“Culture-Passion” สเกลอัพไวแตะพันล้านแบบ “Taboola”

สัมภาษณ์

แม้ Google-Facebook จะครองตลาดโฆษณาออนไลน์ แต่ “Taboola” ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแนะนำคอนเทนต์รายใหญ่ (content recommendation) ที่แต่ละเดือนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกว่า 1.4 พันล้านคนคลิกเข้าใช้งาน และปีล่าสุดมีรายได้เฉียดพันล้านเหรียญสหรัฐ “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “อดัม ซิงโกลด้า” นักเปียโนที่เป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จนกลายเป็นสตาร์ตอัพแถวหน้าของอิสราเอล และของโลก ที่ย้ำเสมอบนเวทีระดับโลกว่า “มันไม่สำคัญว่าใครมาก่อนมาหลัง แต่สำคัญว่าใครทำได้ดีที่สุด”

Q : คอนเทนต์ต้องเลือกคนดู คือจุดเริ่มต้น

จุดเริ่มต้นของ “ทาบูล่า” เมื่อ 11 ปีก่อน ที่เกิดขึ้น เพราะผมไม่รู้ว่าจะดูอะไรในทีวี ก็เลยคิดว่าทีวีควรเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะกับคนที่ดู จนเกิดแนวคิด “search in reverse” เพื่อเสนอแนะสิ่งที่คนนั้น ๆ สนใจบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคค้นพบแบรนด์ใหม่ ๆ หรือแบรนด์ที่คนไม่รู้จักและได้พัฒนาจนปัจจุบันให้บริการรองรับถึง 34 ภาษา และได้จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับมีเดียพันธมิตรกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ขณะโฆษณาบนแบนเนอร์แบบเดิม ๆ แทบจะไม่มีคนคลิกแล้ว ตอนนี้ทาบูล่ามีสำนักงาน 18 แห่งทั่วโลก พนักงาน 1,200 คน แบ่งเป็น ทีมพัฒนากว่า 500 คน และมีแผนที่จะเพิ่มคนปีละ 500-600 คนทุกปี ปีนี้น่าจะมีรายได้เกิน 1 พันล้านเหรียญ

Q : โซเชียลมีเดียครองโลกโฆษณา

Advertisment

มีคนเคยประเมินว่า 5-10 ปี โซเชียลจะครองโลกโฆษณา ซึ่งทาบูล่ายินดีจะแข่งขัน แต่รูปแบบของเราเป็นสื่อแบบ recommendation ให้ในสิ่งที่ผู้อ่านต้องการ ไม่ใช่แบบกูเกิลที่เป็นเสิร์ช หรือโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กที่เน้นการบอกปากต่อปาก โดยเรานำคอนเทนต์จากสื่อต่าง ๆ มาเสิร์ฟให้คนดู ฉะนั้น ถ้าสื่อโต เราก็โตไปด้วยกันทุกวันนี้ เจ้าของสื่อ สำนักข่าว พึ่งพาแค่รายใดรายหนึ่งไม่ได้ ต้องยืนหลาย ๆ ขา เพราะอย่างถ้าเฟซบุ๊กเปลี่ยนอัลกอริทึ่ม หรือเปลี่ยนเรตเงินโฆษณาก็ได้รับผลกระทบ แต่ทาบูล่าคงไม่ได้ไปแข่งกับบริษัทที่มีรายได้หลายหมื่นล้านเหรียญอย่างกูเกิล และเฟซบุ๊ก แต่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ทำสื่อออนไลน์ โดยที่ผ่านมาได้ทำรายได้ให้กับพาร์ตเนอร์ 50-100% ส่วนการทำในรูปแบบซับสคริปชั่น มองว่าสื่อนั้นต้องเจ๋งจริง ๆ เช่น นิวยอร์กไทม์ ถึงทำได้

Q : ยืนยันไม่รุกล้ำข้อมูลส่วนตัว

แม้ช่วงนี้จะมีการพูดถึงกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่าง GDPR แต่รับรองว่า ทาบูล่าไม่มีการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล เพราะเรามีอัลกอริทึ่มที่เจ๋ง และเสิร์ฟคอนเทนต์ให้จากข้อมูลการใช้งาน โดยไม่สนใจว่าเขาคือใคร แต่จะจับคู่คอนเทนต์ที่เหมาะสมให้ ไม่ว่าจะเป็นบทความ วิดีโอ และคอนเทนต์ออนไลน์อื่น ๆ โดยวิเคราะห์จาก Cookies พิกัด ประเภทอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อ แหล่งอ้างอิง เทรนด์บนสื่อออนไลน์ ที่สำคัญ ทาบูล่าไม่ต้องล็อกอินจึงไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนตัว

Q : ไทยศูนย์กลางเอเชีย-แปซิฟิก

Advertisment

เราตั้งสำนักงานในกรุงเทพฯมา 6 ปีแล้ว ตอนนี้มีทีมงาน 90 คน จาก 15 สัญชาติ วางแผนเพิ่มเป็น 200 คน ถือเป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพราะอาเซียนมีศักยภาพสูงมาก มีการเติบโตด้านดิจิทัลสูง มีผู้ใช้เน็ตเพิ่มหลายรายทุกปี หลายประเทศมีประชากรคนรุ่นใหม่ที่เป็นวัยดิจิทัลอยู่มาก เฉพาะในเอเชีย-แปซิฟิก ทาบูล่ามีรายได้เติบโตเกือบ 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา ตลาดสำคัญ คือ อินเดีย ออสเตรเลีย และไทย

ไทยเป็นตลาดสำคัญของเรา เพราะกว่า 70% เข้าถึงเน็ตแล้ว และใช้สมาร์ทโฟนเป็นหลัก คนไทย 8 ใน 10 คน เห็นทาบูล่าทุกเดือน จึงเป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้ใช้ฟีเจอร์ใหม่ เช่น Feed ที่ทาบูล่าจะติดชุดคำสั่งที่เว็บไซต์พาร์ตเนอร์แล้วทำแคมเปญให้ โดยพาร์ตเนอร์ในไทยมีกว่า 80% ของสื่อออนไลน์ โดย 9 ใน 10 ของเว็บยอดนิยม ติดตั้งทาบูล่าในเว็บไซต์ทั้งหมด โดยไม่ได้ปิดกั้นว่าต้องเป็นรายเล็กรายใหม่ พร้อมเป็นพาร์ตเนอร์ได้หมด เราเคยมีพาร์ตเนอร์ที่มีทราฟฟิกหลักหมื่นจนเพิ่มเป็นหลักล้านก็มี โดยประเภทธุรกิจหลัก ๆ ที่ลงโฆษณากับทาบูล่ามากสุด คือ รถยนต์ อสังหาฯ และความงาม

Q : ความท้าทาย 3 ปีจากนี้

พาร์ตเนอร์เราจะไม่ใช่แค่พับลิชเชอร์ แต่เป็นเครือข่ายมือถือที่มองไว้ ล่าสุดได้ทำฟีเจอร์ใหม่ “Taboola News” ที่ร่วมกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่าง Huawei และ Vivo ที่ติดตั้งระบบในเครื่อง แค่เลื่อนหน้าจอไปทางซ้ายก็ใช้งานทาบูล่าได้ แล้วก็กำลังคุยกับ ZTE และ Sony ด้วย เชื่อว่าต่อไปจะมีดีไวซ์กว่า 1,000 ล้านเครื่อง ที่มี Taboola News มาให้ในเครื่องเลย และมีแผนจะขยายไปแนะนำคอนเทนต์บนอุปกรณ์อื่นอีก เช่น รถอัตโนมัติ ตู้เย็นด้วย

ส่วนความท้าทายของทาลูบ่าเอง คือ การคงวัฒนธรรมองค์กรของเราไว้ ยังรักษาความสดใหม่ของการเป็นสตาร์ตอัพที่เติบโตได้รวดเร็วได้เหมือนเดิม คือจะสเกลอัพธุรกิจให้เร็ว จะทำอย่างไรให้ passion ยังอยู่ ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะ copy เลียนแบบอะไรก็ได้ สินค้า แบรนด์ แต่ไม่สามารถเลียนแบบวัฒนธรรม หรือ passion ขององค์กรได้

Q : หัวใจสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

เราเป็นสตาร์ตอัพจากอิสราเอล ซึ่งคล้ายกับกรุงเทพฯ ในแง่การเปิดรับความหลากหลาย แต่สิ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ คือ โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งต้องมีความพยายามและอดทน