เส้นทาง AI-ไทยแลนด์ 4.0 โอกาสและจุดอ่อนการพัฒนา

สัมภาษณ์พิเศษ

เมื่อนึกถึงรุ่นบุกเบิกวงการไอทีของไทย โดยเฉพาะในวงการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถโกอินเตอร์ได้เป็นรายแรก ๆ ต้องมีชื่อ “หมอจิมมี่-ภาณุทัต เตชะเสน” ทั้งปัจจุบันยังเป็นแรงหนุนให้กับเยาวชนในเชียงใหม่ที่สนใจจะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วยการเปิด “เชียงใหม่เมคเกอร์คลับ” ให้เป็นชุมชนแลกเปลี่ยนความรู้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “หมอจิมมี่” เกี่ยวกับวงการนวัตกรรมในปัจจุบัน

Q : ก้าวสู่ยุค AI-IOT

เทคโนโลยีทุกวันนี้เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เราไม่มีทางรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อ 2 ปีก่อนฮิตเรื่อง IOT ตอนนี้ก็ฮิตเรื่อง AI ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจริง ๆ ก็เริ่มมีมาเป็นสิบปีแล้ว เพียงแต่ตอนนี้เป็น deep learning ที่สอนให้ AI ฉลาดได้ด้วยดาต้า ก้าวไปสู่สเต็ปต่อไปของ IOT ที่มีดาต้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อย ๆ เท่า ต้องมี AI มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลยิ่งมี 5G จะยิ่งติดสปีดเพราะจะทำให้แอปพลิเคชั่นที่เราไม่เคยทำได้ก็จะทำได้

Q : นักพัฒนาบ้านเรามีพอไหม

เฉพาะในเชียงใหม่มี 7 มหาวิทยาลัย ทำให้มี developer ค่อนข้างเยอะ แต่ละปีมีคนที่จบด้านวิทยาศาสตร์และวิศวะปีละ 400 กว่าคน แล้วยังมีชุมชนสำหรับเรียนรู้นอกหลักสูตร อย่างพวกเมกเกอร์คลับ ศูนย์วิจัยของเอกชน เด็ก ๆ ตื่นตัวเยอะขึ้น อีโคซิสเต็มค่อนข้างพร้อม แต่ต้องแยกการพัฒนา AI ออกเป็น 2 ส่วน คือ การวิจัยเพื่อสร้าง AI engine กับการประยุกต์ใช้เอไอ เพื่อนำไปใช้กับซอฟต์แวร์หรือโซลูชั่นซึ่งจะให้ผลต่อเศรษฐกิจได้เร็วกว่า และโชคดีที่เนคเทคได้ทำแพลตฟอร์ม AI FOR THAI ที่เป็น AI engine ที่พร้อมจะให้ developer พัฒนาต่อยอดได้ง่าย ตอบโจทย์ด้านภาษาไทยในเชิงลึกและบริบทที่เกี่ยวข้องกับคนไทยได้ดีกว่าการใช้ engine ต่างชาติ ทำให้เน้นไปที่การประยุกต์ใช้ให้เกิดผลกับเศรษฐกิจได้เลย

ในเชียงใหม่การพัฒนา AI หลัก ๆ จะเป็นการวิเคราะห์ภาพและเสียง วิเคราะห์ตัวอักษร และวิเคราะห์โปรเซสทางธุรกิจ ซึ่งที่ใช้มากที่สุด คือ การวิเคราะห์เสียงพูด และการวิเคราะห์ตัวหนังสือ เพื่อใช้ในการสื่อสาร นำไปใช้ในการตีความเรื่องข่าว ตีความโพสต์ในโซเชียลแบบอัตโนมัติ เพื่อให้ธุรกิจตื่นตัวและตระหนักกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

Q : เส้นทางต่อไป Developer

เรากำลังเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า singularity แมชีนฉลาดขึ้นเร็ว งานวิจัยก็ออกมาเร็ว ฉะนั้น 2-3 ปีจากนี้ AI จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ปัญหาคือไทยจะตามทันไหม ก็ไม่รู้ แต่ก็เชื่อว่ามีนักพัฒนาไทยมีศักยภาพพอจะนำข้อมูลที่อยู่ในเมืองไทยมาพัฒนา AI ที่จะรองรับทั้งการใช้งานในเมืองไทย และต่างชาติที่ต้องการวิเคราะห์ดาต้าในไทย

Q : ไทยจะยิ่งเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยี

เราช้าไปแล้วที่จะไล่ทันในการเป็นผู้ผลิตเพียวเทคโนโลยี อาจจะยังมีความหวังบ้างในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพบางสาขา ชีววิทยาบางสาขา แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมไปทั้งประเทศ แม้แต่เทคโนโลยีด้านเกษตร และการท่องเที่ยว แต่ยังสามารถเป็นผู้ประยุกต์ใช้จากทรัพยากรต้นทุนที่เรามีมากกว่าประเทศอื่น อย่างเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีการแพทย์ การเกษตร การท่องเที่ยว แต่ถ้าจะประกาศว่าไทยจะเป็นประเทศที่จะผลิตหุ่นยนต์เพียว ๆ ก็จะเป็นไปได้น้อยมาก

Q : แต่มีนโยบาย 4.0 ซัพพอร์ตได้

ยังไม่เห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาล หนึ่งคือรัฐบาลไม่มีเงิน สองคือรัฐบาลไม่มีวิชั่นส์ ถ้ารัฐบาลมีวิชั่นจะไม่ส่งเสริมให้เกิด EEC ขึ้นที่เดียว เพราะอย่างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่จะเป็นนิวเอสเคิร์ฟ ถามว่าเราต้องการโรงงานสร้างหุ่นยนต์ หรือนักวิจัยด้านหุ่นยนต์ สิ่งที่ต้องการคือนักวิจัย แต่รัฐผลักดันให้ EEC กลายเป็นอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 ครั้งนี้ EEC ก็จะประสบความสำเร็จในฐานะที่จีนย้ายฐานการผลิต ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดเอสเคิร์ฟเลย แค่ขยับพื้นที่โรงงานเท่านั้น

Q : รัฐจะผลักดันซิลิคอนวัลเลย์

ซิลิคอนวัลเลย์เกิดขึ้นจากผู้คน การสร้างเมืองเกิดขึ้นทีหลัง เชียงใหม่มีโอกาสที่จะเป็นซิลิคอนวัลเลย์ของเมืองไทย ด้วยสังคมที่เปิด มีต่างชาติอยู่เยอะ มีการลงทุนเยอะ แต่เป็นการเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ด้วยการทำให้เกิดแรงจูงใจให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน อย่างซอฟต์แวร์เฮาส์ บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี บริษัทวิจัย เราไม่ได้ต้องการ EEC แห่งที่ 2 ต้องตีโจทย์ให้แตกว่า ฝรั่งอยากมาอยู่เมืองไทยเพราะอะไร เขาไม่ได้มาเพราะอยากอยู่ในตึกสวยงาม เขาอยากอยู่กับธรรมชาติที่ใช้ชีวิตในวันหยุดได้ มีสภาพแวดล้อมที่จะพาครอบครัวมาอยู่มาเรียนที่นี่ได้

Q : แต่ก็มีนโยบายหนุนสตาร์ตอัพ

เห็นชัดว่าสตาร์ตอัพไทยเงียบลง เงินลงทุนเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่ทิ้งห่างจากเวียดนามมาก สเกลการลงทุนสตาร์ตอัพในบ้านเรา ด้วยรัฐหรือเอกชนเอง ทำให้เกิดมุมมองที่เล็กเกินไป เด็กตั้งสตาร์ตอัพวันนี้หวังเงินลงทุนแค่ 2-3 แสนบาท แค่ชนะการประกวดได้เงินเท่านี้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่ ต่างประเทศมองกันที่ 10 ล้านเหรียญ แล้วมุ่งไปว่าจะทำอย่างไรที่จะโตได้ระดับนั้น คือ คิดใหญ่ตั้งแต่เริ่ม แต่ไทยไม่ใช่ เราทำให้เขาเสียคน เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาถึง ก็บอกเราต้องการสตาร์ตอัพ 1,000 ราย ภายใน 3 เดือน 6 เดือน เมื่อเราใช้วิธีนับหัวและจำกัดเวลา มันก็ได้แค่นี้แหละ มาเข้าประกวดบ่มเพาะพรีเซนต์งานรับรางวัลแล้วก็จบ

สิ่งที่ต้องทำคือบ่มเพาะให้คิดใหญ่ และเด็กรุ่นใหม่ไม่ว่าเรียนสายไหนก็ต้องพัฒนาสกิลที่เป็นเทรนด์ ไม่ว่าจะเป็น IOT AI robotic อย่างน้อยต้องรู้ในฐานะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีได้