1 ปี รัฐมนตรี “ดีอีเอส” เปิดใจ “ไม่มีปัญหา ปรับ ครม.”

กระแสปรับ ครม.รัฐบาลประยุทธ์ 2/2 กระหึ่มไม่หยุด ลามไปทั่วไม่เว้นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ไม่เกินต้น ส.ค.คงได้รู้กันว่าใครจะยังอยู่ และใครจะไปไหน

17 ก.ค. 2563 ตรงกับวันครบรอบ1 ปีที่มานั่งคุมกระทรวงดีอีเอส “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” นำทีมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดมาอัพเดตความคืบหน้าในการดำเนินโครงการต่าง ๆ โดยเจ้าตัวระบุว่า ต้้งแต่ทำงานวันแรกจนถึงวันนี้ ถือเป็นความท้าทาย มีหลายสิ่งที่เป็นปัญหาค้างคาต้องปรับแก้และผลักดัน

เปิดใจ นั่งดีอีเอส “ไม่ง่าย”

“ผมเชื่อว่าผู้สื่อข่าวทุกคนที่อยู่ตรงนี้มาก็จะเห็นว่ามันไม่ได้ทำง่าย คำถามที่บอกว่ามีชื่อกรณีปรับ ครม.ต้องบอกว่าผมไม่ได้มีปัญหาอะไร การปรับ ครม.เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี และก็เชื่อว่าใน 1 ปีที่ผ่านมาได้ทำในสิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโควิด หรือเงื่อนไขกฎหมายต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้ผมไม่เคยโทษข้าราชการหรือกระทรวง มีแต่บอกให้ทุกคนใช้โอกาสที่ผมมาทำงานที่นี่ให้เป็นประโยชน์”

แต่ไม่ปฏิเสธว่าหลายเรื่องไม่ได้ทำได้อย่างที่ใจหลายคนต้องการ หากได้โอกาสก็จะทำต่อ อะไรที่ทำไปแล้วไม่ตรงใจก็เรียนรู้ว่าใช้วิธีอื่นดีกว่า ก็ต้องเรียนรู้ต่อไป สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ พูดอะไรแล้วต้องทำให้ได้ และตั้งใจที่จะทำให้สังคมได้ประโยชน์จากกระทรวงดีอีเอสให้มากกว่าเดิม

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาและเพิ่มโอกาส โดยดำเนินการช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการสื่อสาร ทำให้องค์กรต่าง ๆ ทำงานที่บ้านได้ เช่น ร่วมกับ กสทช.และผู้ให้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ต 5 รายให้ประชาชนลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงฟรี-โทร.ฟรี 100 นาที เป็นต้น

สางปัญหากองทุนดีอี

และ 1 ปีที่ผ่านมา ได้เข้าไปแก้ปัญหาเช่น กรณีกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ปรับแก้กฎระเบียบเพื่อให้นำเงินไปใช้ได้ถูกต้องและเกิดประโยชน์ใน 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การเงินการเกษตร การขับเคลื่อนระบบของรัฐบาล การพัฒนาคน และการจ้างงานรวมถึงการพัฒนาด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม อนุมัติไปแล้วกว่า 54 โครงการ เป็นเงิน 1.5 พันล้านบาท

ส่วนการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) เริ่มให้บริการแล้ว มีหน่วยงานรัฐมาใช้ 472 หน่วยงาน 1,570 ระบบ ช่วยประหยัดงบประมาณด้านไอทีภาครัฐได้ 30-70% ทำให้มีการจัดเก็บข้อมูลสำคัญของประเทศอยู่ในไทยเชื่อมโยงข้อมูลเป็น “บิ๊กดาต้าภาครัฐ”นำไปใช้ประโยชน์ในการบริการประชาชนได้

สานต่อ “e-Government”

“GDCC เป็นสิ่งที่ทุกคนพูดมานานแล้วว่า รัฐบาลดิจิทัลหรือ e-Government เกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีฐานข้อมูลกลางของเราเอง วันนี้เข้าใกล้สิ่งที่ตั้งเป้าไว้แล้วเป็นก้าวแรกที่พูดได้เป็นรูปธรรมว่ารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เกิดได้ แต่มีความต้องการใช้สูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้เดิม โดยเฉพาะช่วงโควิดทำให้ต้องมีพื้นที่เก็บข้อมูลมากขึ้น”

และพัฒนาระบบบิ๊กดาต้า เช่น 1.ด้านสาธารณสุข ร่วมกับโรงพยาบาลทั่วประเทศเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยอนุญาตให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาได้ มีการกำหนดชั้นความลับตาม

พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, พัฒนาบิ๊กดาต้าด้านการท่องเที่ยว รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเปิดให้บริการแก่เอกชนหรือหน่วยงานที่สนใจนำข้อมูลมาพัฒนาบริการให้ประชาชน เช่น บริการ “หมุด” และรายละเอียดแหล่งท่องเที่ยวหลักและรอง 2.จัดทำมาตรฐานจัดเก็บข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว และ 3.วิเคราะห์ข้อมูลโดยนำร่องการพัฒนาใน จ.อุบลราชธานี, อุดรธานี, กระบี่ และภูเก็ต เป็นต้น

ภูมิใจ 5G-ผนึก “แคท-ทีโอที”

แต่สิ่งที่รู้สึกดีที่สุดคือการทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงการใช้ 5G ได้อย่างเท่าเทียมโดยทีโอทีและ กสท (แคท) ลดความเหลื่อมล้ำ มิเช่นนั้น 5G จะเป็นระบบที่มีใช้เฉพาะคนรวย เช่นกันกับการเดินหน้าการควบรวมทีโอที และแคท เป็น บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที)

“ไม่ใช่รวมกันเพื่อให้เล็กลง แต่เพื่อให้โตขึ้น ทำให้องค์กรที่เคยอยู่กับประเทศไทยมานานเข้มแข็งขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เพราะมีหลากหลายมิติที่จะนำไปสู่การพัฒนาในอนาคตได้และว่า แคทและทีโอทีมีจุดแข็งต่างกันเมื่อควบรวมกันแล้วต้องพยายามแยกหน่วยงานที่มีความซ้ำซ้อนออกเป็นกลุ่มบริษัท ในทำนองเดียวกับ ปตท.ที่มีโฮลดิ้งและบริษัทในเครือ ที่มีความชำนาญต่างกัน แบ่งการบริหารจัดการให้ตรงกับภารกิจมากขึ้น สร้างความชัดเจนในสายการเติบโตของพนักงาน

“เมื่อควบรวมกันเสร็จ อยากเห็นหน่วยงานภาครัฐที่ต้องนำ 5G ไปสู่การปฏิบัติใช้ 5G ของเอ็นที เป็นจุดเปลี่ยนการเข้าถึงการสื่อสารของประเทศ”

แย้มปลายปีมีข่าวดี

นายพุทธิพงษ์เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เคยเดินทางไปหารือบริษัทชั้นนำของโลกที่ซิลิคอนวัลเลย์ เช่น ซีเกท, เฟซบุ๊ก, ซิสโก้, กูเกิล, อเมซอน เว็บ เซอร์วิส และไมโครซอฟท์ เชิญชวนให้มาลงทุนในไทย ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ตนได้รับการติดต่อจากบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งที่ยืนยันว่าจะเข้ามาลงทุน 30,000 ล้านบาท และคาดว่าในปลายปีนี้จะมีข่าวดี ทำให้ไทยแลนด์ดิจิทัล

วัลเลย์เกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ปูทางไปสู่โอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศ และเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้คนไทย”

กม.หลายฉบับจ่อคิว ก.ย.

ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย เช่น การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายลูก, จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ อยู่ระหว่างการเสนอรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้มีคำสั่งแต่งตั้ง และอยู่ระหว่างการเสนอ (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์การแต่งตั้งเลขาธิการ คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติและแก้ พ.ร.บ.กิจการอวกาศ เพิ่มอีก 5 ประเด็น คือ

1.การพัฒนากิจการอวกาศเชิงพาณิชย์ และความมั่นคง 2.รายละเอียดการอนุญาต และการให้ใบอนุญาตในการดำเนินกิจการอวกาศ และโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมขึ้น 3.เพิ่มคำนิยามโครงสร้างพื้นฐานกิจการอวกาศ และประเภทดาวเทียมรวมสิ่งที่อยู่ในอวกาศ และภาคพื้นดิน 4.เพิ่มลักษณะและประเภทอุตสาหกรรมดาวเทียม และ5.เพิ่มวิธีกำกับดูแล การแบ่งปันข้อมูล การเรียกดู สิทธิ และผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศและคาดว่า พ.ร.บ.และร่างต่าง ๆ จะแล้วเสร็จภายใน ก.ย.นี้