LINE ชู 4P ติดอาวุธ SMEs เชื่อมอีโคซิสเต็มติดสปีดธุรกิจ

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ด้วยเกณฑ์รายได้สำหรับภาคการผลิตที่ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี และภาคการบริการไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี ทำให้จำแนก “เอสเอ็มอี” (SMEs) ในระบบได้ราว 3 ล้านราย คิดเป็น 99.5% ของภาคธุรกิจในประเทศ และยังเป็นกลุ่มที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 35.2% ของ GDP

เอสเอ็มอีที่เป็นทั้งพ่อค้าแม่ค้าทั่วไป และบริษัทนิติบุคคล ล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในยุคที่การแข่งขันไร้พรมแดนเข้ามาทุกทิศทุกทาง การยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยจึงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ

ความท้าทาย SMEs ไทย

รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวในงาน BOOTCAMP DAY 2024 โดย LINE for Business ว่า การพาธุรกิจเข้าสู่โลกออนไลน์ยังเป็นความท้าทายของเอสเอ็มอี แม้ในภาพรวมจะดีกว่าช่วงก่อนโควิด ที่ทุกคนเข้าใจภาพการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ และระบบอีเพย์เมนต์ต่าง ๆ มากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถดึงเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“มูลค่าทางเศรษฐกิจจากเอสเอ็มอี คิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP ถ้าจะทำให้เศรษฐกิจโตอย่างมีประสิทธิภาพต้องขยับเป็น 50% เราเชื่อว่าช่องทางออนไลน์ และเครื่องมือต่าง ๆ ช่วยปิดช่องว่างได้ แต่ยากที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจกับเอสเอ็มอีอย่างทั่วถึง เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางส่วนยังมองว่าการขายออนไลน์ต้องมีลูกหลานมาช่วยในวันหยุด แต่ในความเป็นจริงทำได้ตลอดเวลา”

ด้าน นางสาวสกุลรัตน์ ตันยงศิริ ผู้อำนวยการธุรกิจเอสเอ็มอี LINE ประเทศไทย มองว่า เอสเอ็มอีไทยเผชิญความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ หรือการค้าไร้พรมแดน บางรายโฟกัสแต่การหาลูกค้าใหม่จนลืมดูแลลูกค้าเก่า

สกุลรัตน์ ตันยงศิริ
สกุลรัตน์ ตันยงศิริ

“การลดราคา หรือใช้โปรโมชั่นไม่ใช่การแข่งขันที่ยั่งยืน เอสเอ็มอีควรมองไปที่การสร้างคุณค่า และความต่างของแบรนด์ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เขากลายเป็นลูกค้าด้วยสินค้า บริการ และประสบการณ์ในการซื้อสินค้าที่ตรงใจ โดยมองไปถึงการใช้ Loyalty Program เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าที่พร้อมซื้อสินค้าของแบรนด์อยู่แล้ว”

“สสว.-LINE” ร่วมด้วยช่วยกัน

รศ.ดร.วีระพงศ์กล่าวต่อว่า สสว.มีหน้าที่หลักในการสนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอี โดยเชื่อมการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน หรือการขอใบรับรองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การขึ้นทะเบียนโรงงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม การขึ้นทะเบียน อย. กับกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

“เรามี SME ACADEMY 365 แพลตฟอร์ม e-Learning ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจ, SMEONE.INFO แหล่งรวบรวมข้อมูลกิจกรรมของภาครัฐ และเอกชน มี SME COACH ให้คำปรึกษาออนไลน์ และ Business Development Service (BDS) สนับสนุนการดำเนินธุรกิจ มีทุนให้เปล่า 50,000-200,000 บาท ตามขนาดบริษัทด้วย”

ทั้งยังพัฒนาแอปพลิเคชั่น SME Connext รวบรวมข่าวสาร และบริการต่าง ๆ เป็นช่องทางรับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ รองรับการให้บริการนอกเหนือจากศูนย์ OSS แต่ละจังหวัด ปัจจุบันมีผู้ใช้ราว 2 แสนราย รวมถึงพัฒนาระบบยืนยันตัวตนผ่าน SME One ID ช่วยให้การทำเรื่องกับหน่วยงานต่าง ๆ สะดวกขึ้น

ด้านนางสาวสกุลรัตน์กล่าวว่า LINE ให้บริการในไทยตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้ 54 ล้านคน และได้พัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันมาอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของโซลูชั่นเกี่ยวกับคอมเมิร์ซมีแผนผลักดันความสามารถของเอสเอ็มอีไทยในการยกระดับการทำธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ 4P

จุดพลุ 4P อัพสปีดธุรกิจ

ประกอบด้วย 1.Platform พัฒนาฟีเจอร์ และเครื่องมือต่าง ๆ ภายใต้ LINE Commerce Solution เช่น LINE Official Account (LINE OA) เสมือนหน้าร้านออนไลน์ และแหล่งสร้างฐานลูกค้า, LINE Ads ค้นหาลูกค้าที่ใช่, LINE SHOPPING บริหารร้านค้าให้ปิดการขายง่ายขึ้น รวมถึงเครื่องมือเสริมอื่น ๆ เช่น MyCustomer | CRM ระบบสมาชิกออนไลน์

“LINE OA เป็นจุดเริ่มต้นในการใช้โซลูชั่นคอมเมิร์ซอื่น ๆ ปัจจุบันมีกว่า 6 ล้านบัญชี เป็นบัญชีที่มีหน้าร้าน LINE SHOPPING ราว 5.7 แสนบัญชี หมวดหมู่สินค้ายอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร แฟชั่น สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม”

2.Partner พัฒนาเครือข่ายพันธมิตร เช่น สสว. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไปรษณีย์ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น สนับสนุนเอสเอ็มอีไทยทั้งองค์ความรู้ และการขยายโอกาสทางการตลาด ร่วมกับ LINE Certified Coach ทีมผู้เชี่ยวชาญการใช้ LINE ส่งมอบความรู้ และให้คำปรึกษาแก่เอสเอ็มอีไทย

“เราพบว่ากว่า 50% ของผู้ประกอบการที่ใช้โซลูชั่นของ LINE กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ปีนี้จึงร่วมกับ สสว. ทำงานเชิงรุก เข้าถึงเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดมากขึ้น และขยายการสนับสนุนผ่านจัดกิจกรรมโรดโชว์ ให้ความรู้ให้กับเอสเอ็มอีทั่วประเทศ”

3.Program พัฒนาคอนเทนต์ และกิจกรรมส่งเสริมความรู้ ทั้งด้านการตลาด และเทคโนโลยี เช่น มีรายการโค้ชชวนคุย คลาสรูม BOOTCAMP และ 4.Privilege สิทธิพิเศษผ่านโครงการ LINE Family Club ที่ LINE ร่วมกับพันธมิตร สนับสนุนการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี ล่าสุดเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่ใช้ LINE Ads เป็นสมาชิก LINE Family Club รวมถึงการเปิดตัวโครงการ SME Success Story ที่ให้สมาชิก LINE Family Club ส่งเรื่องราวธุรกิจ การสร้างแบรนด์ที่น่าสนใจ เพื่อเป็นเอสเอ็มอีตัวอย่าง

ตัวอย่างการใช้เครื่องมือ

นางสาวสกุลรัตน์กล่าวต่อว่า LINE OA มีฟีเจอร์บรอดแคสต์ถึง 10 รูปแบบรองรับการใช้งานทุกกลุ่มธุรกิจ มีการใช้ เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 91% ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งริชเมสเสจ ข้อความ และริชวิดีโอเมสเสจเป็นรูปแบบยอดนิยม 3 อันดับแรก

“การใช้ริชเมสเสจ บรอดแคสต์โปรโมชั่นเป็นการกระตุ้น ‘จุดวู่วาม’ ของลูกค้า เพิ่มโอกาสที่ยอดซื้อต่อบิลจะสูงขึ้น จากปกติซื้อครั้งละ 800 บาท พอยิงโปรโมชั่นในช่วงเวลาจำกัดก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะซื้อถึง 1,000 บาทมากขึ้น”

ทั้งฟีเจอร์แชตยังได้รับความนิยม มีข้อความแชตจากลูกค้าส่งมาหาร้านค้าเพิ่มขึ้น 11.8 เท่า เทียบปี 2562 และจำนวนรวมของข้อความที่ร้านค้าได้รับผ่านแชตในปี 2566 สูงถึง 7,288 ล้านข้อความ และเมื่อใช้ LINE OA ร่วมกับ LINE SHOPPING ช่วยให้อัตราการปิดการขายสำเร็จถึง 97%

“LINE ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอสเอ็มอีและแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าร้านจะปิดการขายบน LINE หรือไม่ ก็ต้องมี LINE OA ไว้สื่อสารกับลูกค้าอยู่แล้ว บางรายใช้ทำแบบสอบถามกับลูกค้าด้วย ทำให้รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร และพัฒนาสินค้าหรือบริการออกมาได้อย่างตรงจุด”

ล่าสุด เปิดตัว LON (LINE Official Notification) บริการส่งข้อความทาง LINE OA ที่อาศัยการส่งไปตามเบอร์โทรศัพท์ที่เชื่อมไว้กับบัญชี LINE โดยลูกค้าไม่ต้องเป็นเพื่อนใน LINE OA ของแบรนด์มาก่อน โดยยังเปิดให้ใช้ในกลุ่มคอร์ปอเรตเท่านั้น แต่ก็มองว่าเป็นโซลูชั่นที่ต่อยอดให้เอสเอ็มอีได้

ถอดสูตร SMEs ญี่ปุ่น

นางสาวสุวิดา จิรประเสริฐกุล หัวหน้าฝ่ายธุรกิจเอสเอ็มอี LINE ประเทศไทย กล่าวว่า เอสเอ็มอีในญี่ปุ่นมีการประยุกต์ใช้โซลูชั่นคอมเมิร์ซ และ LINE MINI App เช่น Shinmenya Masumoto ร้านราเม็งสูตรเผ็ดที่ตั้งใจขยายสาขาทั่วญี่ปุ่น ใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมืองตั้งสาขาจากเมืองเล็ก ๆ ค่อย ๆ ขยายเข้ามาในโตเกียว ผ่านการสร้างการรับรู้ และทำให้เกิดการมาทานซ้ำที่ร้าน

“หลังจากตั้งสาขาในโตเกียว ร้านให้ลูกค้าสแกน QR Code ที่เพิ่มเพื่อนใน LINE OA อัตโนมัติ สร้างฐานลูกค้าผ่านการร่วมสนุกกับเกมวงล้อเพื่อรับของรางวัล มีระบบสะสมแต้มเพื่อสร้างฐานลูกค้าประจำ”

พร้อมบรอดแคสต์โปรโมชั่นในเวลาจำกัดเพื่อดึงลูกค้ากลับมา โดยยอดขายจากลูกค้าประจำเฉพาะทาง LINE OA ใน 3 เดือน เป็น 7 แสนเยน จากต้นทุน 4 หมื่นเยน อัตราส่วนความคุ้มค่า 17.5 เท่า

ตัวอย่างที่ 2 Baroque Japan Limited 
เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า 19 แบรนด์ มีช่องทางการขายที่หลากหลายทั้งเว็บไซต์ 
แอปพลิเคชั่น LINE OA และร้านค้ามากกว่า 
650 ร้าน โจทย์คือเพิ่มยอดขาย จำนวนลูกค้าหน้าใหม่ และลูกค้าขาประจำ

ลุยฐานลูกค้าเพิ่มยอดขาย

เริ่มจากการสร้างฐานลูกค้าที่เข้าถึงแบรนด์จากทุกช่องทาง เพราะเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่สนใจสินค้าของแบรนด์จริง ๆ กระตุ้นให้ลูกค้าเพิ่มเพื่อนใน LINE OA หลังเข้าชมเว็บไซต์ และใช้ริชเมนูแสดงข้อมูลบนหน้าแชตตามเซ็กเมนต์ของลูกค้า โดย Messaging API ช่วยจำแนกข้อมูลการใช้งาน จึงส่งโปรโมชั่นให้ผู้ใช้ได้แบบเฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ ยังใช้การส่งข้อความแจ้งเตือนอัตโนมัติ บรอดแคสต์สิ่งที่ต้องการสื่อสารเป็นระยะ เช่น อัพเดตสถานะส่งของอัพเดตสินค้าที่ชอบ และเตือนเมื่อกำลังลดราคา

“โซลูชั่นเหล่านี้ช่วยให้แบรนด์เก็บลูกค้าที่ตกหล่นจากการใช้เว็บไซต์สร้างยอดขายได้ 10 ล้านเยนต่อเดือน โซลูชั่นต่าง ๆ ทำให้ประสบการณ์การซื้อเชื่อมต่อระหว่างโลกออฟไลน์และออนไลน์อย่างลื่นไหล ช่วยให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลต่อยอดธุรกิจ ลดต้นทุน และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน”