ไทยคมลุยหาพาร์ตเนอร์ปั้นรายได้ใหม่

ไทยคมเดินหน้าเสาะหารายได้ใหม่ทุกช่องทาง ทั้งจับมือพาร์ตเนอร์สร้างดาวเทียมใหม่ เจรจาขอใช้วงโคจรต่างชาติ ปั้นโมเดลจับมือโครงการ Starlink-OneWeb เกาะกระแสฮิตดาวเทียมวงโคจรต่ำ

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการค้า บมจ.ไทยคม เปิดเผยว่า ไทยคมอยู่ในช่วงรอยต่อของการหมดสัมปทานในเดือน ก.ย. 2564 ซึ่งทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กำลังเร่งการเข้าร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP เพื่อหาผู้บริหารทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัมปทานดาวเทียม หากกระทรวงมีกติกาที่ชัดเจนแล้วทางบริษัทก็จะพิจารณาอีกครั้ง

“พร้อมกันนี้ก็ได้หารือเพื่อจะเข้าไปใช้วงโคจรของต่างประเทศด้วย เพื่อต่อยอดธุรกิจ เป็นการทำคู่ขนานกันเพื่อลดความเสี่ยงเรื่อง regulation ของบริษัท”

ทั้งยังร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ 2-3 รายในภูมิภาคนี้เพื่อสร้างดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงใหม่

“นี่เป็นทางออกที่จะมีธุรกิจดาวเทียมบรอดแบนด์ต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าลงทุนรวมเบื้องต้น ไอพีสตาร์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน อยู่ที่ 400 ล้านเหรียญ ดวงใหม่ต้นทุนจะลดลงอย่างน้อย 1 ใน 4 เพราะเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกันสร้าง ทั้งด้วยต้นทุนเทคโนโลยีที่ต่ำลง ต้นทุนต่อหน่วยอาจจะลดลงถึง 10 เท่า”

ส่วนการให้บริการดาวเทียมในรูปแบบดาวเทียมดวงเล็กวงโคจรต่ำ ได้มีการหารือกับโครงการ Starlink (ของอีลอน มัสก์) กับ OneWeb เพื่อหาโมเดลธุรกิจที่ไทยคมจะเข้าไปเสริมได้โดยเฉพาะด้านระบบภาคพื้นดินและระบบการขาย คาดว่าภายในปีนี้จะเห็นความคืบหน้า

“ดาวเทียมวงโคจรต่ำถูกพูดถึงอย่างมาก แต่มูลค่าโครงการสูงถึงหลัก 5 พันถึงหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จึงไม่คุ้มที่ไทยคมจะลงทุนเอง และนอกจากธุรกิจดาวเทียมยังมีรายได้จากเซอร์วิสที่ทั้งเข้ามาแล้ว อาทิ การบริหารจัดการดาวเทียมต่างประเทศ และกำลังจะมีนิวบิสซิเนสใหม่ที่จะเปิดเผยได้ในไตรมาส 1/2563″

ขณะที่ประมาณการรายได้รวมของบริษัทในปีนี้ จะได้รับผลกระทบจากการปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 ราว ๆ 200 ล้านบาท เนื่องจากมีลูกค้าบางส่วนไม่สามารถย้ายไปดาวเทียมดวงอื่นได้

สำหรับสถานการณ์ทีวีดาวเทียม ถือว่ายังทรง ๆ โดยบริษัทพยายามจะรักษาสถานะรายได้อย่างเต็มที่ โดยมีทรูวิชั่นส์เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ หลังได้มีการเซ็นสัญญาระยะยาวกับทรูวิชั่นในการย้ายจากดาวเทียมไทยคม 5 ไปดาวเทียมไทยคม 8 และมีการขยายระบบการใช้งานของ IPM และ PSI ทั้งยังได้เซ็นสัญญากับลูกค้าหลายรายในแอฟริกาสำหรับการใช้งานบนดาวเทียมไทยคม 6 ส่วนไทยคม 7 มีการเซ็นสัญญากับบริษัทดาวเทียมในยุโรปเพื่อใช้งานในเมียนมาและยังเริ่มโครงการสร้างโครงสร้างดิจิทัลที่จะซัพพอร์ตไทยแลนด์ 4.0 และ EEC ของรัฐบาล อาทิ การให้บริการคอนเทนต์กับหน่วยงานภาครัฐ”

ส่วนการใช้ดาวเทียมบรอดแบนด์นั้น มีอินเดียเป็นตลาดสำคัญ ซึ่งแม้ว่าจะมีคู่แข่งเยอะแต่ด้วยดีมานด์ที่เยอะมากทำให้เติบโตได้ราว 40%

ขณะที่การให้บริการในญี่ปุ่นได้เปลี่ยนโมเดลเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมครบวงจร รองรับดีมานด์จากลูกค้าในญี่ปุ่น ซื้อทำงานใกล้ชัดมาตลอดแม้จะไม่สามารถสร้างดาวเทียมไทยคม 9 ได้

ส่วนการเรียกคืนคลื่น 3500 MHz เพื่อนำไปจัดสรรใหม่สำหรับให้บริการ 5G นั้น หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการค้า ไทยคม กล่าวว่า คลื่นเป็นสิทธิของกระทรวงที่ใช้กับดาวเทียมไทยคม 5 เป็นหลัก แม้จะมีการหารือเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้ก้าวไปถึงเรื่องค่าชดเชยใด ๆ และมองว่าหากจะมีการชดเชยน่าจะเป็นการชดเชยผู้ใช้งานปลายทางเป็นหลัก