ตีแผ่สตาร์ตอัพ-นโยบายรัฐ ผ่านมุมมอง VC แถวหน้า

ปัจจุบันจำนวน “สตาร์ตอัพ” และกองทุน Venture Capital : VC ที่พร้อมจะร่วมลงทุนในสตาร์ตอัพ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก Golden Gate Ventures คืออีกกลุ่มบริษัททุนรายใหญ่ที่พร้อมร่วมทุนกับสตาร์ตอัพในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพ “ดีแทค แอคเซอเลอเรท ปี 5” ได้เชิญ “เจฟฟรี เพย์น” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลงทุนนี้มาแจกแจงสเป็กของสตาร์ตอัพ และปัจจัยที่จะดึงดูดให้นักลงทุนนำเงินมาร่วมทุนด้วย พร้อมเชิญ “กิตตินันท์ อนุพันธ์” ผู้ก่อตั้ง Claim Di ซอฟต์แวร์ปฏิวัติวงการประกันภัย อีกสตาร์ตอัพที่ Golden Gate Ventures ลงทุนในระดับ Seed และ Series A มาร่วมกันเปิดมุมมอง

โดย “เจฟฟรี เพย์น” เปิดเผยว่า Golden Gate Ventures เตรียมเงินกว่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,980 ล้านบาท) ในสตาร์ตอัพที่น่าสนใจในเอเชียและอาเซียน และได้ร่วมลงทุนไปแล้ว กว่า 30 ราย โดยในประเทศไทยลงทุนไปแล้ว 6 ราย วงเงินราว 4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 132 ล้านบาท) และยังคงมองหาสตาร์ตอัพที่น่าสนใจเข้าร่วมลงทุนด้วย ทั้งในระดับการลงทุนซีรีส์ A ซึ่งมีมูลค่าตั้ง 250,000 เหรียญสหรัฐ ถึง 2 ล้านเหรียญต่อบริษัท

เฮลท์แคร์-บล็อกเชน-AI มาแรง

และสำหรับรูปแบบโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจในขณะนี้คือ สตาร์ตอัพที่คิดนวัตกรรมธุรกิจสำหรับกลุ่ม B2C (ธุรกิจกับผู้บริโภค) เนื่องจากมีขนาดตลาดที่ใหญ่และดึงดูดเงินทุนได้มากกว่าโมเดลแบบ B2B (ธุรกิจกับธุรกิจ) ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องฐานลูกค้าที่จะใช้งาน ทำให้เติบโตได้จำกัดไปด้วย

“การร่วมลงทุนในปีนี้เริ่มเปลี่ยนโฟกัสจากฟินเทค, โมบาย อินชัวร์เทค มาเป็นกลุ่มสตาร์ตอัพที่เจาะด้านการศึกษา, มีเดียเอ็นเตอร์เทนเมนต์และเฮลท์แคร์ ที่มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น เป็นการเปลี่ยนตามเทรนด์ ก่อนหน้านี้มองว่า IoT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) น่าจะมาแรง แต่ตอนนี้กระแสก็ซาไปแล้ว ขณะที่บล็อกเชน AI (ปัญญาประดิษฐ์) เริ่มเห็นศักยภาพในการเติบโต โฟกัสก็ต้องปรับ”

Advertisment

ส่วนการเลือกว่าสตาร์ตอัพรายใดเหมาะเข้าไปร่วมลงทุนด้วย “เจฟฟรี” ระบุว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ทีมงาน” สามารถทำงานเป็นทีมได้ดีหรือไม่ พร้อมเปิดรับคำแนะนำและปรับปรุงหรือเป็นคนที่ทำงานด้วยยาก แต่ยังต้องคงความเป็นตัวเอง มีความจริงใจของสตาร์ตอัพที่จะเข้าร่วมลงทุนด้วย รองลงมาคือขนาดของตลาดเป้าหมายมีขนาดใหญ่พอที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ โมเดลธุรกิจมีโอกาสถูกลอกเลียนแบบได้มากแค่ไหน

“หัวใจสำคัญอันดับ 1 คือ ทีม ต้องพูดจริงทำจริงได้ โค้ชได้ ยินดีรับฟังความเห็น มีความดุดันในการทำธุรกิจ มีความเป็นมืออาชีพ รองลงมาคือขนาดของตลาดเป้าหมาย รายได้จากธุรกิจมาจากไหน เติบโตได้แค่ไหน มูลค่าของธุรกิจขึ้นอยู่กับอะไร กำไรหรือลูกค้า ต้องใช้เงินมากแค่ไหน เพื่อประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน รวมถึงดูไปทั้งห่วงโซ่ว่า มีนักลงทุนสนใจจะเข้าลงทุนในธุรกิจแบบนี้มากน้อยแค่ไหน หากลงทุนในเบื้องต้นไปแล้ว มีนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนเพิ่มในระดับต่อไปด้วยหรือไม่ หากมีก็เป็นธุรกิจที่น่าสนใจจะลงทุนด้วย และยังต้องดูว่า การจะ exit ของนักลงทุนมีโอกาสออกไปในรูปแบบไหนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการขายบริษัทให้คนอื่น หรือนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ถ้าเทียบแล้วมีทุกอย่างเหมือนกันหมด ปัจจัยชี้ขาดคือ การลงทุนในเวลาที่ใช่ที่สุด ไม่เร็วหรือช้ากว่าตลาดจนเกินไป”

“ภาษา” จุดอ่อนสำคัญ

ขณะที่สตาร์ตอัพไทยมีความแตกต่างจากสตาร์ตอัพในประเทศอื่น คือมีความเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งภายในทีมและกับทีมอื่น ๆ เป็นการสร้างคอมมิวนิตี้ให้แวดวงสตาร์ตอัพ รวมทั้งบริษัทใหญ่ ๆ ในทุกอุตสาหกรรมพร้อมให้การสนับสนุนสตาร์ตอัพ แต่ยังมีจุดอ่อนคือความทะเยอทะยาน จุดนี้ก็จะคล้ายกับสตาร์ตอัพในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่มองตลาดในประเทศตัวเองเป็นหลัก ต่างกับสตาร์ตอัพในมาเลเซียและสิงคโปร์ที่จะมุ่งทำตลาดนอกประเทศ

Advertisment

“สตาร์ตอัพไทยจะไม่ได้มองในตลาดใหญ่ตลาดระดับโลกตั้งแต่แรก เข้าใจว่าเป็นด้านวัฒนธรรม จึงต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ รวมถึงปัญหาด้านภาษาอังกฤษ ที่เป็นกำแพงกั้นความสำเร็จในระดับโลกของคนไทยด้วย ในช่วง 2-3 ปีก่อน เขาเข้ามาในไทยทุกครั้งต้องพาล่ามมาด้วย แม้ตอนนี้จะดีขึ้นแต่ก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่”

ส่วนสัญญาณที่ดีของสตาร์ตอัพไทยในตอนนี้คือ มีเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้ามามากขึ้น ทั้งจากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ นักลงทุนจากจีนก็เริ่มสนใจประเทศไทย ทำให้ง่ายขึ้นที่สตาร์ตอัพจะเริ่มต้นทำธุรกิจและเติบโตได้เร็ว แต่ในทางกลับกันก็ทำให้สตาร์ตอัพมีคู่แข่งมากขึ้น หากไม่แข็งแกร่ง ไม่พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ก็ไม่สามารถอยู่รอดและเติบโตได้

กม.ไม่เอื้อ รัฐยังหนุนไม่ถูกจุด

ส่วนปัญหาด้านข้อกฎหมายในไทยที่มักถูกระบุว่า ยังไม่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ “เจฟฟรี เพย์น” ยืนยันว่า เป็นความจริง กฎระเบียบของสิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย เอื้อต่อนักลงทุนมากกว่า อย่างในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับเพียงพอหากผู้ก่อตั้งหรือผู้ร่วมทุนของสตาร์ตอัพอยากจะถอนหุ้นออกมาขณะที่การผลักดันการสร้างดิจิทัลพาร์กของภาครัฐ มองว่าไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพ

ด้าน “กิตตินันท์ อนุพันธ์” ผู้ก่อตั้ง Claim Di กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนกับสตาร์ตอัพไทยเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่จะมาในระดับที่ต่ำกว่าซีรีส์ B คือต่ำกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะกังวลเรื่องข้อกฎหมาย

“การลงทุนระดับซีรีส์ B เป็นเงินก้อนใหญ่ ถ้ายังเปลี่ยนหุ้นบุริมสิทธิให้เป็นหุ้นสามัญภายในคืนเดียวไม่ได้ การออกหุ้น ESOP (Employee Stock Options : สิทธิให้พนักงานซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด) ก็ทำไม่ได้ การแปลงเงินกู้ให้เป็นทุนก็ทำไม่ได้ ทั้ง 3 ข้อนี้จะทำได้เฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเท่านั้น แล้วถ้านักลงทุนหรือผู้ก่อตั้งจะ exit ออกก็ต้องเสียภาษีจากการขายหุ้นทันที 35% มันไม่จูงใจ ขณะที่ในโลกใคร ๆ ก็ทำได้ นักลงทุนจึงลากสตาร์ตอัพไทยไปจดทะเบียนในสิงคโปร์ หรือมาเลเซียแทน เพราะใช้กลไกเหมือนเป็นบริษัทในตลาดหุ้น คือเสียภาษีในการ exit 0%”

ขณะที่นโยบายส่งเสริมสตาร์ตอัพของภาครัฐในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสในวงการสตาร์ตอัพมาก แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดอยู่มาก รัฐบาลสนับสนุนไม่ถูกทาง หากต้องการให้สตาร์ตอัพเติบโตจริง ๆ เพราะเมื่อมีการประกาศนโยบายสนับสนุน แต่ยังมีความเข้าใจผิดในความเป็นสตาร์ตอัพ การปฏิบัติจึงผิดทางไปด้วย ทั้งยังไม่มีการวางแผนในภาพรวมที่มีวิธีการและเป้าหมายที่ชัดเจน

“กฎหมายเป็นเรื่องหลัก รองมาคือการทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันอย่างถูกทาง อย่างปัจจุบันการจะมุ่งไปแซนด์บอกซ์ ก็เข้าใจกันไปคนละทาง ทั้ง ๆ ที่ควรเข้าใจความหมายให้ตรงกันก่อน เพื่อพาไปสู่เป้าหมายเดียวกัน หากไม่เข้าใจก็จะไม่สามารถออกกฎได้ถูกทาง ไม่รู้ว่าทำไปทำไม”

ขณะที่ปัญหาในฝั่งสตาร์ตอัพเอง ที่มักเจอคือไม่เข้าใจในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ไม่เข้าใจลูกค้า ไม่เข้าใจตลาดของตัวเอง เมื่อไม่เข้าใจ นักลงทุนก็ไม่อยากจะคุยด้วย แม้ว่าสตาร์ตอัพไทยที่มีศักยภาพสูงจะมีอยู่มาก แต่ก็มีกลุ่มที่ยังไม่มีความขยัน ความหลงใหลในการทำธุรกิจ ไม่มีความพยายามเพียงพอ

“สตาร์ตอัพต้องรู้จักประเมินตัวเอง ต้องรู้จักตัวเองก่อนที่จะเติบโต โมเดลธุรกิจจะต้องทำให้เห็นการเติบโตได้ในทุกระยะ โดยมีการตรวจจับวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม ถ้าชัดเจนนักลงทุนก็สนใจ ขณะเดียวกันหากไม่มีใครรู้จักเลยว่า คุณกำลังทำอะไรอยู่ ก็ไม่มีใครเข้ามาลงทุนกับคุณ ดังนั้นการออกไป pitch งานในต่างประเทศให้บ่อย จะทำให้เป็นที่รู้จักและได้ออกไปดูโลกภายนอกว่าธุรกิจอย่างเรา เขาทำอะไรไปถึงไหนแล้ว แล้วเราอยู่ตรงจุดไหน ตกยุคไปแล้วหรือไม่”