เปิดวิสัยทัศน์ รัฐมนตรีป้ายแดง “ดีอีเอส” เร่งปราบแก๊งโจรไซเบอร์

ประเสริฐ จันทรรวงทอง
ภาพจากเฟซบุ๊ก ประเสริฐ จันทรรวงทอง

รัฐมนตรีป้ายแดง “ดีอีเอส” ยุครัฐบาลเพื่อไทย เดินหน้าปราบ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์-โจรไซเบอร์” อัพสปีดโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ดัน ”ซูเปอร์แอป” ภาครัฐพลิกโฉมบริการประชาชน สนับสนุนนโยบายรัฐบาลลดเหลื่อมล้ำขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมดึง “คนเก่ง” ร่วมทีม

วันที่ 11 กันยายน 2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า การเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงดีอีเอส เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น แม้จะเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อนแล้ว แต่ภารกิจของกระทรวงดีอีเอส เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอนาคต และเกี่ยวพันกับนโยบายหลายส่วนของรัฐบาล

โดยเรื่องแรกที่ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการคือ การปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ และข่าวปลอมทั้งหลาย เพราะสิ่งเหล่านี้ทำความเสียหายต่อประชาชนอย่างยิ่ง จึงต้องยกระดับความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน แม้ปัจจุบันจะมีศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่พบว่าอาชญกรรมทางการเงินต้องมีการตั้งศูนย์เฝ้าระวัง และติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ เพิ่มเติมอีกทาง

“ศูนย์ดังกล่าวจะมีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติในระบบการเงิน คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน”

เรื่องถัดมาจะเกี่ยวกับรัฐบาลดิจิทัล ที่จะต้องเป็นไปตามแนวนโยบายรัฐบาลที่อยากเปลี่ยนตัวเอง จากการที่ภาครัฐอุปสรรค มาเป็นรัฐสนับสนุน ดังนั้น การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ หรือบริการต่าง ๆ ที่สามารถทำเป็นดิจิทัลได้จึงต้องเร่งให้เกิด  รวมไปถึงการเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล เช่น “สมาร์ทสามสิบบาท” (การอัพเกรดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) รวมถึง “ดิจิทัลวอลเลต”

“ในรายละเอียดอยากให้ท่านนายกฯแถลงนโยบายต่อสภาก่อน”

และเรื่องสุดท้ายคือ เรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยทำคุณภาพชีวิตดีขึ้นให้ได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มศักยภาพประชาชน ในอนาคตประชาชนจะต้องสัมผัสเทคโนโลยีที่หลากหลาย ซึ่งส่งผลทางบวกและทางลบ จึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี

“เรื่องรัฐบาลดิจิทัลยังสัมพันธ์กับการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐเข้าสู่ดิจิทัล วันนี้เป็นอำนาจท่านนายกฯ ที่สามารถประสานข้ามกระทรวงทำให้เกิดขึ้นให้ได้ จะทำให้เกิดซูเปอร์แอปของภาครัฐ ที่รวมบริการและข้อมูลทุกอย่างไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ การมีซูเปอร์แอปภาครัฐที่รวมข้อมูลหลายอย่างไว้จะส่งผลดีต่อประชาชนอย่างมาก เช่น เกษตรกร หากรวมเอาข้อมูลดินฟ้าอากาศและการประมวลผลที่ดี แม่นยำ เปิดกว้างให้เกษตรกรใช้ได้ก็จะนำไปวางแผนการผลิตได้”

รัฐมนตรี “ดีอีเอส” ย้ำว่า ซูเปอร์แอปภาครัฐก็ดี หรือดิจิทัลวอลเลตที่จะเกิดขึ้นก็ดี แม้จะต้องเริ่มจากรัฐบาล หรือสำนักนายกฯ ดูแล เพราะต้องเชื่อมโยงกันหลายหน่วยงานข้ามกระทรวง แต่ในแง่โครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นมาแล้วจะเป็นภารกิจของกระทรวงดีอีเอสที่ต้องเข้าไปดูแลต่อไป

“เรื่องของความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ที่หลายคนมองว่ารัฐมนตรีอาจไม่ถนัด แต่ผมมองว่า เรื่องเทคโนโลยีไม่มีใครเก่งมาแต่เกิด เทคโนโลยีมันหลากหลาย และเปลี่ยนเร็ว ดังนั้น คนที่ทำงานด้านเทคโนโลยีต้องมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ และติดตามตลอดเวลา ผมเป็นนักบริหาร อาจไม่สามารถเขียนโค้ดดิ้ง เป็นโปรแกรมเมอร์ได้ แต่ต้องมีคนเก่งอยู่ข้างผมตลอดเวลาที่จะดึงมาช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจให้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย”