เสียงจากโซเชียลฯ บางกอกไพรด์ 2023 สร้างความหวัง “สมรสเท่าเทียม”

ไวซ์ไซท์เผยช่วงการฉลอง Pride Month ปีที่ 2 ในไทย มีการพูดถึงบนโซเชียลมีเดีย 38,547 ข้อความ เอ็นเกจเมนต์มากกว่า 26,993,306 เอ็นเกจเมนต์ พร้อมจุดความหวังกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” ให้กลับมาอีกครั้ง

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการเครื่องมือและการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการพูดถึงเรื่องราวของเดือนแห่งความหลากหลาย (Pride Month) รวมถึงงานบางกอกไพรด์ 2023 ที่ถูกจัดขึ้นในเดือนนี้เช่นกัน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1-11 มิถุนายน 2566 ผ่านเครื่องมือ Social Listening อย่าง ZOCIAL EYE

ข้อค้นพบ คือ การพูดถึงเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและความหลากหลายนั้น บนโซเชียลมีมากกว่า 38,547 ข้อความ และเพียงไม่กี่วันมีจำนวนเอ็นเกจเมนต์มากกว่า 26,993,306 เอ็นเกจเมนต์ ถือว่าได้รับความสนใจและถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นบนโซเชียลมีเดีย 

อีกทั้งข้อความส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบน Facebook มากที่สุด (39%) ตามมาด้วย Twitter (35%) Instagram (19%) และอื่น ๆ (7%) ส่วนใหญ่เป็นการโพสต์รูปภาพงานเดินขบวนพาเหรดผ่านแฮชแท็ก #BangkokPride2023 และ #บางกอกไพรด์2023

ทั้งจากเหล่าคนดัง ดารา นักร้อง นักแสดงต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีกระแสของการพูดถึง #สมรสเท่าเทียม ที่ถูกพูดถึงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จากการที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ซึ่งผลักดันเรื่องการสมรสเท่าเทียม ก็มาร่วมเดินขบวนพาเหรดและมีการพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง ยิ่งทำให้มีกระแสการพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น สร้างการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

นอกจากนี้ สิ่งที่จะถูกพูดถึงหรือจับตามองคือเรื่องของการสร้างสรรค์ความคิดในเรื่องของการแต่งตัว การรังสรรค์ชุดต่าง ๆ ในการมาร่วมเดินขบวนพาเหรด ทั้งยังรวมไปถึงคำพูด หรือคำคมต่าง ๆ ที่แสดงในขบวน ซึ่งในปีนี้ก็ยังคงมีเรื่องของความสร้างสรรค์ต่าง ๆ มาให้เราได้เห็นจนเป็นกระแสในหลาย ๆ โพสต์บนโซเชียลมีเดีย

อย่างที่เด่น ๆ จนไม่พูดถึงไม่ได้คือเสื้อของนายพิธา ที่ใส่มาร่วมเดินขบวน ที่ชาวโซเชียลต่างแคปเจอร์แล้วนำมาโพสต์ถึงความสวยงามของเสื้อ หรืออีกหนึ่งคนอย่างนางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ รังสรรค์มาในชุด Amy Winehouse นักร้องดังระดับตำนานจนคนบนโซเชียลต่างชื่นชม

การพูดถึงนั้นไม่ถูกพูดถึงแค่กับคนเท่านั้น ยังถูกพูดถึงไปยังสัตว์เลี้ยงที่มาร่วมงานบางกอกไพรด์ครั้งนี้ อย่างไวรัลที่เราได้เห็นกัน หญิงโม สุนัขพันธุ์ชิวาว่าที่เกิดไวรัลจากการที่ นายศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย อุ้มสุนัขดังกล่าว ถ่ายรูป และสุนัขนั้น ทำตาหวานจนทำให้คนบนโซเชียลพูดถึงและเกิดเป็นไวรัล สะท้อนให้เห็นถึงความเปิดกว้างที่ไม่ใช่เฉพาะแค่กับมนุษย์ ยังเปิดกว้างไปถึงสัตว์เลี้ยงด้วย

นอกจากนี้ ผู้วิเคราะห์ข้อมูลของไวซ์ไซท์ ระบุด้วยว่า หลังจากที่สภารับหลักการสมรสเท่าเทียมในวาระหนึ่งไปแล้วเมื่อ 15 มิถุนายน 2565 จนเกิดเป็นการพูดถึงและจับตามองเป็นอย่างมากเมื่อปีที่ผ่านมา และยังมีการพูดถึงและจับตามองเรื่อยมา ในปีนี้สมรสเท่าเทียมกลับมามีความหวังอีกครั้งจากที่มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ และมีการเปลี่ยนชุดสภาบวกกับการยืนยันจากเสียงของพรรคที่มีเสียงข้างมากจากประชาชนว่าจะผลักดันสมรสเท่าเทียมแน่นอน ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จของการเรียกร้องความเท่าเทียมที่แท้จริง