หัวเว่ยทุ่มสุดตัว ขีดเส้นสิ้นปีขึ้นเบอร์ 2

หัวเว่ยเบิ้ลงบฯตลาดเท่าตัว สปีดช่องทางขาย-แบรนด์ช็อป ย้ำจุดยืนพรีเมี่ยมโปรดักต์ก่อนขยับสู่เครื่องระดับกลาง ชูกลยุทธ์ Mass Luxury ผสานนวัตกรรมใหม่พ่วงแวร์เอเบิล ปักธงสิ้นปีขยับแชร์ขึ้นเบอร์ 2 ในแง่ยูนิต ก่อนก้าวขึ้นเบอร์ 1 ภายใน 3 ปี

นายทศพร นิษฐานนท์ รองผู้อำนวยการ บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ครึ่งปีหลังตลาดสมาร์ทโฟนของไทยยังคงแข่งขันกันรุนแรง ทั้งภายใน 5 แบรนด์ใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดดั้งเดิมที่รักษาส่วนแบ่งการตลาดของตัวเองอย่าง เหนียวแน่น และแบรนด์ใหม่ที่พยายามจะเข้ามาทำตลาดไทย ด้วยปัจจัยกำลังซื้อที่ยังคงเติบโต โดยแต่ละเดือนตลาดรวมมียอดขายราว 1.3-1.4 ล้านเครื่อง ราคาเฉลี่ยราว 7,000 บาทต่อเครื่องขยับขึ้นเล็กน้อย

“คน ยังจับจ่ายอยู่ จำนวนเครื่องต่อเดือนยังใกล้เคียง แต่ราคาต่อเครื่องดีขึ้น แนวโน้มตลาดเห็นได้ชัดว่า ผู้บริโภคขยับจากกลุ่มราคาต่ำกว่า 5,000 บาท มาสู่กลุ่มราคา 5,000-15,000 บาท โดยมีราว 40% แต่เชื่อว่ายากที่แบรนด์ใหม่ จะเข้าตลาด เพราะแบรนด์หลักทุ่มทั้งฟีเจอร์ ราคา และงบฯการตลาด”

ขณะที่หัวเว่ยโตกว่าตลาดทั้งในโกลบอลและตลาดไทย ปีที่แล้วมีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลก 11.9% ยอดขาย 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 139 ล้านเครื่อง ซึ่งในแง่ของรายได้โต 36% จำนวนเครื่องเพิ่ม 29% ส่วนในไทย รายได้โตขึ้น 3 เท่า มาร์เก็ตแชร์ขยับมาที่ระดับ 2 ดิจิต ใกล้เคียงกับตลาดโลก 6 เดือนที่ผ่านมายอดยังตามเป้า

“ปีที่แล้ว มาร์เก็ตแชร์อยู่อันดับ 4 แต่ ม.ค.-ก.พ. ขึ้นมาอยู่อันดับ 2 หลังจากนั้นในแง่ยูนิตก็อยู่ในอันดับ 2 ถึง 4 สลับกันไปมา สิ้นปีนี้ตั้งเป้ารายได้เพิ่ม 3 เท่าตัว ขยับเป็นเบอร์ 2 ในตลาดในแง่ของยูนิต และเป็น Top 3 ในแง่ของมูลค่า เพื่อให้ก้าวไปตามเป้าที่วางไว้ว่าจะเป็นเบอร์ 1 ในตลาดภายใน 3 ปี”

ปี ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ดึงบุคลากรด้านการตลาดเข้ามามาก พร้อมเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายจากต้นปี 2560 มีราว 500 แห่ง ปัจจุบันมีอยู่ 9 พันแห่ง และสิ้นปีนี้จะมีกว่า 1 หมื่นแห่ง ครอบคลุมทั้งค้าปลีก โมเดิร์นเทรด รวมถึงเพิ่มแบรนด์ช็อปจาก 13 แห่งเมื่อต้นปี เป็น 38 แห่งในปัจจุบัน และเป็น 60 แห่ง ณ สิ้นปี

“แต่ศูนย์บริการ 14 แห่ง น่าจะครอบคลุมเพราะได้เปลี่ยนให้ลูกค้าโทร.เข้าคอลเซ็นเตอร์เพื่อให้พนักงาน ไปรับถึงบ้านแทน โดยจะใช้เวลาซ่อม 3 วัน สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และ 5 วันสำหรับต่างจังหวัด ขณะที่รุ่นพรีเมี่ยมจะมีไดมอนด์เซอร์วิส ซ่อมด่วนใน1 ชั่วโมง ถ้าไม่เสร็จก็จะเปลี่ยนเครื่องให้เลย และขยายเวลารับประกันเป็น 2 ปี”

ทั้งยังใช้กลยุทธ์จับมือกับพาร์ตเนอร์กับพรีเมี่ยมแบรนด์ เพื่อสร้างนวัตกรรมร่วมกัน อาทิ การจัดมือกับ “ไลก้า” ผลิตรุ่น P9 ที่มีจุดเด่นเรื่องกล้อง และหลังจากนี้ก็จะเห็นการจับมือสร้างผลิตภัณฑ์ร่วมกัน และสิทธิพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฮม IoT (อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์)

“แต่ละปีหัวเว่ยใช้งบฯวิจัยและพัฒนา 10% ของรายได้ จึงมีนวัตกรรมในมือจำนวนมาก ทั้งยังผลิตชิปเซตได้เอง ครึ่งปีหลังจะเห็นการนำนวัตกรรมมาสร้างฟีเจอร์การใช้งานใหม่ ๆ ทั้ง IoT Big VDO AI นอกเหนือจากแข่งกันที่กล้อง หน้าจอ แบตเตอรี่ ซีพียู ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ผู้ใช้จับต้องง่าย ยังจะขยายมาที่กลุ่มเครื่องราคาระดับกลางมากขึ้นตามเทรนด์ตลาด โดยจะใช้กลยุทธ์ Mass Luxury ทำโปรดักต์ที่มีพรีเมี่ยมฟังก์ชั่น มาขายในราคาที่คนเอื้อมถึงได้ง่ายขึ้น โดยกลยุทธ์ผ่อน 0% การจับมือกับโอเปอเรเตอร์เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น มีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจขึ้น โดยเตรียมเปิดตัวอีก 5 รุ่น”

รวมถึงนำ ผลิตภัณฑ์ประเภทแวร์เอเบิลมาทำตลาดไทยมากขึ้น โดยผสมผสานทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เพย์เมนต์ เจาะทั้งกลุ่มไลฟ์สไตล์ สุขภาพและกีฬา ซึ่งหัวเว่ยเข้ามาในช่วงที่เป็นบลูโอเชี่ยน ตลาดโตสูง จึงเปิดตัวสเป็กสูงได้เลยทั้งยังเพิ่มงบประมาณด้านการตลาดอีกเท่าตัว โดยจะเน้นทั้งการดูแลลูกค้า CRM เพื่อให้ลูกค้าถือแล้วภูมิใจ ใช้แล้วเกิดประโยชน์มากที่สุด

“ปัญหาความเข้าใจผิดเรื่องสเป็กจะมีรายงาน สคบ. ออกมาเร็ว ๆ นี้ ซึ่งน่าจะยืนยันได้ว่าเป็นความเข้าใจผิด”