ส่องภารกิจร้อน “ดีอี-กสทช.”

ดีอี กสทช.

เทคโนโลยีใหม่ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง (Advance AI) ได้เข้ามากระทบกับแผนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่เดิมเป็นเพียงทรานส์ฟอร์มเป็น “ดิจิทัล” ทั้งในแง่ของเอกสาร การจัดซื้อจัดจ้าง การให้บริการประชาชน เป็นต้น ไม่รวมการรับมือกับภัยคุกคามที่แฝงมากับการใช้งานแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่มิจฉาชีพสามารถใช้เงินซื้อโฆษณาหลอกลวงประชาชนจำนวนมากได้โดยตรง ทั้งการหลอกลงทุน แอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการต่าง ๆ หรือหลอกขายสินค้าไม่ตรงปก

นั่นทำให้ในช่วงโค้งท้ายปี 2566 รัฐบาลใหม่ นำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี ต้องลุกขึ้นมาขับเคลื่อนผลักดันการบังคับใช้กฎหมายใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2565 พร้อมกับดำเนินการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) หรือศูนย์สายด่วน 1441

และบูรณาการการทำงานกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, แบงก์ชาติ, ผู้ให้บริการมือถือ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีดีอี กล่าวว่า การแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์เป็นนโยบายเร่งด่วน เพราะส่งผลกระทบกับประชาชน และความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล การสร้างกลไกปราบปรามอย่างศูนย์ AOC ซึ่งรวมเอาหน่วยงานรับผิดชอบที่กระจายกันมาอยู่ที่เดียว รวมถึงการรุกไปตัดต้นตอซิมม้า-บัญชีม้าที่ใช้ก่ออาชญากรรม ถือเป็นควิกวินระยะสั้น ยังไม่รวมถึงเรื่องการลักลอบซื้อขายข้อมูล และหน่วยงานรัฐปล่อยให้มีการรั่วไหล

ที่ต้องพึ่งพาการลงทุนระบบคลาวด์ที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อจำแนกข้อมูลภาครัฐอย่างเป็นระบบ ซึ่งโครงสร้างคลาวด์กลางภาครัฐดั้งเดิม (GDCC) เป็นเทคโนโลยีเก่า ไม่เพียงพอที่จะใช้งานแบบ Hyper Scaler ทั้งการประมวลผลระดับสูงให้รองรับแอดวานซ์เอไอภาครัฐ เพื่อบริการประชาชน อันเป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโต โครงสร้างพื้นฐาน “คลาวด์” อย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็น “คลาวด์-เอไอ” รัฐบาลได้ทำข้อตกลงกับ “บิ๊กเทค” หลายราย ทั้ง Google Microsoft และ Huawei เพื่อดึงดูดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานนี้มาเปลี่ยนหลังบ้านให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล อัพเกรดเทคโนโลยีให้รองรับการใช้งานที่ซับซ้อน รองรับการทำงานด้วยเอไอ และผลักดันให้ภาครัฐเปลี่ยนมุมมองมาใช้คลาวด์เป็นหลัก ตามนโยบาย Cloud First Policy

“ในระยะกลางเป็นเรื่องการสร้างความปลอดภัยในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นคลาวด์สาธารณะ หรือคลาวด์กลางของภาครัฐ โดยให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนที่ชำนาญโดยเร็ว และนำไปสู่การเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐอย่างปลอดภัย กลายเป็นรัฐบาลดิจิทัลในระยะที่สามของแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และสุดท้ายคือ การรีสกิลอัพสกิลกำลังคนด้านเทคโนโลยีให้สอดรับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะถ้าเทคโนโลยีก้าวไป แต่ไม่มีคน ก็จะเป็นปัญหา”

ในฝั่ง กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล นอกจากความท้าทายจากการกำกับธุรกิจโทรคมนาคมที่ควบรวมกันจนเหลือน้อยราย ไม่ให้กระทบประชาชน ทั้งในแง่คุณภาพและราคาแล้ว ในปีนี้ยังมีเรื่องเร่งด่วน และสำคัญที่คั่งค้างไม่น้อย เรื่องแรก คือ การนำสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่ยังเหลืออยู่ 2 ชุด คือ วงโคจร 142 องศาตะวันออก และ 50-50.5 องศาตะวันออก ออกมาประมูลให้ได้ เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียสิทธิดังกล่าว

ถัดมาคือการนำคลื่น 3500MHz Private 5G ออกมาประมูล เพื่อให้เกิดการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมโดยเร็ว รวมถึงการออกหลักเกณฑ์ควบคุมแพลตฟอร์ม OTT ที่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลที่ต้องเตรียมศึกษารับมือก่อนใบอนุญาตจะหมดอายุในปี 2571 เช่นเดียวกับการออกแบบการกำกับดูแลคลื่นวิทยุที่มีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาท้าทายผู้ประกอบการ

ก่อนหน้านี้ “ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต” กรรมการ กสทช. ด้านโทรทัศน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการทำหลักเกณฑ์กำกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง OTT อย่างมาก มีการจัดทำร่างหลักเกณฑ์แล้วเสร็จทุกขั้นตอน รวมถึงจัดรับฟังความคิดเห็น เพราะต้องการให้มีการบังคับใช้ภายใน 18 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ สพธอ. กำหนดเป็นเส้นตายให้ธุรกิจที่ให้บริการดิจิทัล หรือแพลตฟอร์มดิจิทัล มาจดแจ้ง ตาม พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ. 2565

“แพลตฟอร์ม OTT ยังไม่มีหลักเกณฑ์กำกับ เป็นอำนาจ กสทช. ที่เข้าข่ายการแพร่ภาพในกิจการโทรทัศน์ แต่ร่างหลักเกณฑ์คุม OTT ยังไม่ได้เข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. ต้องชี้แจงนิยามคำว่า OTT, VOD และอื่น ๆ ซึ่งเป็นคำใหม่ ยังไม่มีการบัญญัติเป็นภาษาไทย ทีมงานได้ดำเนินการแก้ไขหลักเกณฑ์ และชี้แจงการนิยามครบถ้วนแล้ว อยู่ในขั้นตอนขอเข้าบรรจุในวาระประชุม”

โดย “ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์” ประธาน กสทช. กล่าวว่า เรื่องการควบรวม กสทช. มีอำนาจตามกฎหมายเพียงรับทราบ และติดตามการดำเนินธุรกิจ จึงได้ให้สำนักงาน กสทช.ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กระทบประชาชนทั้งในแง่คุณภาพสัญญาณ และราคา ซึ่งตนพร้อมรับฟังความเห็น และคำนึงถึงการเพิ่มผู้เล่นรายใหม่ โดยได้แจ้งไปยังรัฐบาลถึงความต้องการยกระดับผู้ประกอบการ และให้นโยบายกับสำนักงาน กสทช. ให้เพิ่ม MVNOs อย่างน้อย 7 ราย ภายในปี 2569

“นโยบายปี 2567 ที่ผมให้กับสำนักงาน กสทช. คือทุกคนต้องมุ่งมั่นทำงานให้ประชาชนมากกว่านี้ ในฐานะหน่วยงานกำกับ อยากเห็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่จริงจัง ทั้งเรื่องค่าบริการโทรคมนาคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในทุกกลุ่ม รวมถึงการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้ประชาชน”