ดีอี-ตำรวจไซเบอร์ เผยไต๋แก๊งมิจฉาชีพดอดข้ามชายแดนกดเงินให้นายใหญ่

ดีอี-ตำรวจไซเบอร์ แถลงผล 4 ปฏิบัติการ กวาดล้างแก๊งมิจฉาชีพทั้งแอปดูดเงินชายแดน ลวงขายสินค้า ซื้อขายอาวุธปืนออนไลน์ เว็บอนาจาร VK แฝงพนัน ชี้ รวบคนถอนเงินสดจากเอทีเอ็มจังหวัดชายแดน ขยายผลสู่นายใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับกองบัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ แถลงการจับกุม ใน 4 ปฏิบัติการ ได้แก่

1.แก๊งมิจฉาชีพ คอลเซ็นเตอร์-แอปดูดเงิน

จับกุมเครือข่ายผู้ร่วมกระทำผิด ในการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานต่าง ๆ โทร.หลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อ แล้วให้แอดไลน์ เพื่อส่งลิงก์ให้กดดาวน์โหลดแอปหน่วยงานของปลอม หลอกโอนเงิน สร้างความเสียหายแล้วรวมกว่า 12 ล้านบาท

จากการสืบสวนพบว่าขบวนการดังกล่าวมีความเชื่อมโยงหลายคดีในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มีลักษณะเป็นเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม ในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยได้ตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด 13 ราย เป็นชาวไทย 12 ราย และชาวกัมพูชา 1 ราย พร้อมยึดของกลางเป็นเงินสด 1 แสนบาท และบัตรกดเงินสด (บัตร ATM) รวมทั้งอายัดเงินในบัญชีธนาคารที่ใช้ในการกระทำความผิดได้รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท

ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้พบเห็นรูปแบบของการก่ออาชญากรรม กล่าวคือ หลังจากที่มิจฉาชีพโทร.หลอกลวงประชาชนให้โอนเงิน หรือหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นดูดเงินแล้ว เงินจะไปหมุนเวียนอยู่ใน “บัญชีม้า” ที่ขายให้แก๊งมิจฉาชีพ ซึ่งมี “คนกลาง” ถือบัตรเอทีเอ็มม้าจำนวนหลายใบ จากนั้นจะข้ามมาทำหน้าที่กดเงินจากตู้เอทีเอ็มในจังหวัดแถบชายแดน จ.สุรินทร์ เมื่อได้เงินสดแล้วจะมีการนำส่งให้ “นายใหญ่” ที่คาดว่าจะอยู่ในบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

จากกรณีที่กวาดล้างนี้ บัญชีม้าดังกล่าวมีเงินหมุนเวียนอยู่มากกว่า 30 ล้านบาทในรอบ 3 เดือน

2. UNBOXSCAM แกะกล่องพัสดุลวง

ปัญหาการขายสินค้าหลอกลวงเป็นอาชญากรรมไซเบอร์ที่ได้รับรายงานมากที่สุด จากจำนวนคดีไซเบอร์ 3.8 แสนกว่าคดี ซึ่งมีลักษณะการก่อเหตุกระจัดกระจายไม่เชื่อมโยงกันมากนัก

อย่างไรก็ตาม ตำรวจไซเบอร์ตรวจพบความเชื่อมโยงของบัญชีม้า และผู้ที่ก่อความผิด อาจมีความเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายจำนวน 1.8 แสนคดี จากหลายพฤติการณ์ เช่น รวบตัวการส่งพัสดุไม่ตรงปก หลอกเก็บเงินปลายทาง ตรวจค้นจับกุมตัวการ กรณีมิจฉาชีพตีเนียนส่งพัสดุหลอกเก็บเงินปลายทาง โดยที่ไม่ได้สั่งซื้อ และส่งสินค้าที่ไม่ตรงปกเพื่อหลอกเก็บเงินปลายทาง สร้างความเสียหายรวมเกือบ 10 ล้านบาทต่อปี

ล่าสุด จากการสืบสวนพบว่ามีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนโดยนายอนุศาสน์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ได้ใช้แพลตฟอร์ม TikTok ในการขายสินค้า โดยมีการส่งพัสดุในรอบ 1 เดือน ประมาณ 8,000 ชิ้น และมีพัสดุตีกลับประมาณ 47% อีกทั้งยังมียอดระงับการเก็บเงินปลายทางกว่า 8 แสนบาท

3. การซื้อขายอาวุธปืนและกระสุนปืนผ่านโซเชียลมีเดีย

โดยพบว่ามีการลักลอบจำหน่ายอาวุธปืน ชนิดปืนปากกา ปืนไทยประดิษฐ์ และเครื่องกระสุนปืน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จึงได้ตรวจค้นจับกุมนายปฏิพัทธ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี พร้อมด้วยของกลางอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน จำนวน 11 รายการ

4. ขยายผลจับคนกดเงินจ้างแอดมินเว็บอนาจาร โปรโมตเว็บพนัน

ได้มีจับกุมนายอัครนันท์ เจติยากุลไพศาล อายุ 27 ปี แอดมิน VK ชื่อกลุ่ม DARK SIDE CLUB ซึ่งเป็นกลุ่มเปิดที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และกลุ่มอื่น ๆ ที่มีการโพสต์ภาพลามกอนาจาร แอบแฝงชักชวนเล่นพนันออนไลน์ รวมแล้ว 19 กลุ่ม มีผู้ติดตามรวมกว่า 250,000 คน

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการเร่งดำเนินการขยายผลจับกุมและทลายเครือข่ายซิมผี บัญชีม้า เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน จึงขอเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ให้มีความรอบคอบ อย่าเห็นแก่ประโยชน์เพียงเล็กน้อยในการยินยอมให้มีการซื้อหรือขายบัญชีธนาคาร เนื่องจากผิดกฎหมาย

ทั้งขอให้ประชาชนพึงระลึกไว้เสมอว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีการติดต่อผ่านโทรศัพท์ หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ในการดำเนินการติดตั้งแอป หรือ Login ระบบใด ๆ ทางออนไลน์เด็ดขาด หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถโทร.ปรึกษาสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง