เบรกอุ้มทีวีดิจิทัล-2 ค่ายมือถือ “บิ๊กตู่” หวั่นสร้างบรรทัดฐานใหม่

บิ๊กตู่แตะเบรก ยังไม่ใช้ ม.44 ช่วยเหลือ “ทีวีดิจิทัล-ยืดจ่ายค่าประมูลคลื่นค่ายมือถือ” สั่ง กสทช.แจงรายละเอียดเพิ่ม หลังเสียงค้านเอื้อประโยชน์เอกชน ก่อนส่งเข้าที่ประชุมใหม่สัปดาห์หน้า ฟาก “ทรู” ระบุแค่ช่วยกระแสเงินสด-ลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ย้ำไม่ได้เอื้อให้บริษัทมีกำไร

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่มีมติที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ด้วยการยืดระยะเวลาในการชำระเงินค่าประมูลช่อง รวมถึงสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย 50% เป็นเวลา 2 ปี และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ให้ขยายงวดจ่ายเงินประมูลก้อนสุดท้ายที่ครบกำหนดในปี 2562 มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาทออกเป็น 5 งวดเท่า ๆ กัน ในระยะเวลา 5 ปี

“หลายหน่วยงานส่งข้อสังเกตทักท้วงเข้ามา อาทิ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ท้วงมาว่า ไม่ควรขยายเวลาให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพราะอาจเป็นการเอื้อประโยชน์บางราย ที่ประชุมจึงมอบหมายให้คณะทำงานที่มีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานคณะทำงานดังกล่าวไปพิจารณาและจัดทำเอกสารชี้แจงรายละเอียดมา และตอบคำถามประชาชนหรือทุกฝ่ายที่มีข้อสงสัยแล้วนำเสนอเรื่องกลับเข้ามาอีกครั้งสัปดาห์หน้า ซึ่ง กสทช.พยายามชี้แจงให้ข้อมูลที่ดีที่สุด”

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเน้นย้ำว่าขอให้ กสทช.ยึดถือประโยชน์ของรัฐและประชาชนให้มากที่สุด ยืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชน แต่เป็นเพียงการช่วยเหลือขณะที่รัฐยังคงได้ประโยชน์ ส่วนรายละเอียดอย่างไรนั้นขอให้ถามจากนายวิษณุเอง ซึ่งนายวิษณุจะมีการเรียกประชุมคณะทำงานดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้

แหล่งข่าวจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คงต้องสอบถามรายละเอียดจากทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ชัดเจนก่อนว่าที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขัดข้องในประเด็นใดที่ต้องการให้มีการชี้แจงเพิ่มเติม รวมถึงมีมุมมองกับประเด็นดังกล่าวอย่างไร จากนั้นจะนำข้อสรุปเข้าที่ประชุมบริษัทเพื่อเตรียมการชี้แจงให้ตรงประเด็นต่อไป

“ที่พูดถึงการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการที่ยังมีกำไรอยู่ เป็นการมองแค่มุมมองเดียวว่าใครได้ใครเสีย ณ ตอนนี้ ไม่ได้มองไปที่ภาพรวมในระยะยาวว่าประเทศกำลังพัฒนา และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยจะช่วยซัพพอร์ตได้อย่างไร แม้ว่าจะมีปัญหาทั้งราคาคลื่นที่แพงจากเหตุมีผู้ปั่นราคา และมีอุปสรรคเทียมจากการสร้างกฎเกณฑ์ของรัฐ อาทิ การกำหนดเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตว่า ใช้เทคโนโลยีใหม่มาให้บริการต้องมีค่าบริการที่ถูกลง ซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก ขณะที่สถานการณ์ในปัจจุบันไม่ใช่แค่บริษัทต้องแข่งขันกับบรรดาโอเปอเรเตอร์ด้วยกัน แต่ยังต้องแข่งขันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนในการพัฒนาประเทศด้วย และทั้งหมดต้องใช้เงินทุน”

ดังนั้นมาตรการที่ช่วยเหลือข้างต้น ไม่ได้มีผลต่อกำไรหรือผลขาดทุนของบริษัทอยู่แล้ว เพราะเงินค่าประมูลในทางบัญชีได้ถูกบันทึกเป็นค่าเสื่อมราคาของไลเซนส์ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว แต่จะมีผลอย่างมากต่อกระแสเงินสดของบริษัทที่จะนำไปใช้ลงทุนโครงข่ายและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดบริการใหม่ ๆ ซึ่งมีประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจโดยตรง แต่ถ้าจะให้บริษัทลงทุนไปเท่ากับเงินที่มี แค่ให้พอให้บริการได้ ถามว่าประเทศจะไปแข่งขันกับใครได้ เช่น เรื่อง IOT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) และ 5G ที่กำลังจะมา รวมถึงการเปิดประมูลคลื่นครั้งใหม่ด้วย

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า กลุ่มทรูมีทั้งฝั่งโทรคมนาคม และทีวีดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์มาตลอด ในส่วนของทีวีดิจิทัลจ่ายตรงกำหนดทุกครั้ง และไม่เคยใช้สิทธิ์ขอขยายเวลาจ่ายเงินประมูล แม้จะมีคำสั่ง คสช.ที่ 76/2559 แต่เห็นว่ายังพอไปได้จึงไม่ได้จำเป็นต้องใช้สิทธิ์ แต่ในฝั่งโทรคมนาคมอยู่ในภาวะที่มีความจำเป็นจึงยื่นขอให้ คสช.พิจารณา

“เรายื่นขอไปเฉพาะในส่วนของเงินประมูล 900 MHz ส่วนการที่นำไปรวมพิจารณากับข้อเสนอฝั่งทีวีดิจิทัล ก็เป็นเรื่องที่ คสช.พิจารณาเอง ไม่ได้เกี่ยวกับบริษัท”

หาก คสช.ไม่พิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือ บริษัทก็คงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงตามสัญญาเดิม ส่วนการพัฒนาโครงข่าย และการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้ง 5 จี และการรองรับไอโอทีคงต้องหารือกันอีกที อย่างไรก็ตามต้องดูความชัดเจนจาก คสช.อีกครั้ง และยังหวังว่า เพื่อประโยขน์ในการพัฒนาประเทศ คสช.น่าจะให้การสนับสนุน

บิ๊กตู่หวั่นปัญหาคลื่นมือถือ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า เรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ยังต้องหามาตรการที่เหมาะสม ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจใด ๆ ทั้งสิ้น ว่าจะดูแลกันอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม เบื้องต้นในเรื่องช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล รัฐบาลจะยึดถือคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเอามาเป็นบรรทัดฐานก่อน

“ผมให้ความสำคัญทั้งคู่ ทั้งเรื่องทีวีดิจิทัลและการประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคม แต่มีการเสนอมาตรการมาเยอะแยะไปหมด ดังนั้น ควรหรือไม่ที่รัฐบาลจะต้องมารับผิดชอบ ตอนนี้กำลังพิจารณาอยู่ ยังมีเวลา และยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะมีมาตรการอย่างไร หลายอันเป็นเรื่องของธุรกิจ หลายอันเป็นเรื่องการเยียวยา หลายอันเป็นเรื่องของความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการลงทุนด้วย ต้องดูตรงนี้ แก้ไขตรงนี้ให้ได้ว่าจะต้องแก้อย่างไร เพราะอนาคตยังมีการประมูลต่อไปอีก การประมูลคลื่นความถี่ก็ยังมีหลายคลื่นความถี่ ทำอย่างไรถึงจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้อีก บางอย่างเป็นเรื่องการทำงานในยุคนี้ ก็ต้องยุ่งยาก ถ้าปล่อยไปเรื่อยเปื่อยก็ไม่มีอะไร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว (หน้า 1, 9)