เพจหลอกลงทุนทองเกลื่อนโซเชียล ดีอีพบบัญชีปลอมร้านทอง 40 บัญชี

ประเสริฐ-เพจปลอมร้านทอง

“ดีอี” หารือ “สมาคมค้าทองคำ” แก้ปัญหาหลอกลวงบนโลกออนไลน์ หลังพบมิจฉาชีพสวมรอยเปิดเพจร้านทองบน Facebook และ TikTok รวมกันกว่า 40 บัญชี สร้างความเสียหายมากกว่า 60 ล้านบาท

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า สมาคมค้าทองคำได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ว่ามีมิจฉาชีพปลอมแปลงเฟซบุ๊กเพจร้านค้าทองคำที่มีชื่อเสียงและเป็นสมาชิกสมาคมค้าทองคำเผยแพร่โฆษณาชักชวนหลอกให้มีการลงทุน

และอ้างว่ามีการจ่ายเงินปันผลทุกวัน หรือให้ผลประโยชน์เกินจริง เพื่อจูงใจให้หลงเชื่อ ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อผู้ประกอบธุรกิจค้าทองคำ ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของประเทศที่มิจฉาชีพใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการหลอกลวงให้นักลงทุนลงทุนซื้อทองคำออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มปลอม  ทำให้มีนักลงทุนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ด้านนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำกล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนเปลี่ยนจากการเก็บออม เป็นการลงทุนเพื่อเก็งกำไรในทองคำสูงขึ้น ซึ่งมีวิธีการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งการซื้อขายผ่านหน้าร้านทอง การลงทุนทองออนไลน์ รวมถึงการลงทุนทองคำในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ซึ่งมิจฉาชีพต่างอาศัยชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อร้านค้าทองคำมาหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อจนเกิดความเสียหาย

ตัวอย่างของสมาชิกสมาคมที่ได้รับผลกระทบจากกลลวงของมิจฉาชีพ เช่น จินฮั้วเฮง, YLG และออโรร่า ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงต่อองค์กรโดยรวม ส่งผลให้ลูกค้าเกิดความสับสน ไม่แน่ใจ ขาดความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นของบริษัท ทางสมาคมขอเสนอแนะให้มีขั้นตอนการปิดเพจปลอม โดยส่งข้อมูลยืนยันว่าเป็นเพจปลอมจริง และแจ้งไปยังสมาคมค้าทองคำ เพื่อประสานงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดเพจปลอมนั้นต่อไป

โดยในปี 2566-2567 มิจฉาชีพมีการปรับรูปแบบเป็นการสร้างบัญชี Facebook และ TikTok ปลอมแทน เช่น บจ.ฮั่วเซ่งเฮง มีการตรวจพบครั้งแรกในช่วง เดือนกันยายน 2566 จนถึงปัจจุบันบริษัทมีการเก็บข้อมูลการปลอมทั้ง 2 ช่องทางรวมกันทั้งสิ้น 40 บัญชี เป็นบัญชี Facebook 14 บัญชี และ TikTok จำนวน 26 บัญชี

ซึ่งบริษัทได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหายผ่านช่องทางต่าง ๆ จำนวน 44 กรณี เป็นความเสียหายโดยรวมประมาณ 20.8 ล้านบาท และความเสียหายของ บจ.ออโรร่า มีผู้เสียหายรวมถึงลูกค้าของบริษัทเป็นจำนวนมาก โดยมีจำนวนผู้เสียหายที่ติดต่อเข้ามากับฝ่ายกฎหมายประมาณ 150 คน ค่าเสียหายโดยรวมประมาณ 60 ล้าน

“มิจฉาชีพจะใช้วิธีหลอกลวงตามกระแสนิยมในแต่ละช่วง เช่น ในปี 2565 จะเป็นเรื่องของการลงทุนใน Forex และคริปโตเคอร์เรนซี ส่วนในปี 2566 จะเป็นเรื่องของการลงทุน หรือการออมแบบ Passive Income ซึ่งเราสามารถสังเกตสัญญาณเพื่อเตรียมป้องกันได้จากกระแสความสนใจในเรื่องการลงทุนที่มีการเปลี่ยนไปของประชาชน ทางสมาคมขอความร่วมมือกับกระทรวงดีอี ในการป้องกันและปราบปรามปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด” นายจิตติกล่าว

นายประเสริฐกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงดีอี โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA และศูนย์แก้ปัญหาหลอกลวงทางออนไลน์ หรือ AOC1441 จะดำเนินการประสานเพื่อปิดกั้นแพลตฟอร์มปลอม และรับการร้องเรียนผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากมิจฉาชีพ รวมถึงมีความร่วมมือกับสมาคมค้าทองคำในการแก้ไขปัญหาระยะยาว และมีการเตรียมพูดคุยถึงความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับแฟลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาดด้วย

“ผมหวังว่าการหารือระหว่างกระทรวงดีอี และสมาคมค้าทองคำจะช่วยให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหามิจฉาชีพปลอมแปลงเฟซบุ๊กเพจของผู้ประกอบการร้านทอง และตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงเดือน 2567 กระทรวงดีอีได้ดำเนินการปิดโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับ Online Scams บนแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ไปแล้วกว่า 30,000 URLs และปิดกั้นเว็บไซต์โดยมีคำสั่งศาลกว่า 1,400 URLs” นายประเสริฐกล่าว