เอ็มเฟคขยายธุรกิจไซเบอร์

“เอ็มเฟค” ขยายธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ 3 เท่ารับกระแสองค์กรตื่นตัวภัยไซเบอร์ แถมได้อานิสงส์ พ.ร.บ.ใหม่ พร้อมเดินหน้าช่วยผู้ประกอบการดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม รุก MOU สถาบันพลาสติกช่วยผู้ประกอบการเสริม IOT พลิกโฉมระบบผลิตสู่ยุค 4.0

นายธนกร ชาลี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือเอ็มเฟค เปิดเผยว่า เอ็มเฟคเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีไอทีครบวงจร ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และในปีนี้ตั้งเป้าขยายธุรกิจด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้เพิ่มอีก 3 เท่าจากปีที่แล้ว เพื่อรับความตื่นตัวของลูกค้าองค์กรและผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของระบบไอที ซึ่งเป็นอีกโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบ ยิ่งเมื่อมี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ออกมาบังคับใช้ องค์กรต่างๆ ยิ่งให้ความสำคัญ

“ตอนนี้รับบุคลากรด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ไม่อั้น เป็นไปตามแผนเดิมที่มีอยู่แล้ว พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์จะออกหรือไม่ เรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไอโอที เซ็นเซอร์ คลาวด์ จะเพิ่มเรื่องความมั่นคงเข้าไป ในอุตสาหกรรมไอทีทุกอย่างที่เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น เรื่องความปลอดภัยก็ตามมา เอ็มเฟดถือว่าได้อานิสงส์จากตรงนี้เต็มที่”

ขณะเดียวกันยังมุ่งช่วยผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพื่อรับมือกับดิจิทัลดิสรัปชั่น โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับสถาบันพลาสติก ยกระดับผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมพลาสติกให้ทันสมัยมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยผู้ประกอบการ ปรับเครื่องจักรที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัยขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนซื้อใหม่

“ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติก แต่ละรายมีเครื่องจักรกว่า 100 เครื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้งานมานาน โดยจะเข้าไปพัฒนาระบบ ติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ IOT และแพลตฟอร์มเข้ากับเครื่องจักร เพื่อดึงข้อมูล จัดเก็บ และจัดเรียงข้อมูล เพื่อใช้วิเคราะห์ปัญหา พัฒนากระบวนการผลิต และลดต้นทุน จะใช้เวลาราว 1-2 เดือน นำร่องแล้ว 2 โรงงาน”

นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมพลาสติกมีมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท เติบโตทุกปี แต่ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาโตไม่มากด้วยภาวะเศรษฐกิจ ทั้งมีกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้เริ่มปรับตัวไปใช้ไบโอพลาสติกมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในไทยราว 3,000 ราย กว่า 80% เป็น SMEs ผลิตแบบเน้นปริมาณ ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ จึงเริ่มขาดแคลนแรงงาน

“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมพลาสติกไม่ได้ก้าวเข้าสู่ดิจิทัลมากนัก การร่วมมือในครั้งนี้จะเริ่มจากทำเครื่องจักรเก่าเป็นดิจิทัล ในเฟสแรก เริ่มจากเรื่องการมอนิเตอร์ ติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ให้โรงงาน เก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ สามารถลดจำนวนแรงงานได้ระดับหนึ่ง ส่วนเฟสที่สอง คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 1 ปี จะเป็นรูปแบบการเก็บข้อมูลดาต้ามาวิเคราะห์ เพื่อคาดการณ์การซ่อมบำรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”