ซีอีโอ “เอไอเอส” ปักธง “ไอโอที” ขับเคลื่อนธุรกิจ-เศรษฐกิจโลกยุคใหม่

สัมภาษณ์พิเศษ

3 ปีกว่าในตำแหน่ง “ซีอีโอ” ค่ายมือถืออันดับหนึ่งของไทย “สมชัย เลิศวิสุทธิวงค์” ประกาศวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนองค์กรไปยังผู้ให้บริการดิจิทัล พร้อมกับความพยายามในการเปลี่ยนผ่านองค์กรรับมือความท้าทายรอบด้านจากเทคโนโลยี “ดิสรัปชั่น” และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่รักษาความเป็นผู้นำในสมรภูมิธุรกิจ แต่เพราะตระหนักว่าในฐานะองค์กรเทคโนโลยีต้องมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและพร้อมส่งเสริมสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ซีอีโอ เอไอเอส ดังนี้

Q : ทิศทางเอไอเอสปี 2561

ปีที่แล้ว เอไอเอสเติบโตเทียบเท่าอุตสาหกรรมที่ 3-4% ปีนี้ตั้งเป้าว่าต้องเติบโต 5-6% เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เพราะมีคอนเทนต์ใหม่ ๆ จาก HBO, Netflix, ViU ตอนนี้ได้ CNN มาเพิ่มอีก และมีเอไอเอสไฟเบอร์ที่ขยายพื้นที่บริการไปแล้ว 50 จังหวัด ปีนี้ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะไปกี่จังหวัด แต่จะดูว่าที่ไหนหนาแน่นก็ไป สิ่งสำคัญมาก ๆ คือ เราเป็นที่ 1 ใน mobile operator แต่ปีนี้อยากเป็น FMC คือ ฟิกซ์โมบาย และคอนเวอร์เจนซ์ ที่จะนำทั้ง 3 ส่วนไปหาลูกค้าจึงตั้งเป้าให้พนักงานปรับตัว จากเดิมที่เก่งเรื่องโมบาย ต้องมาทำธุรกิจด้านฟิกซ์บรอดแบนด์และคอนเทนต์

Advertisment

เหนืออื่นใด คือการทรานส์ฟอร์มคน ผมให้ความสำคัญกับคนมาก ทุกองค์กรหลังดิจิทัลเข้ามาดิสรัปต์หลายองค์กรตัดคนออก แต่ผมมองว่า คนเป็นเรื่องสำคัญ จึงไม่มีนโยบายลดคน แต่พนักงานต้องปรับปรุงตัวเพื่อให้อยู่ในองค์กรนี้ได้ ถ้าปรับไม่ได้ก็จะมีโปรแกรมจากกันด้วยดี และรับคนใหม่ ๆ มาเสริม เพราะเป็นธุรกิจเซอร์วิส แม้มีเอไอมาช่วย หรือในอนาคตมีโรโบติกแต่ท้ายสุดหัวใจในการบริการลูกค้า “คน” ยังสำคัญ

เรายังขยายธุรกิจใหม่เช่น ซื้อซีเอส ล็อกซอินโฟ ก็เพราะจะขยายตลาดไปยังลูกค้าองค์กร ตั้งเป้าว่าใน 3 ปี รายได้จากการองค์กรต้องมีสัดส่วน 25% ของรายได้รวมจากปัจจุบันอยู่ที่ 9%

Q : คนต้องเปลี่ยนอย่างไร

วัฒนธรรมองค์กรของเอไอเอสแข็งแรงมาก เป็นครอบครัว พี่ช่วยเหลือน้องมากว่า 20 ปี แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็ว เทคโนโลยีเปลี่ยน รวมทั้งพฤติกรรมลูกค้า โครงสร้างที่เป็นระบบมาก ๆ จะเปลี่ยนได้ช้า แม้ทำถูกแต่ช้าก็มีโอกาสแพ้

Advertisment

แม้เราเป็นผู้นำแต่ต้องอย่าคิดว่าเป็น “ผู้นำ” ต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ เริ่มมากว่า 2 ปีแล้ว เรียกว่า FIND U 1.มีหัวใจนักสู้ (Fighting spirit) 2.สร้างความต่างด้วยนวัตกรรม (I-innovation) 3.มีทักษะและความสามารถใหม่ (N-new ability) เช่น กำลังขยายฐานไปยังลูกค้าองค์กรที่เป็นไอซีที ไม่ใช่แค่เทเลคอม เข้าสู่ฟิกซ์บอร์ดแบนด์แม้เทคโนโลยีจะต่ำกว่าโมบาย แต่ทักษะการดูแลลูกค้าต้องเรียนรู้ใหม่ 4.รู้จักใช้บริการดิจิทัล (D-digital service) วันนี้เราให้พนักงานใช้สินค้าและบริการ ในราคาลด 50% และ 5.U-sense of urgency ต้องรวดเร็ว

Q : เป้าเติบโตปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วมาก

เราเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้นจากที่คิดว่าการใช้วอยซ์ลดลงรายได้จะตก แต่ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า วอยซ์ลดลงเเต่รายได้เดต้าเพิ่มขึ้นมากกว่า เพราะการใช้อินเทอร์เน็ตดูหนังฟังเพลง สตรีมมิ่ง ปีนี้จะยิ่งสูงขึ้น เพราะเทคโนโลยี NB-IOT หรือ internet of things เป็นอีกขั้นของอินเทอร์เน็ตจะเข้ามาใกล้ชิดผู้บริโภคมากขึ้น จะเกิดการใช้ดาต้ามากกว่าที่เคยใช้ เช่น มีอินเทอร์เน็ตในนาฬิกา, ทีวี, ตู้เย็น จากที่คนมีซิม 90 ล้านซิม อาจเพิ่มเป็น 900 ล้านซิม เพราะคนไม่ได้ใช้เเค่สมาร์ทโฟน 1-2 เครื่อง แต่จะมีอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมอินเทอร์เน็ตถึง 7 ชิ้น ดังนั้นการใช้งานเยอะ การเติบโตก็จะเยอะขึ้น เช่น รถ, การขนส่ง, ประปา, ไฟฟ้า ต่อไปมิเตอร์จะมีซิมเเละส่งการแจ้งเตือนไปหาผู้ใช้ลงไปถึงบ้านที่ตู้เย็นมีเซ็นเซอร์บอกว่า นมหมดเชื่อมกับออนไลน์ช็อปปิ้ง สั่งของผ่านตู้เย็นได้เลย เกิดเป็นอีโคซิสเต็ม และทำให้เกิดการใช้งานแบบใหม่ ๆ

Q : จะเกิดขึ้นจริงจังเมื่อไหร่

ตอนนี้ทุกดีไวซ์ต่ออินเทอร์เน็ตได้ เชื่อว่าปีนี้ในบ้านเราได้เห็นแน่ จีนเริ่มเอาไปเชื่อมต่อกับจักรยานทำให้เช่าได้ออนไลน์ จอดตรงไหนก็ได้ เป็นแชริ่งอีโคโนมี ในบ้านเรากำลังจะมา เพราะ 1.เน็ตเวิร์กพร้อมแล้ว ปีที่แล้วเราเปิดเน็ตเวิร์กไอโอทีที่เสถียร และดีที่สุด เพราะใช้คลื่นความถี่เฉพาะ และใช้งานได้จริง 2.ดีไวซ์พร้อม ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ประกาศว่าจะทำให้สินค้าต่ออินเทอร์เน็ตได้ และ 3.แอปพลิเคชั่น

เมื่อทั้ง 2 ส่วนพร้อมก็จะมีแอปพลิเคชั่นทำให้สมบูรณ์ ปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ IOT จะใช้แพร่หลายปี 2020 จนเป็นเรื่องสามัญเหมือนการใช้ไลน์ ซึ่งจะเปลี่ยนการใช้ชีวิตของคนแน่นอน แต่อยากฝากไว้ว่า เทคโนโลยีทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ถ้ารู้จักใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ อยากให้มองว่าเป็นโอกาส ไม่ใช่ทำลายของเก่า ถ้าปรับตัวทันจะได้ประโยชน์จากมัน

Q : เอไอเอสเตรียมตนเองไว้อย่างไร

1.ฮาร์ดเเวร์ คือ สินค้าเเละบริการต่าง ๆ จากที่มีเครือข่ายโมบาย และตอนนี้มีฟิกซ์ไลน์ด้วย และ 2.ดิจิทัลคอนเทนต์ และแอปพลิเคชั่น มี 5 แพลตฟอร์ม 1.วิดีโอแพลตฟอร์ม 2.โมบายมันนี่ 3.พาร์ตเนอร์แพลตฟอร์ม 4.คลาวด์คอมพิวติ้ง แพลตฟอร์ม และ5.ไอโอที แพลตฟอร์ม อีกส่วนเป็นซอฟต์เเวร์ คือ คน ผ่านวัฒนธรรม FIND U เพราะถ้าเปลี่ยนช้า เราจะแพ้

Q : รัฐบาลมีไทยแลนด์ 4.0

เราทำดิจิทัล ฟอร์ ไทย เพื่อผลักดันให้ใช้อินฟราสตรักเจอร์ของเราให้เกิดประโยชน์ เราประสานงานกับหลายกระทรวงทำแอปพลิเคชั่น เช่น อสม.ที่ให้อาสาของสาธารณะสุขมาใช้ช่วยลดเวลาในการทำงาน เป็นต้น เราจะทำค่าเรื่องการศึกษา, สาธารณสุข, การเกษตร และสตาร์ตอัพ

อยากให้ภาครัฐมองอินฟราสตรักเจอร์ของเอกชน เพราะรัฐบาลมีภาพชัดเจนในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะขับเคลื่อนได้ต้องมีอินฟราสตรักเจอร์ด้านดิจิทัลที่ครบถ้วน เชื่อว่าค่ายมือถือทุกรายลงทุนโครงสร้างดิจิทัลไปไม่น้อยแล้วนำมาช่วยได้ภาครัฐแทบไม่ต้องลงทุนเพิ่มสิ่งที่ต้องทำต่อคือ สนับสนุนเอกชนโดยใช้ประโยชน์จากโครงข่ายที่มี ไม่ควรลงทุนซ้ำซ้อน สร้างใหม่ต้องเสียเงินจึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาร่วมมือกันทำ