“ล็อกซเล่ย์” ขยับรับโลกเปลี่ยน แบ่ง 5 กลุ่มธุรกิจกระจายเสี่ยง

นับเป็นบริษัทที่บุกเบิกธุรกิจ information technology กลุ่มแรก ๆ ในประเทศไทย สำหรับบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งยืนหยัดในวงการธุรกิจไทยมากว่า 79 ปีแล้ว แทรกซึมไปแทบทุกอุตสาหกรรม ก่อนที่จะเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2559 โดยมี “สุรช ล่ำซำ” ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่

ล่าสุดประกาศจัดทัพใหม่อีกครั้ง หลังใช้โครงสร้างธุรกิจเดิมมากว่า 10 ปี เพื่อเป้าหมายที่จะโฟกัสธุรกิจให้ชัดเจน และเพื่อให้เกิดการแชร์ใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจ

“สุรช ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า digital disruption ในแง่เทคโนโลยีมีผลกระทบแน่นอนกับทุกธุรกิจ ที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือให้ได้ โดยเฉพาะในองค์กรธุรกิจที่มี core business ที่โฟกัสกลุ่ม end user จะได้รับผลกระทบมาก แต่ในส่วนของล็อกซเล่ย์ ไม่มี end user โดยตรง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่คือกลุ่มภาครัฐ และสถาบันการเงินจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก บริษัทจึงมุ่งไปที่การปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการธุรกิจ อาทิ โลจิสติกส์ หรือพัฒนาช่องทางขายให้พนักงาน

แต่ที่สำคัญคือต้องพัฒนาให้มีเทคโนโลยีใหม่ทุกอย่างที่ลูกค้าอยากมีใช้ ต้องซัพพอร์ตได้หมด เพราะมีเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทที่ปรับเปลี่ยนเข้ากับเทคโนโลยีไปได้เรื่อย ๆ และในทางกลับกัน แม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ดึงดูดให้เกิดการลงทุนเพิ่ม แต่เทคโนโลยีเดิมที่แต่ละองค์กรมีอยู่ยังต้องบำรุงรักษา และมีการอัพเดตให้ใช้ได้เสมอ

เป็นอีกปัจจัยให้รายได้ของกลุ่ม IT เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับการเกาะติดเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับให้บริการองค์กร ตามเทรนด์โลก อาทิ อีเพย์เมนต์เกตเวย์ ที่ภาคธุรกิจกำลังให้ความสำคัญ ส่วนเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าก็ให้ความสำคัญ โดยเข้าไปจับมือกับ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศจีน ที่มีนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกถือหุ้นอยู่ อาทิ วอร์เรน บัฟเฟตต์ และได้มีการตั้งบริษัทร่วมทุนในไทยแล้วคือ LBYD และร่วมกับกองทุนสิงคโปร์ “TIH” ตั้งบริษัท “K2 เวนเจอร์ แคปปิตอล” เป็น Venture Capital : VC เฟ้นหา สตาร์ตอัพที่น่าสนใจ เปิดช่องให้ได้ผลลัพธ์ทั้งในแง่การลงทุน และการได้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาต่อยอดได้ โดยลงเงินใน K2 ไปแล้ว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และ K2 ลงทุนไปแล้วใน 2 บริษัท คือ “มันนี่ เทเบิล” (Money Table) เป็นผู้ให้บริการ P2P (peer-to-peer lending)

ตอนนี้กำลังรอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย กับ “UANGTEMAN” สตาร์ตอัพ P2P จากอินโดนีเซีย ซึ่งธุรกิจ P2P เป็นรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจ เป็นการปล่อยกู้โดยจับคู่ระหว่างคนที่ต้องการเงินกู้กับต้องการปล่อยเงินกู้ สำหรับธุรกิจโมบาย ซึ่งเป็น MVNO กับ บมจ.ทีโอที ตั้งแต่ปลายปี 2553 และให้บริการแบรนด์ i-Kool ปัจจุบันมีลูกค้าราว 1 หมื่นราย มีรายได้เฉลี่ย/เลขหมาย/เดือน ราว 170 บาท

“แต่ละปีขาดทุนหลักล้านกว่าบาท ไม่เยอะมาก ใช้พนักงาน 2 คน ดูแลลูกค้า ถ้าโครงข่ายทีโอทีแข็งแรงขึ้นจากการเป็นพันธมิตรกับเอไอเอสก็จะยังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ”

“เฉลิมโชค ล่ำซำ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทเดียวกัน เสริมว่ามีแผนนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น บริษัท ล็อกซเล่ย์ เพาเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับสายส่งไฟฟ้ากำลัง และสายสัญญาณสื่อสาร และบริษัท ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส ซิสเต็ม อินทิเกรเตอร์ จำกัด ซึ่งให้บริการรับเหมาติดตั้งงานสื่อสารโทรคมนาคม

สำหรับโครงสร้างใหม่ของบริษัทแบ่งเป็น 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.network solutions กลุ่มงานโครงการขนาดใหญ่ มีสัดส่วนรายได้มากสุด 26% หรือ 4,000 ล้านบาท 2.information technology มีรายได้ 21% หรือ 3,000-3,200 ล้านบาท 3.energy มีสัดส่วนรายได้ 11% หรือ 1,200-1,500 ล้านบาท โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้เติบโตปีละ 12-15% และกลุ่มที่ 4.food service & distribution มีสัดส่วนรายได้ 23% หรือ 3,200 ล้านบาท เติบโตปีละ 15-20% และ 5.services อาทิ ระบบรักษาความปลอดภัย การจัดการในอสังหาริมทรัพย์ มีรายได้ราว 12% ของรายได้รวมที่ 1,600 ล้านบาท เติบโต 25-30%

“2 กลุ่มหลังเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตของรายได้สูง และเป็นกลุ่มที่ล็อกซเล่ย์จะเร่งผลักดันให้เติบโตขึ้นไปอีก เพื่อสร้างสมดุลของรายได้ให้มั่นคงขึ้น เนื่องจากเดิมรายได้ 70% มาจากโครงการภาครัฐ จึงตั้งเป้าให้ภายใน 5 ปี รายได้จากกลุ่มธุรกิจอาหารและบริการจะโตจนรายได้จากโครงการภาครัฐ มีสัดส่วนแค่ 40%”