ลุยปลดล็อกสตาร์ตอัพหนุนโต มุ่ง DeepTech ปั้น “ยูนิคอร์น” สัญชาติไทย

สมาคมเทคสตาร์ตอัพเร่งสปีดหนุน “สร้างคน สร้างคอนเน็กชั่น” หวังปลดล็อกกฎภาครัฐ ร่วมดีไซน์กลไกจูงใจดันสตาร์ตอัพไทยให้เติบโต ย้ำอย่าโฟกัสแต่สร้างแพลตฟอร์มตัวกลาง ต้องต่อยอดสร้างมูลค่า ฟาก “กระทิง” มั่นใจเร็ว ๆ นี้ยูนิคอร์นสัญชาติไทย จี้ต้องเลิกสร้างภาพมุ่งพัฒนา deep tech

นายพณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startups) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเติบโตของวงการสตาร์ตอัพไทยดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในแง่ของจำนวนสตาร์ตอัพและผู้สนับสนุน ทำให้แต่ละการระดมทุนมีมูลค่าสูงขึ้น

“รุ่นพี่ในวงการอย่างบิลค์, อุ๊คบี, วงใน, เคลมดิ, ไพรซ์ซ่า มีทรานแซ็กชั่นดี งบดี เป็นตัวอย่างที่ดี แต่โจทย์สำหรับสตาร์ตอัพใหม่ ๆ คือ จะสร้างวอลุ่มของคุณภาพได้อย่างไร เพราะจะเป็นยูนิคอร์น (มูลค่าบริษัทเกินพันล้านเหรียญสหรัฐ) ได้ต้องสะสมคุณภาพ”

เร่งเพิ่มคน-จับมือรัฐ-ขยายตลาด

สำหรับทิศทางของสมาคม จะผลักดันใน 3 ด้าน คือ 1.เพิ่มจำนวนคนที่เข้าใจในสตาร์ตอัพให้มากขึ้น เช่น จัดกิจกรรม The Pitch ให้สตาร์ตอัพได้มาฝึก ได้โปรโมตกับสภาอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย 2.คุยกับภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อทำความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมที่จะช่วยให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและสตาร์ตอัพ เช่น การแก้กฎหมายประมวลแพ่ง, การทำให้เกิดความโปร่งใส, ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และการวางแผนด้านภาษี

และ 3.ขยายตลาดให้สตาร์ตอัพ โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรม, สภาหอการค้าฯ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและ SMEs หันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไปอุตสาหกรรม 4.0 เพียง 2% และเมื่อผู้ประกอบการใช้ดิจิทัลมากขึ้น จะช่วยให้สตาร์ตอัพเติบโต ซึ่งส่วนนี้ต้องเร่งมือ ไม่เช่นนั้นอนาคตสตาร์ตอัพไทยจะตาย และต่อไป SMEs จะเป็นลูกค้าสตาร์ตอัพต่างชาติหมด

ส่วนการยื่นข้อเสนอของทางสมาคมต่อรัฐบาลนั้น เคยดำเนินการไปตั้งแต่ปี 2557 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จึงหันมาใช้วิธีเข้าไปทำงานร่วมกับภาครัฐแทน เพื่อร่วมกันคิดแทนการยื่นข้อเสนออย่างเดียว ซึ่งหวังจะช่วยให้เกิดกระบวนการปลดล็อกด้านกฎหมายและด้านอื่น ๆ ที่จะผลักดันการเติบโตของสตาร์ตอัพไทยให้เร็วขึ้น

ขณะที่ปัญหาของตลาดสตาร์ตอัพไทยคือ การสนับสนุนสตาร์ตอัพในระดับที่มีแค่ไอเดีย (early stage) ยังมีน้อย เพราะนักลงทุนหรือกองทุน ทั้ง VC (venture capital) และ CVC (corporate venture capital) ไม่กล้ารับความเสี่ยง จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลส่วนนี้ ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้กับ VC หรือกองทุน กล้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศมีทำกันแพร่หลายแล้ว แต่ในไทยยังติดขัดเรื่องกฎระเบียบ

อย่าเป็นแค่ตัวกลาง

“ไม่ได้เน้นว่าต้องแก้กฎหมายฉบับไหนก่อน แต่อยากแก้เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงสร้างหุ้น การปรับไมนด์เซตของภาครัฐที่ยังไม่กล้าเสี่ยง เพราะการลงทุนกับเทคโนโลยีย่อมมีความเสี่ยง และกฎระเบียบที่จะให้ภาครัฐสนับสนุนได้เต็มที่ขึ้น ส่วนภาคเอกชนมีการสนับสนุนดี แต่อาจจะติดที่มุมมอง ในการทำโอเพ่นอินโนเวชั่นที่น้อยไป ถ้าปรับได้จะเกิดประโยชน์กับสตาร์ตอัพและ SMEs ในแง่ของสมาคม มองที่ความท้าทายเรื่องการสื่อสารของคนในวงการมากกว่า เพราะหลายคนเป็นเด็กจบใหม่ ประสบการณ์ในแง่มุมของการทำธุรกิจน้อย ดังนั้นการบอกในสิ่งที่ทำไม่ได้หรือไม่ควรทำ ก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจกัน”

ส่วนปัญหาของสตาร์ตอัพไทยคือ ยังเน้นที่การสร้างแพลตฟอร์มตัวกลาง ซึ่งมีคู่แข่งเยอะ จึงควรหาทางสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้ประโยชน์มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น ทำบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) พร้อมช่วยลดต้นทุน ช่วยทำการตลาดให้ด้วย

“การร่วมกับองค์กรใหญ่เพื่อจะสเกลได้เร็วก็เป็นเรื่องดี แต่อาจจะต้องระวังเรื่องการขโมยไอเดีย ซึ่งอาจไม่ใช่ที่องค์กรหรือผู้บริหาร แต่เป็นตัวบุคลากรที่ต้องการผลงาน อีกอย่างอย่ามุ่งแต่จะแข่งกับสตาร์ตอัพในประเทศกันเอง เพราะสามารถร่วมมือกันได้ ไม่เช่นนั้นต่างประเทศเข้ามาก็ตายกันหมด”

ทิศทางสตาร์ตอัพไทยในปีหน้า เชื่อว่าจะยิ่งดีขึ้นในแง่ของจำนวน แต่โอกาสและคุณภาพอาจจะต้องรอดู เพราะสิ่งที่ยังขาดของสตาร์ตอัพคือ ทีมงาน เพราะบุคลากรไม่พอ และอยากเห็นสตาร์ตอัพไทยโฟกัสด้านการเกษตรและฟู้ดเทคให้มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการบริหารซัพพลายเชน เพื่อช่วยปกป้องอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ

มุ่ง Deep Tech มั่นใจมียูนิคอร์น

ด้านนายกระทิง พูนผล managing partner ของ 500 TukTuks และผู้ก่อตั้งดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ กล่าวว่า วงการสตาร์ตอัพไทยยังเติบโต แต่สิ่งสำคัญที่ตัวสตาร์ตอัพเองต้องเปลี่ยนคือ อย่าใช้เงินเป็นตัวตั้ง แต่ต้องมุ่งไปที่การแก้ปัญหาให้ตอบโจทย์ให้ได้ ด้วยวิธีการที่ดีกว่า ถูกกว่า เร็วกว่า มุ่งที่ deep tech มากขึ้น เลิกเน้นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ใช่เนื้อหาจริง ๆ ของธุรกิจ อาทิ การสร้างสำนักงานให้ดูสวยทันสมัย แต่ต้องมีความกระหายที่จะพัฒนาธุรกิจ กระหายความสำเร็จ ซึ่งยังเป็นจุดที่สตาร์ตอัพไทยด้อยกว่าสตาร์ตอัพในประเทศเพื่อนบ้าน

“ถ้ายังคิดแต่ว่าจะทำแบบนี้ต้องใช้เงินเท่านั้นเท่านี้ แสดงว่ายังคิดไม่พอ เพราะสตาร์ตอัพคือ ต้องหาวิธีที่ดีกว่าเอามาทำให้ได้ ปีหน้าต้องเลิกเน้นเรื่องอิมเมจ แต่ต้องลงมือทำงานอย่างหนักหน่วงและจริงจัง ต้อง go lean, go fast, work hard”

และในเร็ว ๆ นี้เชื่อว่าจะได้เห็นสตาร์ตอัพไทยที่สามารถ exit ได้ด้วยมูลค่าร้อยล้านเหรียญสหรัฐ 3-4 ราย ซึ่งอาจจะเป็นการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือขายกิจการให้นายทุนอื่น

“เทรนด์ที่จะเห็นคือ การที่มีคนเก่ง ๆ เข้ามาในวงการสตาร์ตอัพ เข้ามาปั้นธุรกิจใหม่ ๆ ล้ำ ๆ ขึ้นมา แล้วก็ขายธุรกิจออกไป แล้วก็กลับมาปั้นธุรกิจตัวใหม่ขึ้นมา อย่างที่พี่น้องตระกูลศรีวรกุล ได้ทำมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งการปั้น Ensogo แล้วขายออกไป แล้วนำทุนกลับมาสร้าง aCommerce จะเห็นคนแบบนี้ในไทยมากขึ้น และก็เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้จะได้เห็นยูนิคอร์นสัญชาติไทยด้วย”