จุดพลุ “ไทยบาทดิจิทัล” เปลี่ยน “ปัญหา” เป็น “โอกาส”

สัมภาษณ์

ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยโตก้าวกระโดด แต่สิ่งที่ตามมาคือ การโกง ที่สร้างความเสียหายไม่น้อย ทำให้ “ศักดา เกตุแก้ว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาทฟินเทค จำกัด มองเห็นโอกาสพัฒนาระบบเพย์เมนต์พร้อมสกุลเงินดิจิทัล “ไทยบาทดิจิทัล” หรือ TBD ให้คนไทยนำมาใช้ซื้อขายสินค้าออนไลน์ มีจุดขายเรื่องความปลอดภัย และลดต้นทุนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ด้วยเทคโนโลยี “บล็อกเชน”ดังนี้

Q : จุดเริ่มต้นมาทำบาทฟินเทค

ปี 2557-2559 อีคอมเมิร์ซไทยโตปีละเกือบ 10% มีมูลค่าตลาด 1.4 ล้านล้านบาท ปัญหาที่ตามมาคือ การโกงมีถึง 32.4% ซื้อแล้วไม่ได้ของ ของไม่ตรง สินค้าไม่มีคุณภาพ เฉพาะปีที่ผ่านมามูลค่าความเสียหายถึง 4.53 แสนล้านบาท มากกว่างบฯที่ใช้ในกระทรวงศึกษาธิการ สาเหตุที่ไม่ได้รับการแก้ไขเพราะเป็นเงินเล็ก ๆ หรือไมโครเพย์เมนต์ เฉลี่ยต่ำกว่า 4,000 บาท คนไม่ค่อยอยากเสียเวลาดำเนินคดี

นอกจากนี้กฎหมายยังยอมความได้มิจฉาชีพจึงไม่กลัว การซื้อของออนไลน์ส่วนใหญ่จะใช้บัตรเครดิตซื้อ แต่คนขายไม่อยากรับบัตรเครดิต เพราะโดนชาร์จ 2-4% หรือเพย์พาลที่โดนหัก 6% ผู้บริโภคชอบ ได้สะสมคะแนน แต่คะแนนที่สะสมเอามาจากเปอร์เซ็นต์ที่ผู้ขายต้องเสีย พ่อค้าจึงผลักภาระโดยชาร์จกับผู้บริโภค เราจึงพัฒนา “บาทฟินเทค” ทำให้ผู้ซื้อผู้ขายใช้จ่ายผ่าน “ไทยบาทดิจิทัล” (TBD) ที่ค่าแลกเปลี่ยน 1 ต่อ 1

เมื่อผู้ซื้อโอนเงินไปที่ผู้ขายผ่านระบบกระเป๋าเงินดิจิทัล ระบบจะรอการยืนยัน เมื่อผู้ซื้อได้รับสินค้าตามที่ตกลงกับผู้ขาย ไทยบาทดิจิทัลจะเข้าบัญชีผู้ขายแต่ถ้าไม่ได้ของ ระบบจะคืนเงินให้ผู้ซื้ออัตโนมัติ ค่าธรรมเนียม 0.1% ถ้าซื้อทันทีไม่มีค่าธรรมเนียม ถูกกว่าที่อื่น 30 เท่า

Q : มาร์เก็ตเพลซมีเพย์เมนต์

ใช่ แต่เราไม่ได้จับมาร์เก็ตเพลซ ประเทศไทยการซื้อ-ขายส่วนใหญ่อยู่บนเฟซบุ๊ก, อินสตราแกรม, ไลน์, เว็บซื้อขายออนไลน์คนซื้อน้อยกว่าในเฟซบุ๊ก เนื่องจากแม่ค้ามีต้นทุนในการขายบนมาร์เก็ตเพลซ เราจึงเน้นตลาด C2C ถ้าลูกค้าอยากได้ความมั่นใจก็มาใช้กับเรา จะดึงให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มาใช้บริการเราเอง รวมทั้งผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซที่ต้องการสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า

ตอนนี้เราเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท ในการรับชำระผ่าน TBD แต่การขยายให้กว้างต้องใช้เวลา เพราะเป็นเรื่องใหม่ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เขารู้ได้คือ ประสบการณ์จริง เพื่อดึงให้คนมาใช้อาจทำโปรโมชั่น เช่น เหรียญ 100 บาท ใช้ได้ 115 บาท เรากำลังคุยกับพาร์ตเนอร์อีก 6-7 ราย มีบริการแคชทูคอยน์ (cash2coin) เป็นตัวกลางให้บริการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลกว่า 10 สกุลให้เป็น TBD เพื่อใช้จ่ายได้จริง ในไทยขุดบิตคอยน์เยอะมาก มีเหมืองใหญ่ ๆ ขุดได้ 2-3 เหรียญ/วันปริมาณที่ขุดมีมหาศาล แต่กฎหมายใหม่การเปลี่ยนเป็นเงินบาทไม่ง่าย

Q : ค่าธรรมเนียม 0.1% อยู่ได้

เรามีต้นทุนน้อยมาก เพราะเกิดตอนเทคโนโลยีเปลี่ยนจึงใช้บล็อกเชน แต่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่หรือคู่แข่ง เช่น เพย์พาล, มาสเตอร์การ์ด, วีซ่า ใช้ระบบ sql รันดาต้าเบส เก็บข้อมูล ต้นทุนสูง แต่บล็อกเชนทำให้ต้นทุนการเก็บข้อมูลต่ำมาก อย่าง Ripple มีโหนดทั่วโลก 425 แห่ง รันระบบได้ปลอดภัย มีแบงก์ไปร่วมเยอะมาก เราก็เอาระบบนี้มาแบ็กอัพไทยบาทดิจิทัล เมื่อใช้บล็อกเชนทำให้เห็นมูลค่าการใช้จ่ายได้ เรามีบิ๊กเดต้าเพื่อทำธุรกิจในอนาคต เช่น วิเคราะห์การกู้เงิน

Q : จะระดมทุนผ่าน ICO

การระดมทุนนาน หาวีซียาก จึงทำ ICO ออกเหรียญ 300 ล้านเหรียญ มูลค่าเริ่มต้นที่ 3 บาทต่อ 1 เหรียญ จะมีการเปิดซื้อขายเหรียญพรีเซล 30 มี.ค. และขายผ่านตลาดเสรีตั้งแต่ 30 เม.ย.โดยใช้ผู้ตรวจสอบ หรือ auditor ที่ดูแลการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นผู้จัดการซื้อขาย ทำให้มาตรฐานการ ICO เทียบเท่ากับการระดมทุนในตลาดปกติ คาดว่าใน 3 เดือนจะระดมทุนได้ตามเป้า เงิน 50% จะนำไปพัฒนาแพลตฟอร์ม 30% เป็นทุนขอใบอนุญาตการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขอใบอนุญาตประเภท ค. ที่ต้องมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เพื่อให้บริการทางการเงินที่หลากหลายขึ้น อีก 15% ใช้เป็นค่าจัดการและดำเนินการ 5% แบ่งไปทำการตลาดและการกุศล และจะนำเงิน 20% ของรายได้มาซื้อเหรียญคืนทุกปี เราต้องการแยกบาทฟินเทคออกจากไทยบาท

Q : กม.เก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีมีผลไหม

เราต้องมองว่าในวันแรกที่เกิดตลาดหลักทรัพย์ไทยก็โดนเก็บภาษี คนขับเคลื่อนคือเอกชน จนวันหนึ่งที่รัฐเห็นความสำคัญมีการยกเลิกการเก็บภาษี ดังนั้นวันนี้คริปโทฯต้องค่อยเป็นค่อยไปหวังว่าวันหนึ่งจะมีการยกเลิกภาษีในการซื้อขายคริปโทฯ เพราะหลายประเทศการลงทุนในคริปโทฯมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น อินโดนีเซีย ต้องขอบคุณกฎหมายที่ทำให้ภาพคริปโทฯชัดขึ้น ช่วยคัดที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด ทำให้คนมั่นใจว่าจะไม่โดนหลอก หลายคนคิดว่าบิตคอยน์เป็นแชร์ลูกโซ่

Q : เป้าหมายของบาทฟินเทค

ตั้งเป้าปีนี้จะมีการใช้เงินไทยบาทดิจิทัล 5% ของมูลค่าอีคอมเมิร์ชในไทย หรือ 70 ล้านบาท เป้าในปี 2565 พันล้านบาท ครอบคลุม 50% ของตลาด

เราอยากให้เงินไทยเป็นดอลลาร์ของอาเซียน ทุกวันนี้เงินไทยใช้จ่ายในประเทศเพื่อนบ้านได้ และไทยมีจุดภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางอาเซียน ถ้าภาครัฐให้ความสำคัญทำให้เงินบาทเป็นดอลลาร์เหมือนสหรัฐ ระบบเศรษฐกิจจะโตมาก ถ้าเอามูลค่าการซื้อขายออนไลน์รวมกับ GDP เราจะโตขึ้นอีก 20%

ไทยมีเงินกว่า 111 สกุล เช่น สกุลรัฐบาลทำเองคือ คริปโทฯบาท นอกนั้น เช่น ทรูมันนี่ เอ็มเปย์ แรบบิท แต่คุยกันไม่รู้เรื่อง โอนข้ามกันไม่ได้ TBD อยากแก้ปัญหาตรงนี้

Q : จะรวมใน 111 สกุลไทย

ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะใช้ไหม เราทำระบบให้ใช้ได้ เหมือนตู้ ATM แบงก์ที่มี 7-8 ตู้เรียงกัน ถ้าร่วมมือกันตู้ก็ไม่ต้องมีเยอะ

Q : ความท้าทาย

เราทำธุรกิจบนพื้นฐานกฎหมายที่มี ไทยบาทไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซี แต่เป็นอีมันนี่ เพราะอ้างอิงมูลค่าเงินบาท สิ่งท้าทายคือ ท้าทายโจร เพราะละเลยมานานแล้ว การทำ TBD มีผู้ได้ประโยชน์ 3 ส่วน 1.ภาครัฐ 2.ผู้ขาย เพราะไม่ต้องคอยสร้างเครดิต 3.ผู้ซื้อ ที่ไม่ต้องกลัวโดนโกง