ทันทุกมุข ก่อนเป็นเหยื่อ ชำแหละกลโกง “คริปโทเคอร์เรนซี่”

การพุ่งทะยานของค่าเงิน “บิตคอยน์” ได้ทำให้ความสนใจลงทุนในเงินดิจิทัล และ “คริปโทเคอร์เรนซี” เป็นที่สนใจของผู้คนในสังคม แต่ขณะเดียวกันก็กลายเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพหลอกลวงด้วยอ้างว่าเป็นการลงทุนในคริปโทฯ ในงาน Blockchain Thailand Genesis 2019 จึงเปิดเวทีเสวนา “ชำแหละกลโกง ที่ทุกคนต้องรู้ก่อนลงทุนคริปโทฯ !”

พ.ต.ท.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ นักวิชาการด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า “แชร์ลูกโซ่” ไม่มีบัญญัติไว้ตามกฎหมาย แต่ใช้กฎหมายอาญาและกฎหมายหลาย ๆ ฉบับมาประกอบกัน ทั้งฉ้อโกงประชาชน การกู้เงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ถ้ามีสินค้าขายตรงเข้ามาเกี่ยวข้องก็จะเป็น พ.ร.บ.ขายตรง ฯลฯ แต่เร็ว ๆ นี้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่โดยตรงออกมา

“แชร์ลูกโซ่-ขายตรง”

เส้นบาง ๆ ที่กั้นระหว่างธุรกิจขายตรง (MLM) กับแชร์ลูกโซ่ คือ MLM จ่ายเงินให้สมาชิกเยอะได้ด้วยการซื้อสินค้า แต่แชร์ลูกโซ่ใช้เงินของคนใหม่มาจ่ายคนเก่า อย่างกรณีของ “ยูฟันด์” ที่ถูกจับกุมเมื่อ 4 ปีก่อน ได้จดทะเบียนธุรกิจขายตรง มี 3 ผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าในธุรกิจ แต่ไม่เคยมีการผลิตสินค้าออกมาขายเลย หรือกรณีมีสินค้าจริงแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการขาย เน้นแต่ให้ชวนคนมาสมัครเป็นสมาชิก เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมาก ๆ แบบนี้ก็ชัดเจนว่าเป็นแชร์ลูกโซ่

เปิดกลโกงเงินดิจิทัล

ด้าน “พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว” CEO Blockchain Review กล่าวว่า เงินดิจิทัลเป็นของใหม่ที่ฟังแล้วดูดี ดูน่าตื่นเต้น แต่เงินดิจิทัลก็เหมือนบริษัท ที่ไม่ใช่ทุกแห่งจะผลประกอบการดี

“กลโกงแรกที่กำลังฮิต คือ เชิญชวนมาลงทุนด้วยกันแล้วเราจะให้ AI ให้ robot มาช่วยวิเคราะห์และบริหารเงินให้ ซึ่งจริง ๆ AI robot trade มีจริง แต่จะไม่มีการการันตีผลตอบแทน ที่สำคัญคือเงินนั้น คุณจะต้องควบคุมเองได้ เพียงแต่ให้สิทธิ์ AI เข้ามาเทรด”

“นันทวัจน์ เหลืองอรุณ” นักจิตบำบัด นักลงทุนอิสระ และเจ้าของเพจ “ลิงรู้เรื่อง” กล่าวว่า อีกกลโกงที่มักใช้กัน คือ “คริปโทฯของเราพร้อมใช้งานได้กับร้านค้าหมื่นกว่าแห่งทั่วโลก” แต่สิ่งที่สำคัญผิดไป คือ “ซัพพลายเหรียญนั้นมีอยู่เท่าไร” เพราะเป็นเรื่องที่เหมือนทรัพย์สินทั่วไปที่ต้องมี “ดีมานด์-ซัพพลาย”

“แม้เหรียญจะใช้งานได้ในร้านค้าทั่วไปได้ แต่ถ้าสิ่งนั้นถูกผลิตได้ง่าย ราคาของเหรียญก็จะตกลง เป็นภาวะเงินเฟ้อ ยิ่งถ้ามีไม่จำกัด ยิ่งแทบไม่มีราคา เพราะผลิตใหม่ได้เรื่อย ๆ ฉะนั้นก่อนจะมองไปที่กำไร อยากให้กลัวเสียตังค์ก่อน ไมนด์เซตที่ถูกต้อง คือก่อนจะมองว่า จะได้กำไรกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องคิดก่อนว่า ทำอย่างไรจะไม่เสียเงินต้น”

เราจะชนะบิตคอยน์

อีกข้ออ้างที่นิยม คือ “เราจะชนะบิตคอยน์” นั่นหมายถึงต้องมีมูลค่า 7.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมักอ้างว่าเป็นเพย์เมนต์เกตเวย์ บริษัทที่จะใหญ่ได้ขนาดนั้นต้องเป็น “อาลีเพย์” ต้องใหญ่ระดับบริษัทพวกนี้ แล้วคิดว่าบริษัทที่เพิ่งตั้ง เหรียญที่เพิ่งเกิด จะใหญ่กว่าเป็นไปได้อย่างไร ฉะนั้น อยากให้ลองตีมูลค่าก่อน เวลามีใครชวนลงทุน

อีกข้ออ้างคือ เป็นการ “ลงทุนนอกตลาด” แม้กฎหมายไทยไม่รองรับ แต่ถูกกฎหมายในประเทศอื่น เพื่อสร้าง story ให้ดูดี

“ก่อนจะลงทุนอะไรพวกนี้ ผมเคยเช็กกับเพื่อนถึงขั้นบินต่างประเทศไปดูออฟฟิศ ไปขอคุยกับผู้บริหาร แต่สุดท้ายก็ยังโดนโกง ต้องจำไว้ ถ้ากฎหมายไทยไม่รับรองแล้ว เมื่อเวลาเปลี่ยนไปจะไปตามเงินกับใคร”

“พีรพัฒน์” กล่าวอีกว่า หลอกขุดบิตคอยน์ หรือขุดบิตคอยน์เสมือน (การเช่าเครื่องขุดบิตคอยน์) ก็เป็นอีกหนึ่งกลลวงที่ถูกหยิบมาใช้ แม้ว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจที่มีอยู่จริง แต่ส่วนใหญ่จะเอนไปทางหลอกลวงมากกว่า เพราะยากจะพิสูจน์ว่าขุดจริงหรือ แค่เอาเงินไปหมุนก่อน

“การขุดบิตคอยน์เมื่อ 2 ปีก่อนมา ผมเคยทั้งขุดและทั้งเช่า มันได้ผลตอบแทนกลับมาจริง แต่ตอนนั้นเป็นช่วงตลาดเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น ถือเป็นบลูโอเชียนที่ทำกำไรได้จริง แต่ปัจจุบันตลาดไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เป็นเรดโอเชียนที่ดุเดือด เพราะทุกคนแห่เข้ามาหมด แล้วยังขึ้นอยู่กับว่า คุณจะได้ต้นทุนค่าไฟที่ราคาถูกแค่ไหนด้วย ประเทศไทยต้นทุนค่าไฟ 4 บาท ส่วนจีนค่าไฟ 50 สตางค์ เราจะไปแข่งกับจีนได้อย่างไร”

ชวนคนอื่น=ร่วมกระทำผิด

พ.ต.ท.ปองพลกล่าวว่า วิธีสังเกตว่าจะหลอกลวงหรือไม่ วิธีง่ายสุดคือเข้าเว็บไซต์ของเจ้าตัวว่า มีที่อยู่ที่ตั้ง เบอร์โทร.หรือไม่ เว็บไซต์นั้นจดทะเบียนในนามใคร มีชื่อที่อยู่หรือมีแต่ ตู้ ป.ณ. ซึ่งเช็กได้จาก whois domain ถ้าไม่มีคือ พิรุธมาก ถ้ามีก็สามารถเช็กกับ google map เพื่อดูสถานที่จริงได้ เพราะส่วนใหญ่ถ้ามีมักจะอ้างว่าอยู่ต่างประเทศ

“บอกเป็นเหมืองขุดบิตคอยน์ แต่ตั้งอยู่ในทำเลที่ค่าไฟแพง ทำเสียงดังไม่ได้ ก็ไม่น่าจะเป็นธุรกิจจริง หรือใช้เบอร์โทรศัพท์ค้นดูว่า มีการแจ้งว่าเป็นเบอร์ของมิจฉาชีพหรือไม่”

ที่สำคัญ คือ ถ้าลงทุนคนเดียวแล้วโดนโกง อาจเรียกตัวเองเป็นเหยื่อได้ แต่ถ้าไปชวนคนอื่นมาสมัคร มาลงทุนด้วย ถือว่ามีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ต้องถูกดำเนินคดีด้วย และคูณกระทงความผิดตามจำนวนคนที่ชวน

“การเอาเงินคืน ยากมาก ไม่ว่าแชร์นั้นจะมีต้นทางอยู่ในไทย หรือต่างประเทศ ถ้าเงินถูกโยกย้ายไปอยู่ในคริปโทเคอร์เรนซี ตำรวจยิ่งตามยากมาก และอาชญากรรมข้ามชาติเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และซับซ้อนมาก ต่อให้รู้ว่า คน-เงินอยู่ไหน ฉะนั้น อย่าเป็นเหยื่อดีกว่า”