“สุวิทย์” ย้ำมหาวิทยาลัยอย่าสักแต่สอน นศ.อย่าสักแต่เรียน เร่งสร้าง Passion ปั้นงานวิจัยพาไทยก้าวสู่ยุค 4.0

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2561ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ได้จัดงาน “University Expo 2018” มหกรรมอุดมศึกษา พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 เพื่อแสดงผลงานวัตกรรม 5 กลุ่มงานที่สำคัญ จาก160 สถาบันอุดมศึกษาภายใต้เครือข่าย ได้แก่ นวัตกรรม Agriculture & Food ศูนย์นวัตกรรมเกษตรและอาหาร Ageing Society  ศูนย์นวัตกรรมสังคมสูงอายุ Smart City  ศูนย์รวมนวัตกรรมด้านเมืองอัจฉริยะ Bionergy ศูนย์รวมนวัตกรรมด้านพลังงานชีวภาพ และ Creative Economy  ศูนย์รวมนวัตกรรมด้านสินค้าหรือการบริการสร้างสรรค์

โดยมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การปฏิรูปการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเพื่อไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ของประเทศไทย”

นายสุวิทย์ กล่าวว่า  บรรดามหาวิทยาลัยจะเป็นแถวหน้าที่สำคัญในการพาประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ปัจจุบันงานวิจัยของประเทศ 80 – 90% อยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความท้าทายที่สำคัญคือการตั้งโจทย์วิจัยนวัตกรรมให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ล้วนมีผลให้อายุของเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และธุรกิจสั้นลงเรื่อยๆ

ดังนั้นต้องมีความชัดเจนว่า วิจัยเพื่ออะไร ต้องมีการต่อยอดนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ สู่แพลตฟอร์มใหม่ ที่จะแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง  โดยเป็นโจทย์การวิจัยที่คำนึงถึง “Thriving in balance” ที่จะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างสมดุลย์กับทั้งมนุษย์ สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และเทคโนโลยี

“ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเองก็สักแต่สอน นิสิตนักศึกษาเองก็สักแต่เรียน ไม่มี Passion  ซึ่งจะนำไปสู่ Deep Learning ในการสร้าง Deep technology Deep Science และหากเราไม่มีเทคโนโลยีไม่มีนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ที่เจาะลึก ก็เลิกฝันจะไปไทยแลนด์ 4.0”

ศาสตราจารย์ชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบั ง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดี แห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการใช้ความรู้ จากผลงานวิจัยและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยมาตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศ ทปอ.จึงได้วางแนวทางให้ แต่ละมหาวิทยาลัยเร่งนำผลงานที่เกิดจากการคิดค้นทั้งในแง่ของงานวิจัย การประดิษฐ์เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งระบบสารสนเทศต่างๆที่มี ความอัจฉริยะ มาร่วมต่อยอดและขยายผลให้เกิดการใช้งานได้จริง

ด้วยการสนับสนุนผ่านกลไกการสร้างศูนย์นวัตกรรม Innovation Hubs ที่ทำหน้าที่ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ นำความรู้ที่มีอยู่มาต่อยอดขยายผลให้เกิดการใช้งานได้ จริงทั้งในรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการนำผลงานวิจัยมาใช้ให้เกิดผลผลิตที่เป็นได้ทั้งสินค้า หรือการบริการ  ซึ่งจะมุ่งไปที่ นวัตกรรม Agriculture & Food Ageing Society Smart City Bionergy  และCreative Economy