ก้าวสู่ยุค AI อาวุธมัดใจลูกค้า KBTG ส่ง “เกด” เสริมบริการดิจิทัล

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) กลายเป็นอาวุธสำคัญในธุรกิจยุคต่อไป จึงได้เห็นการเปิดตัว AI เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นแต่ในประเทศไทย ที่ล่าสุด KBTG “กสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป” ได้เผยโฉมของ “เกด” (KADE : K PLUS AI-Driven Experience) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการให้บริการในยุคดิจิทัลของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งปัจจุบันมีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลกว่า 80% ภายใต้แนวคิด “from digital to intelligence”

“สมคิด จิรานันตรัตน์” ประธาน KBTG เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจยุคนี้อยู่รอดคือ “ต้องยึดพื้นที่ในใจของลูกค้าให้ได้” ดังนั้นการจะรู้จักรู้ใจลูกค้าให้มากขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีที่จะมารองรับ ซึ่งในแต่ละปีธนาคารกสิกรไทยใช้งบประมาณในการพัฒนาและดูแลด้านไอทีทั้งหมดปีละ 5,000 ล้านบาท

ทั้งเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาทิ แพลตฟอร์ม machine lending ที่ใช้ AI วิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อที่เหมาะสม ซึ่งลูกค้าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 นาที สำหรับการยื่นขอกู้วงเงิน 30,000-500,000 บาท โดยลูกค้าจะได้รับเงินภายในไม่เกิน 1 นาที และ machine commerce แพลตฟอร์มที่ใช้ AI ในการหาผู้ที่มีโอกาสจะซื้อสินค้า ซึ่งเริ่มใช้แล้วกับพนักงานของกสิกรฯกว่า 20,000 คน การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการทำหนังสือค้ำประกันบนบล็อกเชนครั้งแรกของโลก และพัฒนาโมบายแบงก์แอปพลิเคชั่นสำหรับผู้พิการทางสายตา อย่าง K PLUS Beacon

“เราให้บริการ machine lending ที่ให้ AI เข้ามาช่วย อย่างการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อที่เริ่มตั้งแต่ พ.ย.ที่ผ่านมา มีการตอบรับเพิ่มขึ้น 300% เมื่อเทียบกับวิธีการเดิม ซึ่งกำลังเตรียมขยายไปให้บริการในกลุ่มธุรกิจด้วย ส่วน machine commerce ก็สามารถขายสินค้าหมดภายใน 50 นาที เมื่อส่งข้อมูลเจาะไปถึงลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งเตรียมจะเปิดใช้เป็นทางการภายในปีนี้ โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นอีมาร์เก็ตเพลซ และอีคอมเมิร์ซ เชื่อม API ข้อมูลกับผู้ขาย เพื่อช่วยหาผู้ซื้อใน K plus”

รวมถึงการให้ความสำคัญกับจำนวนนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist) ในองค์กรที่ปัจจุบันมีกว่า 40 คน และจะเพิ่มเป็น 100 คนภายในปีนี้

Advertisment

ล่าสุดได้พัฒนา “เกด” ประกอบด้วย machine intelligence กลไกอัจฉริยะที่ใช้ AI สร้างความฉลาดให้กับบริการต่าง ๆ ในแอปพลิเคชั่น K PLUSช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าในทุกด้านแบบรายบุคคล (segment of one) โดย “เกด” จะพร้อมใช้ภายในปีนี้

“เกดจะเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า เพื่อนำเสนอสินค้าเเละบริการให้ตรงใจที่สุด และคอยเตือนไม่ให้ลูกค้าลืมทำธุรกรรมที่จำเป็น เกดจะมาเปลี่ยนโฉมหน้าของ K PLUS ให้เป็น K PLUS Intelligence Platform”

โดย “เกด” จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธนาคารนำเสนอบริการในรูปแบบที่ตรงใจ และหลากหลายเป็นรายคน (segment of one) ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าแต่ละคนได้

สำหรับแอปพลิเคชั่น K PLUS บริษัทตั้งเป้าจะพัฒนาให้เป็นดิจิทัลแบงกิ้งเต็มรูปแบบภายใน 3 ปี ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 8 ล้านคน ตั้งเป้าสิ้นปีมีผู้ใช้เพิ่มเป็น 10 ล้านคน และขยับเป็น 20 ล้านคนภายใน 5 ปี

Advertisment

“คนและสาขาของแบงก์ยังจำเป็น ซึ่งกสิกรฯจะให้ความสำคัญกับการทำงานแบบคู่ขนานระหว่างการให้บริการแบบเดิมกับดิจิทัล โดยในปีนี้จะมีการเปิดตัวอาคาร K plus ซึ่งเป็นอาคารที่ให้บริการการทำธุกรรมทางการเงินแก่ลูกค้าธนาคารกสิกรไทยในรูปแบบ digital platform ด้วย”

ขณะที่บริการด้านการเงินในไทยมีความก้าวหน้ามาแล้วระดับหนึ่ง ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลกว่า 80% ของธุรกรรมทั้งหมด แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการธนาคาร (unbanked) เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการรูปแบบเดิม ๆ จึงต้องการนำเทคโนโลยีและความรู้ที่มีอยู่มาสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่ม unbanked เพื่อให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งชีวิตส่วนตัวและด้านธุรกิจ