Waze แอปแผนที่ ที่มี “คน” เป็นศูนย์กลาง

คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

เวลาไปไหนเรามักเปิดแผนที่บนมือถือดูโดยอัตโนมัติ ต่อให้พาเข้ารกเข้าพง ก็ก้มหน้าก้มตาเลี้ยวตามสั่ง เดี๋ยวนี้แอปแผนที่มีหลายตัว แต่ที่อัพเดตและขับเคลื่อนโดย “ชุมชน” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อว่า Waze

Waze เริ่มจากสตาร์ตอัพเล็ก ๆ ในอิสราเอล ราวปี 2006 ก่อนไอโฟนมี GPS และก่อนที่โทรศัพท์แอนดรอยด์จะวางตลาด โดยการรวมตัวของโปรแกรมเมอร์ที่อยากสร้างแผนที่ดิจิทัล กรุงเทลอาวีฟที่ติดอันดับเมืองที่มีการจราจรเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่ง

ด้วยงบฯจำกัด นอกจากจะ track เส้นทางผ่านมือถือของผู้ใช้ บวกกับดึงข้อมูลบางส่วนจากภาครัฐแล้ว ทีมงานต้องหาทางอาศัยชาวบ้านที่ใช้รถใช้ถนนทุกวันเป็น “กำลังหลัก” ในการอัพเดตรายละเอียดอื่น ๆ

ในที่สุดก็พัฒนา Waze Map Editors ขึ้นมาเป็นเครื่องมือให้ผู้ใช้รายงานการจราจรและอัพเดตข้อมูลบนแผนที่แบบเรียลไทม์ได้ ทำให้ Waze เป็นแอปแผนที่ “โดยชุมชน” และ “เพื่อชุมชน” อย่างแท้จริง ไม่ว่าที่ไหนน้ำท่วม ปิดถนน มีอุบัติเหตุ มีประท้วง แม้กระทั่งปั๊มไหนราคาถูกกว่า หรือค่าทางด่วนแต่ละด่านราคาเท่าไหร่ ชาวบ้านจะอัพเดตเข้ามา

การเป็นทั้ง “แผนที่” และ “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” ทำให้ Waze ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนมีกองทัพชาว Wazers คอยอัพเดตข้อมูลทั่วโลก

ปี 2013 มียอดดาวน์โหลด 50 ล้านครั้ง คว้ารางวัล The Best Overall Mobile App จาก GSM Association ในงาน Mobile World Congress ออร่าจับจน Google ขอซื้อถึง 966 ล้านเหรียญ หลังปิดดีลพนักงาน 100 คน ได้เงินรางวัลเฉลี่ยคนละ 1.2 ล้านเหรียญ ถือเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดที่เคยจ่ายให้พนักงานในวงการเทคเลยทีเดียว

วันนี้ Waze ยังมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองเทลอาวีฟ และมีอิสระในการบริหารงาน ปัจจุบัน Waze มีสมาชิกผู้ใช้งาน 130 ล้านคน และมี Waze Map Editors กว่า 3 แสนคนที่อาสาทำงานให้ด้วย “ใจ” เพราะไม่ได้เงินสักบาทจากการอัพเดตข้อมูลวันละหลายชั่วโมง

เหตุที่เหล่าอาสาทุ่มเทขนาดนี้น่าจะมาจากการอยากช่วยเหลือชุมชนและความรู้สึกเป็น “เจ้าของ” แผนที่นี้ร่วมกัน ยิ่งเมื่อหลายชุมชนกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว ความเป็น “เจ้าบ้าน” ก็ยิ่งอยากทำให้คนต่างถิ่นประทับใจและเดินทางในชุมชนได้สะดวกปลอดภัย

อีกเหตุผลคงมาจากความ “ท้าทาย” ในการไต่อันดับขึ้นครองความเป็นสุดยอดeditors ที่ต้องฟันฝ่ามิใช่น้อย

ในโลกของ Waze นั้น editors จะแบ่งเป็น 6 เลเวล ยิ่งเลเวลสูงยิ่งมีสิทธิ์ในการแก้ไขพื้นที่กว้างขึ้น หากอยากอัพเลเวลต้องหมั่นสะสมคะแนนการ edit ใครสะสมได้ถึง 2.5 แสนครั้งจะได้เป็น expert editors (เลเวล 5) จ่อขึ้นตำแหน่งแชมป์ระดับประเทศและแชมป์ระดับโลกต่อไป

แต่จะเป็น “แชมป์” แค่มีแต้มอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีผลงานด้านอื่นเป็นที่ประจักษ์ด้วย เช่น ช่วยออกกฎระเบียบดูแลสมาชิก ขยันขันแข็งในการตอบคำถามในเว็บบอร์ด ไปจนถึงช่วยเป็น mentors ให้ editors รุ่นใหม่ อีกทั้งต้องได้รับการเสนอชื่อจากแชมป์รุ่นปัจจุบันเพื่อให้คณะผู้บริหารตัดสินอีกขั้นหนึ่งถึงจะคว้าตำแหน่งแชมป์มาครองได้

สิทธิพิเศษของแชมป์ คือการได้รับเชิญให้ไปร่วมประชุมระดับท้องถิ่น (ในประเทศ) และระดับโลกที่สำนักงานใหญ่ของ Waze เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับแชมป์คนอื่น ๆ รวมทั้งช่วยเสนอไอเดียให้ผู้บริหารนำไปพัฒนาบริการต่าง ๆ

หลายคนคงคิดไม่ออกว่าการไปประชุมดีงามหรือน่าสนุกตรงไหน แต่สำหรับอาสาสมัครเหล่านี้หมายถึงเกียรติและการเป็นที่ยอมรับในสังคม จะว่าไป Waze เป็นเหมือนเมืองในฝันที่มี “พลเมือง” ที่มี “จิตอาสา” ปวารณาตัวเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนชุมชนแบบไม่หวังเงินทอง

ตอนที่ Waze ปล่อยเวอร์ชั่นล่าสุดออกมา มีคนอาสาช่วยแปลได้ถึง 30 ภาษา ภายใน 24 ชม.

มีคนเปรียบ Waze กับ Wikipedia เพราะใช้ crowd-sourced editing เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ Waze มุ่งหากำไร รายได้ของ Waze มาจากเงินโฆษณาจากบรรดาห้างร้านที่ปรากฏตัวบนแผนที่ ถึง Google จะไม่ประกาศตัวเลข แต่ดูจากฐานผู้ใช้งานก็พอเดาได้ว่ารายได้ของ Waze คงไม่น้อย

ข้อด้อยของ Waze คือ มี coverage ไม่ครอบคลุมเท่าแอปใหญ่ ๆ เพราะต้องอาศัยความพร้อมของชุมชนเป็นหลักในการอัพเดตข้อมูล แต่หากมองในแง่การสร้าง engagement และ loyalty ถือว่าทำได้ดีจนแบรนด์ระดับโลกยังต้องอิจฉา เพราะจะมีสักกี่บริษัทที่ทำให้ “ผู้ใช้” กลายเป็น “อาสาสมัคร” ช่วยทำงานให้แบบไม่คิดเงิน Waze จึงน่าจะเป็นแอปที่มี “human touch” สูงสุดตัวหนึ่ง และการมี “คน” เป็นศูนย์กลางนี่เองทำให้ Waze กลายเป็นแผนที่ที่ “มีชีวิต” และเติบโตได้ด้วยพลังของชุมชนอย่างแท้จริง