“บิตคอยน์” ฟื้นขึ้นจริง หรือแค่ปั่นกระแส

บิตคอยน์
ภาพจาก pixabay

Matrixport เผย 85% ของการซื้อ บิตคอยน์ มาจากผู้เล่น-นักลงทุนระดับสถาบันในสหรัฐอเมริกา ด้านนักเศรษฐศาสตร์เตือนมีความเสี่ยงและอันตรายจากนโยบายรัฐรออยู่ข้างหน้า

วันที่ 29 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ราคาบิตคอยน์ ได้เคลื่อนไหวยืนเหนือระดับ 23,000 เหรียญสหรัฐ หรือเป็นการเติบโตต่อเนื่องกว่า 30 วัน ดันมูลค่าตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในภาพรวมเติบโตอย่างคึกคึก ขณะที่มูลค่าตลาดยืนเหนือ 1ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์แล้ว

CoinTelegraph ได้อ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของนายมาร์คัส ทีเลน หัวหน้าฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ของบริษัทบริการทางการเงิน Matrixport ที่เปิดเผยว่า Matrixport สามารถแยกสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นว่าเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนรายย่อยหรือสถาบัน โดยขึ้นอยู่กับว่าสินทรัพย์นั้นทำงานได้ดีในสหรัฐอเมริกาหรือในเอเชีย จากชั่วโมงการซื้อขาย ในช่วงเวลาใดก็ตาม

รายงานระบุว่าหากสินทรัพย์ที่ซื้อขายตลอด 24 ชั่วโมง “ทำงานได้ดี” หรือ มีความเคลื่อนไหวสูง ในช่วงเวลาซื้อขายของสหรัฐฯ แสดงว่าสถาบันของสหรัฐฯ กำลังซื้อ ขณะที่สินทรัพย์ที่มีการเติบโตในช่วงเวลาซื้อขายของเอเชียบ่งชี้ว่านักลงทุนรายย่อยในเอเชียกำลังซื้อสินทรัพย์นั้น

รายงานอ้างว่า ราคาบิตคอยน์ที่เพิ่มขึ้น 40% ในปีนี้ มี 35% ของผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาซื้อขายของสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่าผลการซื้อขาย “85%” เกี่ยวข้องกับนักลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งบ่งชี้ว่าสถาบันในสหรัฐฯ เป็นผู้ซื้อบิตคอยน์ในขณะนี้

นายมาร์คัส ยังระบุอีกด้วยว่า หากใช้แนวโน้มจากอดีต นักลงทุนสถาบันมักจะเข้าซื้อบิตคอยน์ก่อนที่จะหันเหไปลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ โดยเฉพาะโครงการบล็อกเชนเลเยอร์ 1 อย่างอีเธอเรียม ซึ่งเขาคาดว่าจะเกิดความคึกคักในตลาดคริปโตภาพรวม

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ตลาดบางรายอย่าง นางสาวลินน์ อัลเดน นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ด้านคริปโตฯ ได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า การเพิ่มขึ้นของราคาบิตคอยน์และตลาดคริปโตในช่วงเดือนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นตามกระแสสภาพคล่องที่มีมากขึ้นหลังการล่มสลายของ FTX ซึ่งเป็นการเติบตามสินทรัพย์อื่นๆ เช่น น้ำมัน หรือตราสารทุน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในระยะสั้นๆ เท่านั้น เพราะในภาพรวมแล้วสินทรัพย์เสี่ยงยังต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และ ธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED เพื่อควบคุมสภาพคล่องและดอกเบี้ยนโยบายสู้กับเงินเฟ้อ ซึ่งนับว่าเป็น “อันตราย” ที่ออยู่เบื้องหน้าในครึ่งหลังของปี 2566