรก็ตาม “ดนันท์” ยอมรับว่าการขับเคลื่อนผลักดันการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรในฐานะ “ผู้นำ” ต้องสื่อสาร และมีการทำความเข้าใจกับบุคลากรในองค์กรอย่างมาก และต่อเนื่องโดยต้องทำให้ทุกคนมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว

“การแข่งขันรุนแรงจริง ๆ เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องสู้ ข้อดีของคนไปรษณีย์ คือเป็นคนของเราเอง ไม่ใช่เอาต์ซอร์ซ จึงทำได้โดยการสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่การรีแบรนด์เพราะรีแบรนด์ใหม่ก็เหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้า และทรงผม ไม่ทำให้สู้ได้จริง ๆ แต่จะต้องเปลี่ยนถึงระดับนิสัยใจคอ”

ผนึกพาร์ตเนอร์โตด้วยกัน

เมื่อธุรกิจโลจิสติกส์ขับเคี่ยวแข่งขันกันรุนแรง ปณท จึงต้องกระจายความหลากหลายของธุรกิจ เพื่อให้การเติบโตมาจากหลายแหล่ง โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่จะมาช่วยเสริมกันได้

“แม้แต่รถขนส่งสินค้า เราก็ยังทำกับพาร์ตเนอร์ ฉะนั้นต้องคิดว่าอีโคซิสเต็มนี้โตคนเดียวไม่ได้ หน้าที่เราคือต้องคิดว่าทำอย่างไรจะบริการประชาชนให้ดีที่สุด นั่นคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ”

“ดนันท์” บอกด้วยว่า ปีหน้า ปณท จะพยายามเข้าไปเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (niche market) โดยโฟกัสไปยังการสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ส่งของขนาดใหญ่ ส่งของยาก ส่งของยุ่ง และส่งของเย็น ซึ่งแข่งด้านราคาน้อย

“มีการแยกเลเยอร์ของสินค้า เช่น ของมูลค่าสูงอย่างนาฬิกาเรือนละล้าน หรือทองคำ จะมีการคัดแยกไปบริการอีกแบบ หรือการขนส่งกระเป๋าสัมภาระที่เกิดจากการท่องเที่ยว จักรยาน หรือแม้แต่ผลไม้และต้นไม้ ต้องแยกบริการให้เหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลและความรู้เรื่องหีบห่อบรรจุภัณฑ์”

Next Step ปณท

“ดนันท์” บอกอีกว่า ในปีที่ผ่านมามีการปรับพอร์ตการลงทุน มุ่งไปที่เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะในอนาคต ไปรษณีย์ไทยจะไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ แต่จะต้องเป็น data company

“บริการของเราก่อให้เกิดข้อมูลมหาศาล เช่น รู้ว่าผู้ขายอยู่ไหนคนซื้ออยู่ไหน การผลิตอยู่ตรงไหน ของอะไรขายที่ไหน ตลาดอยู่ตรงไหน”

สำหรับเขา “ข้อมูล” ที่มีมูลค่ามหาศาลที่สุดของ ปณท คือ เครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจค้าปลีกด้วย

“postman network หรือบุรุษไปรษณีย์เหล่านี้ ไม่ใช่ไรเดอร์ แต่มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่คุ้นเคยของผู้คนในแต่ละพื้นที่ มีความเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในระดับหนึ่ง เป็นสิ่งที่สะสมมาด้วยระยะเวลายาวนาน”

และในปีหน้าจะได้เห็นความเป็น data company มากขึ้น หลังจากได้ลงทุนไปกับการพัฒนาแกนกลางของระบบไปรษณีย์ไปแล้วกว่าพันล้านบาท เพื่อสร้าง end to end ที่อำนวยความสะดวกลูกค้าได้

“บุรุษไปรษณีย์จะรู้ว่าพื้นที่ไหนใครต้องการซื้ออะไร หรือรู้ว่ามีร้านค้าลับอยู่ตรงไหน เป็นข้อมูลที่มีค่า และสามารถนำมาปรับใช้ร่วมกับข้อมูลที่ได้จากระบบของ Thailand Postmart ได้ โดยพัฒนาเป็นโซลูชั่นการขนส่งหรือการขายให้ธุรกิจค้าปลีกได้ และด้วยเครือข่ายบุรุษไปรษณีย์นี่ล่ะที่นำสินค้าจากร้านค้าปลีกไปขายให้ผู้คนในพื้นที่ที่รู้ว่ามีคนต้องการสินค้านั้น ๆ”