จุดพลุสร้างระบบนิเวศ “IOT” เพิ่มโอกาสเมกเกอร์ไทยสู่เวทีโลก

อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ (Internet of Things-IOT) กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในชีวิตประจำวัน และโลกธุรกิจ เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามาอยู่ในทุกสรรพสิ่ง โดยบริษัทวิจัย IDC ได้คาดการณ์ว่า ในปีนี้การลงทุนด้าน IOT ทั่วโลกจะสูงถึง 772,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน ทั้งยังคาดอีกว่า ภายในปี 2563 จะมีการลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในประเทศไทยเองมีการประเมินว่าภายในปี 2564 เทคโนโลยี 5G จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งาน IOT อย่างแพร่หลาย และกระตุ้นให้กว่าครึ่งของ 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลงทุนด้านโซลูชั่นการจัดการเชื่อมต่อ IOT ด้วยมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

ในงาน “Digital Intelligent Nation 2018” จัดโดย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ได้เปิดเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมฉายภาพเกี่ยวกับอนาคตของ IOT ในประเทศไทย

โดย “พรศักดิ์ หาญวรวงศ์ชัย” ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยี ของ “เอไอเอส” กล่าวว่า เอไอเอส มองว่า IOT เป็นธุรกิจใหม่ และมีส่วนสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งอีโคซิสเต็มเป็นสิ่งสำคัญ ต้องเริ่มตั้งแต่การหาอุปกรณ์ที่จะมาใช้งานไปจนถึงโซลูชั่น ซึ่งแม้แต่ในฝั่งยุโรปก็ยังไม่มีใช้แพร่หลาย ดังนั้นนักพัฒนาจึงมีความสำคัญที่จะนำ IOT มาให้คนได้ใช้งาน และ “ต้นน้ำ” คือเมกเกอร์, ผู้พัฒนาอุปกรณ์รวมถึงพาร์ตเนอร์ ผู้ผลิตชิปเซต โดยเอไอเอสเปิดเน็ตเวิร์กให้มีการทดสอบการใช้งานแล้ว

AI-Machine Learning

ขณะที่ภาคการศึกษา “ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต” หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า ในระดับมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา IOT ในเครือข่ายที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยมีการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยกว่า 30 แห่ง ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ โดยเปิดกว้างให้เกิดความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมหรือสตาร์ตอัพเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มให้ได้มากที่สุด เพราะ IOT ไม่สามารถทำโดยลำพังได้ ต้องพึ่งพาอาศัยกัน

ในส่วน มอ. ใช้ “สมาร์ทซิตี้ภูเก็ต” นำร่อง โดยศึกษาวิจัยและลงทุนพัฒนาตั้งแต่ดีไวซ์ การเชื่อมต่อ การสร้างเกตเวย์ และใช้คลาวด์เข้ามาบริหารจัดการขณะที่การพัฒนา IOT ระดับโลก อยู่ในยุคของการประยุกต์ใช้ IOT โดยใช้ Data Analytics และปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึง Machine Learning มาวิเคราะห์ประมวลผลแทนคน

“ต้องโฟกัสทั้ง Data Analytics, AI, Machine Learning เช่น นำเข้ามาใช้กับกล้อง CCTV เพื่อตรวจจับแบบเรียลไทม์ ค้นหาป้ายทะเบียน ใบหน้า บุคคล หรือสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเกิด edge computing การประมวลผลและสั่งงานที่ตัวอุปกรณ์ทันที ช่วยลดการใช้แบนด์วิดท์ ทำให้การประมวลผลและสั่งงานเร็วขึ้น”

โอกาสใหม่เมกเกอร์

“ภาณุทัต เตชะเสน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมกเกอร์เอเชีย จำกัด หรือหมอจิมมี่ ระบุว่า ทุกครั้งที่มีแพลตฟอร์มใหม่ คือโอกาส และ IOT เป็นหนึ่งในโอกาสใหม่ คาดว่าดีไวซ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจะมีมากกว่า 5 หมื่นล้านชิ้น ดังนั้นตลาดต้องการทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มหาศาล จุดนี้เป็นโอกาสของบรรดาเมกเกอร์หรือนักพัฒนา

แต่สิ่งที่ยังขาดคือ “คอมมิวนิเคชั่น แพลตฟอร์ม” ที่จะให้ IOT เชื่อมต่อสื่อสารกัน อาทิ เครือข่าย WiFi ถ้าคอมมิวนิเคชั่นพร้อมจะเปิดโอกาสครั้งใหญ่ที่จะก่อให้เกิดความต้องการของโซลูชั่นอีกมากมาย

“นี่คือโอกาสของเมกเกอร์ และเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ที่จะสร้างสินค้าใหม่ ๆ ไปขาย ความท้าทายคือ โลกทั้งโลกเชื่อมต่อกันหมด ไทยจะแบ่งส่วนแบ่งตลาดใน IOT โลกไหม”

อินโนเวชั่นสู่ตลาดโลก

“หมอจิมมี่” กล่าวต่อว่า การจะแข่งขันในตลาดโลกได้ สินค้าต้องมีนวัตกรรมมากพอ โดยส่วนตัวก่อนมาอยู่ในวงการฮาร์ดแวร์ เติบโตมาจากซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรมเกมมาก่อนจึงได้นำกระบวนการคิดที่ได้มาก่อตั้ง “เชียงใหม่เมกเกอร์คลับ”

“อุตสาหกรรมเกมถือว่าโหดสุดในวงการซอฟต์แวร์ และสิ่งที่ได้เรียนรู้คือไม่ใช่แค่ทำตามคำสั่ง แต่ต้องออกแบบเอง ต้องคิดเองว่าจะทำอะไรดี โดยให้ทำในสิ่งที่อยากทำ เพราะในตลาดฮาร์ดแวร์เราไม่รู้ได้ว่าควรทำอะไร ดังนั้นการได้ทดลองเล่นกับอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งนี้ทำงานอย่างไรและจะต่อยอดไปในเชิงธุรกิจได้อย่างไร และสิ่งที่อยากทำนั้น มีตลาดที่รองรับหรือไม่”

“paint point” สร้าง IOT

ด้านองค์กรยักษ์ใหญ่ “ชวลิต ตันศิริยากุล” ตัวแทนจาก บมจ.ปตท. กล่าวว่า บริษัทมีศูนย์วิจัยนวัตกรรม และเริ่มศึกษาการนำ IOT มาใช้ในองค์กร เพราะต้องการแก้ “paint point” ที่เป็นปัญหาในกระบวนการผลิตและธุรกิจที่มีการขยายตัวอย่างมาก อาทิ ในระบบท่อส่งก๊าซที่มีความสำคัญมาก

“วิศวกรต้องการ big data เข้ามาช่วยดูแลและหาข้อผิดพลาดให้เร็วที่สุด ในช่วงแรกที่นำ IOT มาใช้ เพราะทีมวิจัยมีไอเดียที่จะทำอุปกรณ์ในการส่งสัญญาณสำหรับแนวท่อส่งก๊าซ แต่เนื่องจากบางส่วนอยู่ในพื้นที่ป่าเขา จึงมีปัญหาเรื่องโครงข่าย จึงได้ร่วมมือกับเอไอเอสพัฒนาอุปกรณ์เพื่อพัฒนาให้มีการใช้พลังงานน้อยที่สุดและได้รับข้อมูลในระยะเวลาอันสั้น เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลบนคลาวด์ของ ปตท. ซึ่งหลังจากที่ใช้ IOT มาช่วย ทำให้คาดการณ์สถานการณ์ได้ล่วงหน้า และใช้เวลาแก้ไขเมื่อเกิดข้อผิดพลาดได้เร็วขึ้น จากที่ต้องใช้เวลาเป็นเดือน ก็เหลือแค่ 3 วัน”