เพาะปลูกยุค 4.0 สตาร์ตอัพไทยเดินหน้าปั้นนวัตกรรม

วันพืชมงคล” ที่เพิ่งผ่านพ้นไป แม้ปีนี้จะไม่มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่ความสำคัญของ “เกษตรกรรม” ที่มีต่อสังคมไทยในฐานะผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีสตาร์ตอัพไทยจำนวนไม่น้อยที่พยายามจะต่อยอดความแข็งแกร่งนี้ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเชื่อมต่อกับการทำการเกษตรยุคใหม่ ในฐานะ AgTech Startup อาทิ

“เก้าไร่ (Gaorai)” โมบายแอปพลิเคชั่นสำหรับจ้างโดรน สตาร์ตอัพด้านการเกษตร ภายใต้การดำเนินการโดย มาธัส แดเนียลลาวีซุส (Matas Danielevicius) ผู้บริหารบริษัท เก้าไร่ บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA

“เก้าไร่” ถือเป็นตัวกลางในการนำโดรนมาช่วยลดต้นทุนจากการจ้างแรงงานคนฉีดพ่นสารป้องกันผลผลิตทางการเกษตรจากศัตรูพืชผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) ช่วยบริหารจัดการพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 30 ไร่ขึ้นไปในกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย เป็นต้น ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

“GetzTrac” โมบายแอปพลิเคชั่นสำหรับจ้างรถเกี่ยวข้าวและอุปกรณ์การเกษตร สตาร์ตอัพด้านการเกษตรในโครงการ AGROWTH ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และสยามคูโบต้า

“GetzTrac” ถือเป็นแอปพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย “เปรมศักดิ์ ทานน้ำใจ” โดยมีการทำงานที่คล้ายกับ Grab และ Uber เป็นลักษณะของการให้บริการ จ้างรถเกี่ยวข้าวและอุปกรณ์การเกษตร มีฟีเจอร์หลัก คือ การจ้างงาน การบอกถึงสภาพอากาศประจำวันของพื้นที่ผู้ใช้บริการ นอกจากนั้น ยังมีการบอกข่าวสารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อเกษตรกร

ฟีเจอร์การจ้างงานของแอปนั้นประกอบไปด้วย 1) รถแทรกเตอร์ รับงานในการเตรียมดิน 2) รถเกี่ยวข้าว รับงานเกี่ยวข้าวเป็นหลัก และ 3) โดรน ที่ใช้ในการพ่นสาร และใส่ปุ๋ย การดำเนินการจะเป็นลักษณะของการแชร์ร่วมกันกับผู้ใช้บริการซึ่งเป็นเกษตรกรคนอื่น ๆ “GetzTrac” ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรถเกี่ยวข้าวและอุปกรณ์การเกษตรต่าง ๆ ที่อยากสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับตัวเอง และแบ่งปันอุปกรณ์การเกษตรให้เกษตรกรรายอื่นได้ใช้งานร่วมกัน

ขณะที่ “Eden AgriTech : EDEN” สตาร์ตอัพที่เป็นการรวมตัวกันของคนไทยนำเสนอออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ “naturen” สารเคลือบธรรมชาติ เพราะผู้ประกอบการด้านการเกษตรส่วนใหญ่ในปัจจุบันต่างประสบปัญหาการสูญเสียวัตถุดิบ รวมถึงการเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็วของวัตถุดิบทางการเกษตรจำพวกผักสดและผลไม้ EDEN จึงได้คิดค้นนวัตกรรมที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

โดยเป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ ช่วยคงไว้ซึ่งคุณค่าของสารอาหารและคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งสามารถยืดอายุการเก็บรักษาผักสดและผลไม้ได้ประมาณ 2-3 เท่า ที่ผ่านมา EDEN ได้รับรางวัลมามากมายหลายเวทีไม่ว่าจะเป็นรางวัลชนะเลิศ การประกวด GSB สุดยอด SMEs startup ตัวจริง 2019 ของธนาคารออมสิน และรางวัล The Best Growth Agtech Startup จากกิจกรรม AgTech Battle : It’s Time to Rise up & fight ในงาน Startup Thailand 2019 เป็นต้น

“ฟาร์มโตะ (FARM.TO)” ระบบตลาดของการเกษตรในยุคไทยแลนด์ 4.0 สตาร์ตอัพที่มาช่วยเหล่าเกษตรกรให้สามารถขายสินค้าของตัวเองได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ผ่านการดูแลของอาทิตย์ จันทร์นนทชัย ที่ได้เปิดเป็นช่องทางการขายผลผลิตเกษตรรูปแบบใหม่ที่เชื่อมเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากันผ่านวิธีการ “ร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตการเกษตร” เพื่อให้ทั้งคู่ได้ช่วยเหลือและดูแลผลผลิตไปด้วยกัน

ฟาร์มโตะจึงถือเป็นสตาร์ตอัพที่นำเสนอช่องทางการขายผลผลิตของเกษตรกรรูปแบบใหม่ ที่จะให้ผู้บริโภคและเกษตรกรมาพบเจอผ่านวิธีการทำงานร่วมกัน ซึ่งผู้บริโภคสามารถจับจองสินค้าจากฟาร์มเกษตรกรผ่านแพลตฟอร์ม

หากผู้บริโภคต้องการใกล้ชิดผลผลิตก็สามารถเดินทางมาเยี่ยมชมแล้วเช็กพิกัดพื้นที่การเพาะปลูกได้จากในแพลตฟอร์ม และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวทางเกษตรกรก็จะส่งผลผลิตไปให้ผู้บริโภคทันที “ฟาร์มโตะ” จึงถือเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ตอบรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนได้เป็นอย่างดี

DeepTech เกษตรทั่วโลกไปถึงไหนแล้ว

เมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา Rethinks ได้จัด “Live Webinar : World Agri-Tech Start-Up Showcase” ที่ระดมสตาร์ตอัพเกษตรสาย DeepTech ของประเทศผู้นำด้านการเกษตรของโลก 4 ราย มาอัพเดตเทคโนโลยีล้ำ ๆ อย่าง AI blockchain robotic ที่มีการเก็บฐานข้อมูลใหญ่เป็นหัวใจสำคัญ

โดย “สตาร์ตอัพไทยแลนด์” ภายใต้การดูแลของสำนักงานนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (NIA) ได้รวบรวมมุมมองที่น่าสนใจไว้ดังนี้

“AGNEXT” สตาร์ตอัพจากประเทศอินเดีย ก่อตั้งเมื่อปี 2559 มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาคุณภาพด้านความปลอดภัยด้านอาหารและความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิต ออกแบบเป็นแพลตฟอร์ม Qualix ซึ่งเป็นการผนวกรวมของการใช้ข้อมูลทางการเกษตรของเทคโนโลยีจากสเปกตรัม จากภาพถ่าย และการใช้เซ็นเซอร์ ที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์ผ่าน AI สามารถบอกข้อมูลของพืชว่ามีความปลอดภัย การปนเปื้อนของสารเคมี แพลตฟอร์มนี้มีประโยชน์ตั้งแต่เกษตรกร ผู้เพาะปลูก ผู้แปรรูปทางการเกษตรและผู้เข้าร่วมในห่วงโซ่อาหารเกษตรอื่น เกิดความมั่นใจในคุณภาพและการตรวจสอบย้อนกลับได้

โดยเมื่อปี 2562 ได้รับการลงทุนในระดับ preseries A 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 60 ล้านบาท จาก Kalaari Capital

“AgTrace สตาร์ตอัพจากประเทศบราซิล มุ่งพัฒนาโซลูชั่นตรวจสอบย้อนกลับที่รับรองความโปร่งใสและเชื่อถือได้ภายในตลอดกระบวนการผลิต ด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการทำฟาร์ม ผนวกกับเทคโนโลยี IOT และ block-chain เพื่อสร้างความปลอดภัยของข้อมูลด้วยการใช้เซ็นเซอร์และอุปกรณ์เพื่อลงทะเบียนข้อมูลจากภายในและภายนอกฟาร์ม โดยในปีที่แล้วได้เริ่มใช้งานกับพืช 3 ชนิด ได้แก่ กาแฟ ฝ้าย และถั่วเหลือง ปีนี้เริ่มเปิดขยายไปในพืชเศรษฐกิจอย่างอ้อยและข้าวโพด

ขณะที่ “Arugga” สตาร์ตอัพจากอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่โดดเด่นด้านนวัตกรรมการเกษตรนั้น ก่อตั้งเมื่อปี 2560 ได้รับการลงทุนระดับ seed จำนวน 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 54 ล้านบาท มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำฟาร์มในโรงเรือน green house ให้เป็นข้อมูลอัตโนมัติ ร่วมกับออกแบบหุ่นยนต์ใช้ในการตรวจสอบและดูแลพืชทุกชนิดในโรงเรือน

โดยปลายปีนี้จะเปิดตัว TRATA หุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ใช้ในการผสมเกสรในโรงเรือน ได้ผลลัพธ์ที่ดีหรือดีกว่าผึ้ง เนื่องจากหุ่นยนต์มี AI ที่จะบอกได้ว่า ดอกไม้มีความพร้อมสำหรับการผสมเกสรดอกไม้ เมื่อทั้งอุณหภูมิและระดับความชื้นเหมาะสมที่สุดในโรงเรือน ซึ่งการนำหุ่นยนต์มาใช้ทำให้ป้องกันการแพร่กระจายของโรคของผึ้ง และสามารถใช้แสง UV ในการฆ่าเชื้อได้

ส่วน “Augmenta” จากกรีซ ก่อตั้งในปี 2560 และระดมทุนระดับ seed 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 75 ล้านบาทเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว เน้นการให้บริการด้วยโซลูชั่นที่ช่วยลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการเพาะปลูก ด้วยการวิเคราะห์และเรียนรู้ข้อมูลด้วย

AI จากภาพถ่าย และข้อมูลสภาพอากาศแบบ real time ผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า field analyzer เพื่อบอกปริมาณการใช้ปัจจัยการผลิตได้ในปริมาณที่เหมาะสม ลดต้นทุนได้ถึง 20%

สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 15% โดยได้ทดสอบแล้วในพื้นที่ 20,150 เฮกตาร์หรือราว 125,000 ไร่ 9 ประเทศ ได้แก่ กรีซ เซอร์เบีย ฮังการี เยอรมนี ตุรกี ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และบราซิล ใน 5 พืช ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง อ้อย และผักกาดก้านขาว (rapeseed)