ไม่ระดมทุนไม่หวังยูนิคอร์น iTax ตัวช่วย ‘ฮีโร่’ ประเทศไทย

เดือน มี.ค. ทุกปี ก็เข้าสู่โค้งท้ายเทศกาล “ยื่นภาษี” ของมนุษย์เงินเดือนและบุคคลธรรมดาผู้มีรายได้อื่น ซึ่งเป็นเหมือนยาขมด้วยความยุ่งยากซับซ้อน ทำให้ชื่อ “iTax” เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น เป็นที่รู้จักมาหลายปีในฐานะตัวช่วยให้การคำนวณภาษีเป็นเรื่องง่าย “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับผู้ปลุกปั้นเครื่องมือนี้ “ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ iTax

Q : เป้าหมายที่ทำ iTax

ผู้เสียภาษีทุกคนในประเทศนี้ คือ ฮีโร่ เพราะงบประมาณ 70-80% มาจากภาษี แต่ทุกอย่างมันยากไปหมด  แถมทำผิดแล้วยังมีบทลงโทษหรือเสียโอกาสที่จะได้เงินคืน ถึงจะแค่ปีละครั้งก็เถอะ แต่ก็ต้องใช้เวลาและความพยายามซึ่งไม่ได้ช่วยเพิ่ม GDP ให้กับประเทศด้วย

หลายประเทศมีเครื่องมือช่วย แต่เมื่อ 8 ปีก่อนในไทยยังไม่มี แล้วถ้ารอให้ภาครัฐเริ่มทำก่อนก็ไม่รู้จะเกิดได้เมื่อไร ก็เลยลงมือด้วยเป้าหมายให้คนไทยไม่ต้องเสียเวลามานั่งทำเรื่องนี้

แปลข้อกฎหมายทั้งหมดเป็นคำถามคำตอบอย่างง่าย ไม่ต้องรู้เรื่องกฎหมายเรื่องภาษีเลย ก็ยื่นแบบเสียภาษีได้ถูกต้อง แต่ทำไปสักพักก็เพิ่งรู้ว่า ผู้เสียภาษีมีเซ็กเมนต์ด้วย แต่ละกลุ่มจะมีวิธีคิดต่างกัน  มีบางกลุ่มใช้ iTax ช่วงปลายปีเพื่อวางแผนภาษี ก็เลยเกิดการพัฒนาต่อให้ทั้งคำนวณและแนะนำได้ว่า จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอะไรตรงไหนเพิ่มได้บ้าง แต่ก็ยังมีคำถามว่าแล้วจะซื้อกองทุนหรือประกันเจ้าไหนดี ก็เลยทำดาต้าเบสอีกชุดหนึ่ง เชื่อมไปหากับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ได้ด้วย

Advertisment

แต่เป้าหมายที่จะทำให้การยื่นภาษีทุกอย่างเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อเป็นอัตโนมัติยังไปไม่ถึง ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง แต่เราก็เป็นรายแรกที่สามารถเตรียมแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. ผ่านช่องทางของ iTax แล้วยื่นทางออนไลน์กับกรมสรรพากรได้เลย จากนี้ก็คงจะได้เห็นความร่วมมือในเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ 

Q : อุปสรรคการพัฒนา 

การตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่ทำให้คนใช้ออนไลน์เยอะขึ้น และมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป บางฟีเจอร์ที่เคยรู้สึกว่าใช้ง่ายกลายเป็นยากไปแล้ว เคยชอบก็ไม่ชอบ ความสนใจเรื่องต่าง ๆ เปลี่ยนไปเร็วมาก การทำให้ลูกค้าอยู่กับเราอย่างมีความสุข คือ สิ่งที่ยากมากกว่า ที่ทำคือต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และแก้ไขไปเรื่อย ๆ ถ้าเมื่อไรที่เรารู้สึกว่า เรารู้ทุกอย่างแล้ว นั่นคือหายนะ

Q : โมเดลการหารายได้

Advertisment

ตอนแรกไม่ได้คิดเรื่องเงิน แล้ว iTax ทำภายใต้ความเชื่อว่า ผู้เสียภาษีเป็นฮีโร่ ฉะนั้นจะตลกมาก ถ้าจะไปเก็บเงินค่าใช้งาน ก็เลยต้องหาโมเดลที่สร้างรายได้ โดยที่คนใช้งาน iTax ยังได้ประโยชน์ ก็เพิ่งเริ่มที่พาพาร์ตเนอร์ที่ขายกองทุน ขายประกันที่ลดหย่อนภาษีได้มาให้เจอกับคนที่ต้องการ iTax ก็ได้รายได้จากค่ามาร์เก็ตติ้งจากพาร์ตเนอร์ 

ขณะเดียวกันในเว็บก็มีพื้นที่ blog ที่แชร์ข้อมูลความรู้ เป็นเหมือนอินฟลูเอนเซอร์ ที่จะมีรายได้โฆษณาเพิ่ม ก็เป็นโมเดลที่ win-win-win ทั้งเรา ลูกค้า พาร์ตเนอร์ ซึ่งโมเดลที่ iTax จะเป็นตัวกลางเพื่อหาความต้องการกับผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยเหลือได้มาเจอกัน แล้วเราได้ค่ามาร์เก็ตติ้งก็จะเห็นอีกเรื่อย ๆ แล้วก็จะมีตัวซอฟต์แวร์ pay roll ที่ได้พัฒนาขึ้นสำหรับฝ่าย HR กับสำนักงานบัญชี ที่จะมีรายได้ประจำเข้ามาเพิ่มได้ ภายในปีนี้หรือไม่เกินปีหน้าจะเริ่มเห็นว่า เราสามารถทำเงินจากตรงนี้ได้จริง ๆ 

ส่วนการเติบโตของ iTax เองก็หวังว่าจาก 1 ล้านวันนี้ จะเป็น 10 ล้านผู้ใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า เชื่อว่าได้ เพราะที่ผ่านมา iTax เติบโตได้จากกระแสบอกต่อปากต่อปาก ซึ่งเป็นมาร์เก็ตติ้งที่ทรงพลังมาก 

Q : แผนจะสเกลอัพ-ระดมทุน 

เราใช้เงินของทีมทำมาตลอด เพิ่งจะได้เงินจากสำนักงานดีป้าเสริมเข้ามา5 ล้าน แต่ก็คิดว่าน่าจะเป็นการเปิดระดมทุนหนแรกและหนเดียว คือ การมีนักลงทุน หรือ VC ใส่เงินเข้ามาเป็นเรื่องดี แต่เขาก็จะมีความต้องการบางอย่างที่อาจจะทำให้เราอึดอัด เพราะเป้าหมาย iTax คือ อยากให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่รายได้มาก ๆ เงินที่ดีป้าให้มาก็น่าจะพอให้เราโตไปได้อีกปีสองปี ก็น่าจะพอดีกับจังหวะที่สามารถทำเงินได้เอง

Q : ไม่เหมือนเป็นสตาร์ตอัพ 

เรายังทำงานแบบสตาร์ตอัพ สำหรับผมคำว่า สตาร์ตอัพ คือ สปิริต การรู้สึกว่าเราโง่อยู่ตลอดเวลา เราเจอกับความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่ยึดติดกับฟอร์มเดิม วิธีคิดแบบเดิม ๆ 

อย่างการที่เราไม่ได้คิดเงินกับผู้ใช้เลย ทำให้หลายครั้งเราได้ฟีดแบ็กมาว่า ห้ามเจ๊งนะ ไม่งั้นพี่ลำบาก หรือมีช่วงหนึ่งที่เราเริ่มเห็นตัวเลขการเงินแล้วว่า น่าจะแย่แน่ ก็เลยลองทดลองเปิดรับบริจาค ใช้โมเดลเหมือนวิกิพีเดีย ก็มีคนยอมจ่ายเงินให้แบบให้เปล่า ๆ มีบางคนให้ถึง 5,000 บาท ทำให้เราฮึกเหิมมาก และทำให้รู้ว่าแบรนด์เรามีคนรัก ยินดีจะสนับสนุนเรา แต่มันเป็นโมเดลที่ไม่ยั่งยืนก็เลยไม่ได้เปิดรับอีก

Q : ตั้งเป้าการทำงาน

ปีนี้จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง จะมีการพัฒนาโปรดักต์ให้ตอบโจทย์ให้ดีขึ้นไปอีก หาพาร์ตเนอร์เพิ่ม ทดลองทำสิ่งที่แปลกใหม่ขึ้นไปอีก เพื่อทำให้โตขึ้นไปได้

ส่วนการเป็นยูนิคอร์น ไม่ได้เป็นเป้าหมายที่อยากได้ เพราะการเป็นยูนิคอร์นที่จะต้องระดมทุนรัว ๆ เพื่อให้สเกลได้ มันไม่ใช่เส้นทางของเรา เพราะคนที่เอาเงินมาให้ย่อมมีความคาดหวัง ซึ่งไม่น่าจะบริหารจัดการความรู้สึกของนักลงทุนได้ทั้งหมด แต่ผมรู้ว่าสิ่งที่เราทำได้ดี คือ ดูแลผู้เสียภาษีในแบบที่จะทำให้เขาเห็นว่าภาษีเป็นเรื่องง่าย 

เพราะจุดเริ่มต้นที่ผมลงมือทำ คือ อยากจะช่วยผู้เสียภาษี ฉะนั้น ทำแล้วเราจะเป็นยูนิคอร์นหรือไม่ จึงไม่ใช่สาระสำคัญ