อลหม่านไม่หยุด ประชุมบอร์ด กสทช. ล่มตามคาด

ประชุมบอร์ด กสทช 4ตค2566

4 บอร์ด กสทช. เดินออก แจงการประชุมโดยเปิดเผย ขัดระเบียบวาระพิจารณาโดยลับ กระทบหลักการพิจารณาวาระสำคัญโดยอิสระ-ความลับทางราชการและเอกชน

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ครั้งที่ 20/2566 ล่มอีกครั้ง ทำให้ไม่สามารถพิจารณาวาระสำคัญที่ค้างคาหลายประการ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร การคัดเลือกเลขาธิการ การพิจารณาควบรวมกิจการ AIS และ 3BB

ก่อนหน้านี้การประชุมบอร์ด กสทช. ล่มต่อเนื่องหลายครั้ง นับตั้งแต่มีข้อขัดแย้งเรื่อง การปรับโครงสร้างองค์กรและการคัดเลือกเลขาฯ ทำให้มีการปิดประชุมกะทันหัน และไม่สามารถนัดประชุมได้

การนัดประชุมครั้งนี้ทาง ประธาน กสทช. มีการเรียกประชุมโดยเปิดเผยสาธารณะ โดยบรรจุวาระกว่า 70 เรื่อง เป็น เรื่องค้างพิจารณา 42 เรื่อง และเสนอให้พิจารณา 22 เรื่อง

กสทช. ทั้ง 4 คน ได้แก่ 1.พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ 2.ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต 3.รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย 4.รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์
ได้เดินออกจากห้องประชุม โดยชี้แจงว่า

“การประชุมโดยเปิดเผยครั้งนี้ขัดต่อระเบียบการประชุม กสทช. เนื่องจากมีวาระสำคัญที่ต้องใช้หลักการอิสระในการพิจารณาโดยลับ เพราะเป็นเรื่องภายในที่กระทบต่อบุคคล รวมถึงมีความลับทางธุรกิจและภาคเอกชนที่ต้องหยิบยกมาถกเถียงให้ชัดเจนรอบด้าน

ในขณะที่การประชุมเปิดเผยมักเป็นวาระที่เกี่ยวข้องกับคนทั่วไป เช่น สิทธิผู้บริโภค หรืออื่น ๆ ในเชิงการระดมความเห็น ดังนั้นจึงเห็นว่าการนัดหมายประชุมครั้งนี้ขัดต่อระเบียบ กสทช. จึงไม่เข้าประชุม”

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงวาระร้อนอย่างการพิจารณาการปรับโครงสร้างองค์กรและการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ด้วยว่า ทั้ง 4 คนไม่ได้จะขัดขวางให้มีการพิจารณา ทั้งเต็มใจที่จะลงมติ เพียงแต่ยังไม่เคยเห็นรายละเอียดที่บรรจุเข้าที่ประชุม อย่างกรณีการพิจารณาคัดเลือกเลขาฯ ยังไม่มีชื่อของคนที่ประธานเลือกมาให้ลงมติเห็นชอบอยู่ในวาระด้วยซ้ำ

“เราไม่มีอำนาจในการบรรจุวาระการประชุม นั่นเป็นอำนาจของประธาน หากมีการบรรจุโดยละเอียดทั้งสี่คนก็พร้อมจะพิจารณาและลงมติ” หนึ่งในสี่ กสทช.กล่าว

แหล่งข่าวในสำนักงาน กสทช.เปิดเผยด้วยว่า มีการเพิ่มวาระอื่น ๆ เรื่อง เพื่อพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่าง 3BB และ AIS ภายหลังจากแจ้งนัดหมายแก่บอร์ดแล้ว

“การประชุมของ กสทช. มีสองกรณีคือ โดยเปิดเผย และโดยลับ ปกติด้วยวาระค้างพิจารณาจำนวนมากขนาดนี้ ต้องมีเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลและความลับทางธุรกิจของเอกชนที่ไม่ควรเปิดเผยอยู่แล้ว

ในขณะที่โดยเปิดเผยมักจะเป็นวาระที่ครอบคลุมประเด็นวงกว้าง อย่างเช่น เรื่องสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภค และที่สำคัญการประชุมโดยเปิดเผย ประธานจะให้เพิ่มวาระอื่น ๆ ภายหลังจากนัดหมายประชุมไม่ได้” แหล่งข่าวระบุ