“ดิจิทัล” เครื่องยนต์ปั๊มเศรษฐกิจ ดีอีจุดพลุ “ไทยแลนด์ ซูเปอร์แอป”

ประเสริฐ จันทรรวงทอง
ประเสริฐ จันทรรวงทอง

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้กล่าวบนเวทีสัมมนาหัวข้อ “จับสัญญาณบวกส่งออก ปลุกเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในตลาดโลก” งานสัมมนา “Thailand 2024 : The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พูดถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย

ดิจิทัลเครื่องยนต์ตัวที่ 5

“รัฐมนตรีดีอี” เน้นย้ำว่า เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญ และท้าทายอย่างยิ่ง หากมองเศรษฐกิจธรรมดาจะโตได้อย่างเก่ง จากการคาดการณ์ 2.5-3% หรืออย่างสูงไม่เกิน 5% แต่ดิจิทัลจะสามารถขยายตัวไม่น้อยกว่า 15% และอาจก้าวไปถึง 30% ของจีดีพีของประเทศได้

“จากภาพรวมของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาส รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับกระทรวงดีอี ผมเองมีความเชื่อมั่นว่าดีอี จะเป็นกระทรวงที่เปลี่ยนแปลงประเทศได้ หากนึกถึงในอดีต 3 ปีที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจหยุดชะงัก พวกเรายื้อชีวิตและอยู่ด้วยความยากลำบากในช่วงโควิด ทั้งพี่น้องประชาชน ทั้งภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ สิ่งที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวได้คือ เทคโนโลยีดิจิทัล มีการโอนเงิน มีการซื้อของทางออนไลน์เยอะมาก เทคโนโลยีดิจิทัลวันนั้นช่วยให้คนผ่านพ้นไปได้วันนี้”

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีดิจิทัลยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากหลายด้าน ทำให้ธุรกิจที่ไม่ว่าแต่คนไทยหรือคนในต่างประเทศที่มาลงทุนได้รับความสะดวกขึ้น หากพัฒนาบริการต่าง ๆ เป็น “วันสต็อปเซอร์วิส” จะลดขั้นตอนได้มาก

นอกจากนี้ หน่วยงานภายใต้กระทรวงดีอี มี NT ที่เกิดจากการควบรวม CAT ที่มีความรู้เรื่องดาวเทียม และโทร.ระหว่างประเทศ และ TOT เชี่ยวชาญเรื่องโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต เมื่อรวมกันจึงมีศักยภาพในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น มีเสาสัญญาณโทรศัพท์ไม่น้อยกว่า 25,000 ต้นทั่วประเทศ มีเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำ และเทคโนโลยี 5G

“วันนี้โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของไทยไม่แพ้ใคร ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลขยับขึ้นจากปีก่อน อันดับ 40 เป็นอันดับที่ 35 ในปี 2566 และตั้งเป้าปี 2568 จะขยับขึ้นไปอันดับ 30 ให้ได้ ในอาเซียนเราเป็นเบอร์ 3 รองจากมาเลเซีย และสิงคโปร์”

“จากเรื่องนี้เราได้แปลงเป็นนโยบายที่เรียกว่า เครื่องยนต์เครื่องที่ 5 ของประเทศ เป็น The Growth Engine of Thailand จากในอดีตที่พูดถึง 4 เครื่องยนต์ วันนี้ดิจิทัลเข้ามาเป็นแรงซัพพอร์ตในทุกกระทรวง”

ดังนั้น หลักการสำคัญของทิศทางดิจิทัล 1.สร้างศักยภาพให้ประเทศ 2.ลดช่องว่างให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาลได้อย่างปลอดภัย และ 3.สร้างกำลังคนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

นายประเสริฐขยายความ The Growth Engine of Thailand ว่า หลักการแรก คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างข้อได้เปรียบของประเทศโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่งดีอีมีนโยบาย “Cloud First Policy” นำ

“ที่ผ่านมา กระทรวงต่าง ๆ มีคลาวด์เก็บข้อมูลแต่ละกระทรวงที่อาจกระจัดกระจายตามที่ต่าง ๆ คำนวณคร่าว ๆ คลาวด์ที่กระจัดกระจายในกรม กอง หรือกระทรวงต่าง ๆ มีไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท หากนำเอาศูนย์ข้อมูลเหล่านั้นมารวมกันที่เดียว ในคลาวด์แบงก์อาจตั้งอยู่ที่ DGA หรือสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือที่กระทรวงดีอีก็แล้วแต่ สามารถลดค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 30%”

ดันไทยฮับดิจิทัลอาเซียน

หลักการที่สอง คือ เรื่องความมั่นคงและปลอดภัย (Safety & Security) เพื่อให้นักลงทุนที่จะมาลงทุนมีความมั่นใจในความมั่นคงของข้อมูล ซึ่งไทยมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) อยู่แล้ว การสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและคนไทยด้วยกันว่า ข้อมูลมีความมั่นคงและปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ

“วันนี้ปัญหาหนึ่งของประชาชน คือ เรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดีอีจึงมี AOC หรือศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ มีสายด่วน 1441 ให้ประชาชนโทร.มาปิดบัญชีม้า ซิมม้าภายใน 15 นาที ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงและปลอดภัยของข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงจะต้องหาวิธีลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูล และบริการภาครัฐ ทำ Open Data ให้ประชาชนเข้าถึงได้ มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ดีก็ช่วยพัฒนาระบบรัฐบาลดิจิทัลได้ดีขึ้น”

หลักการที่สาม คือ การพัฒนาคนด้านดิจิทัล วันนี้ในภาครัฐ บุคลากรด้านดิจิทัลมี 0.5% ไม่เพียงพอ จึงได้พูดคุยกับบริษัทชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Google, Huawei และอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ให้เยาวชนไทย นักศึกษา และประชาชนทั่วไป

“เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลเอามาใช้อะไรได้บ้าง ที่ผ่านมากระทรวงดีอีมีเรื่องโครงการ “ชุมชนโดนใจ” ให้เกษตรกร 500 ชุมชนเข้าถึงโดรนเกษตรได้ง่ายขึ้น เดิมเกษตรกรใช้เวลา 1 ไร่ ราว 20 นาทีในการพ่นยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ย พอใช้โดรนไม่ถึง 5 นาทีต่อไร่ และสามารถทำโปรแกรมที่ดินไม่จำกัดรูปแบบ ไม่ว่าแปลงผลิตจะเป็นรูปร่างอะไร การลดเวลาก็นำไปสู่การลดรายจ่าย”

นอกจากนี้ ยังมี Health Link ที่เป็นตัวเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลทุกสังกัด ที่ดีอีเอสทำร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้เทคโนโลยี 5G ที่มีบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT) เป็นผู้ให้บริการ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้ทันท่วงทีจากที่ไหนก็ได้ เพราะเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทยมีความเสถียรกว่าหลาย ๆ ประเทศ

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการผลักดัน คือ ทำให้ไทยเป็น “ดิจิทัลฮับ” ในภูมิภาคอาเซียน จากโครงสร้างด้านโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตที่มีทั้งหมด และพยายามให้เศรษฐกิจดิจิทัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และสังคมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

OneID เปลี่ยนประเทศ

นายประเสริฐกล่าวถึงทิศทางการทำงานในปี 2567 ด้วยว่า จะให้ความสำคัญกับเรื่องสตาร์ตอัพ และสมาร์ทซิตี้ แต่สิ่งเหล่านี้จะเดินต่อไม่ได้ถ้าขาดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สำคัญ ผ่านนโยบาย Cloud First Policy เป็นคลาวด์แบงก์ใหญ่รวมทุกอย่างในที่เดียวกัน และเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เป็น Open Data ลิงก์กัน

และอย่างแรกที่ต้องทำ คือ การยืนยันตัวตนประชาชน ผ่าน “บัตรประชาชน” และมีหลายหน่วยงานที่ทำแอปพลิเคชั่นของตนเองเชื่อมดิจิทัลไอดี อย่างกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง มี Thaid มีคนเข้าไป 12 ล้านคน มี “ทางรัฐ” ของสำนักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ที่มีคน 3 แสนคน หรือ “หมอพร้อม” ของกระทรวงสาธารณสุข ก็มี 30 ล้านคน เช่นกันกับ “เป๋าตัง” ที่มีคนอยู่ประมาณ 30 กว่าล้าน แต่ยังไม่มีแอปพลิเคชั่นของคนไทยที่คนไทยเข้าไปใช้มากที่สุด เหมือน SingPass ของสิงคโปร์ หรือ WeChat ของจีน

“เราพิจารณาว่าแอปที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ ทำขึ้นนั้น นอกจากจะกระจัดกระจายบนคลาวด์แล้ว บางส่วนทำขึ้นแล้วไม่ได้ใช้ น่าเสียดาย อย่างเช่น หมอพร้อม เมื่อหมดช่วงฉีดวัคซีนโควิด ก็ไม่มีใครเข้าใช้ หรือแอปเป๋าตัง พอไม่มีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ คนก็ไม่ใช้”

ดังนั้นทำอย่างไร แอปภาครัฐจะมีประชาชนมาใช้บริการได้ทุกวันตลอดเวลา เป็นรัฐบาลดิจิทัลจึงต้องหาทางนำบริการ มารวมเป็น “ไทยแลนด์ซูเปอร์แอป” มี All Service ภาครัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ โอนเงิน ประกันสังคม เรื่องการศึกษา การสาธารณสุข การท่องเที่ยว เป็นต้น

“เราต้องฟันธงเลือกแอปที่เป็นของคนไทย และมีคนไทยอยู่ในนั้น มี National ID คนไทยต้องมีอยู่ในนั้นไม่น้อยกว่า 55 ล้านคน ทำเป็น OneID ให้ได้ เมื่อเกิดแล้ว นโยบายภาครัฐต่าง ๆ อย่างเรื่องดิจิทัลวอลเลตก็เข้าไปอยู่ในนั้นได้เลย มีกรมการปกครองเป็นฐานข้อมูลหลัก ๆ อยู่ระหว่างการทำความเข้าใจกัน น่าจะได้เห็นว่าจะไปในทิศทางไหนภายในปีนี้”