“โซนี่” ปักหลักไทยฐานผลิต ขยายลงทุน-จ้างงาน 2 พันตำแหน่ง

sony
ซ้าย สมโชค วุกถ้อง-ขวา ทาเคชิ มัตสึดะ

จากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงกิจการในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board หรือ PCB) โดยเพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุมกิจการสนับสนุนที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานของ PCB ได้แก่ Lamination, Drilling, Plating และ Routing รวมถึงกิจการผลิตวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิต PCB ได้แก่ Copper Clad Laminate (CCL), Flexible CCL (FCCL) และ Prepreg และกิจการผลิตวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นอื่น ๆ สำหรับการผลิต PCB เช่น Dry Film, Transfer Film, Backup Board เป็นต้น

โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อส่งออก และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี ซึ่งจำแนกตามความสำคัญของวัตถุดิบ เทคโนโลยี และขนาดการลงทุน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามผลักดันไทยที่เป็นฐานการผลิตสำคัญของ PCB อยู่แล้ว ให้สามารถช่วงชิงโอกาสในการลงทุนมากขึ้น เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลก ทั้งอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนหน้าใหม่ และสนับสนุนการประกอบธุรกิจของนักลงทุนรายเดิม เช่น โซนี่ (Sony) ยักษ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่น ที่ตั้งฐานการผลิตในไทยมามากกว่า 30 ปี

“โซนี่” พันธมิตรการลงทุน

นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า มูลค่าการลงทุนโดยรวมเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ในปี 2566 ที่ผ่านมา ประมาณ 8 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาไทยเป็นฐานการผลิตในช่วงกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ แต่เชื่อว่าต่อจากนี้จะเห็นฐานการผลิตช่วงต้นน้ำมากขึ้น

“เราเปิดรับการลงทุนจากทุกภาคส่วนโดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนกับไทยมาอย่างต่อเนื่องในหลากหลายอุตสาหกรรม แต่ตอนนี้ก็มีหลาย ๆประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยด้วย และโซนี่ถือเป็นพันธมิตรการลงทุนที่แข็งแกร่งของไทย โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่โซนี่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย BOI สนับสนุนการลงทุนไปกว่า 17 โครงการ มูลค่า 22,000 ล้านบาท คิดเป็นการจ้างงานมากกว่า 8,000 ตำแหน่ง”

อีกทั้งในช่วงเดือน ก.พ. 2567 โซนี่ขยายการลงทุนเพิ่มอีก 1 โครงการ เป็นการผลิตแผงวงจรรวม (Integrated Circuit หรือ IC) พร้อมขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ราว 5,000 ล้านบาท

เปิดอาคารผลิตแห่งใหม่

ล่าสุด โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) หรือ SDT ในเครือโซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลูชั่นส์ เปิดอาคารผลิตแห่งใหม่ชื่อ “อาคาร 4” เป็นโรงงานประกอบเซ็นเซอร์รับภาพ (Image Sensor) สำหรับการใช้งานในยานยนต์ และอุปกรณ์แสดงผลต่าง ๆ ตลอดจนการผลิตอุปกรณ์เลเซอร์ (Laser Diodes) สำหรับนำไปใช้งานภายในศูนย์ข้อมูล (Data Center)

อาคารผลิตแห่งใหม่ เป็นอาคารที่มีความสูง 3 ชั้น และมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 66,370 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ห้องสะอาด (คลีนรูม) 8,800 ตารางเมตร/ชั้น รวมทั้ง 3 ชั้น เป็น 26,400 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในที่ตั้งของ SDT จ.ปทุมธานี ซึ่งมีพื้นที่รวม 137,252 ตารางเมตร โดยใช้งบฯก่อสร้างอาคารราว 2,380 ล้านบาท

นายทาเคชิ มัตสึดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การขยายกำลังการผลิตในครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมต่อแนวโน้มของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของกลุ่มผลิตภัณฑ์เซ็นเซอร์รับภาพ และคาดการณ์ว่าในปี 2578 รายได้จากกลุ่มนี้จะขยายตัวประมาณ 9% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการเซ็นเซอร์รับภาพแบบ CMOS ที่เติบโตตามตลาดสมาร์ทโฟน

“อาคารผลิตแห่งนี้จะเริ่มดำเนินการผลิต กลางปี 2567 ในกลุ่มอุปกรณ์เลเซอร์ที่ใช้บันทึก และอ่านข้อมูลบนฮาร์ดดิสก์แทนหัวเข็มแบบเดิม รองรับการเติบโตของดาต้า และ AI จากนั้นจะค่อย ๆ ขยายการผลิตไปที่เซ็นเซอร์รับภาพในรถยนต์ คาดว่าในปี 2568 จะเดินเครื่องจักรได้เติมกำลังการผลิต ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2,000 ตำแหน่ง ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันเรามีพนักงานอยู่ประมาณ 1,600 คน”

ข้อมูลบนเว็บไซต์ทางการของโซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลูชั่นส์ ระบุว่า การวิจัยและการผลิตในช่วงต้นน้ำจะอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น และกระจายการผลิตไปยังฐานการผลิตด้านเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งพิจารณาจากจุดแข็งของแต่ละประเทศ เช่น อิสราเอลรับผิดชอบการพัฒนาโมเด็มชิป และโซลูชั่นเกี่ยวกับ AI เบลเยียมพัฒนา Time of Flight (TOF) หรือเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับวัดระยะระหว่างเซ็นเซอร์กับวัตถุ ส่วนไทยถือเป็นฐานการประกอบเซ็นเซอร์เพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่นอกประเทศญี่ปุ่น

“ไทย” โดดเด่นปัจจัยหนุนรอบด้าน

นายทาเคชิกล่าวต่อว่า โซนี่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงนโยบายและการส่งเสริมการลงทุนของ BOI รวมถึงไทยยังมีจุดแข็งเรื่องทักษะของแรงงาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา 3 อย่างนี้ไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนหรือประกอบกิจการของเรา

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เซมิคอนดักเตอร์ และเซ็นเซอร์รับภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดมาก เราจึงตัดสินใจขยายกำลังการผลิตในส่วนนี้เพิ่มเติม การมาลงทุนที่ไทยใช้ต้นทุนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เพราะเป็นฐานการผลิตเดิมอยู่แล้ว ทั้งความสามารถของวิศวกรไทยกับญี่ปุ่นก็ไม่ได้ต่างกันเลย”

นายสมโชค วุกถ้อง ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า การขยายฐานการผลิตในไทย มีปัจจัยหนุนหลายอย่าง นอกจากการสนับสนุนของรัฐบาล ยังมีเรื่องภูมิศาสตร์ ความพร้อมของที่ตั้ง สนามบิน และท่าเรือ ซึ่งส่งผลดีต่อระบบโลจิสติกส์

“ด้วยความที่การประกอบเซ็นเซอร์รับภาพยังไม่เป็นระบบอัตโนมัติ จึงจำเป็นต้องใช้แรงงานขั้นสูงในการควบคุมการผลิต ซึ่งแรงงานไทยมีทักษะ และความสามารถที่ตรงกับความต้องการของโซนี่ รวมถึงไทยยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับชาวต่างชาติ มีบริการที่ครอบคลุมสำหรับบริษัทญี่ปุ่น เช่น สภาหอการค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (JCCI) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เป็นต้น”

โอกาสในการเป็นผู้ผลิต “ต้นน้ำ”

นายทาเคชิกล่าวด้วยว่า แม้ในขณะนี้ไทยจะอยู่ในส่วนปลายของการผลิตหรือเป็นฐานการประกอบ แต่มีโอกาสที่จะเป็นฐานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำได้ เพียงแต่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำ และไฟฟ้าที่เสถียร และพร้อมต่อการผลิตมากกว่านี้ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อกระบวนการผลิตทั้งหมด

“ต้นทางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ต้องผลิตในห้องสะอาดตามอุณหภูมิที่กำหนด ไฟฟ้า และแรงดันน้ำต้องมีความเสถียรมาก ๆ ทำให้การผลิตช่วงต้นน้ำยังอยู่แค่ในประเทศญี่ปุ่น แต่เชื่อว่าด้วยศักยภาพของไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นฝีมือแรงงาน และการสนับสนุนของภาครัฐ จึงมีโอกาสที่ไทยจะเป็นต้นน้ำของการผลิตได้”