ปมร้อน “เฟซบุ๊ก-ดีอีเอส” และความมั่นคงทางไซเบอร์… ?

ปมร้อนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องยกให้กรณี Facebook, Inc. เตรียมดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อคัดค้านคำขอของรัฐบาลไทยที่ให้บล็อกการเข้าถึงกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลซ” ตามด้วยแถลงการณ์ที่ระบุว่าข้อเรียกร้องจากรัฐบาลเป็นเรื่องที่รุนแรง และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

ผู้รับผิดชอบหลักอย่างเจ้ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จึงออกมาแจกแจงแนวทางการดำเนินการกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กรณีการขอให้ Facebook, Inc. ลบข้อความจากเพจต่าง ๆ ที่กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายไทย โดยย้อนกลับไปเมื่อ 15 วันก่อนหน้านี้ ดีอีเอสได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาลไปยังสื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ 1,129 ราย (URL) เนื่องจากผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งคำสั่งปิดเว็บไซต์ต่าง ๆ มีทั้งการกระทำผิดเกี่ยวกับการหมิ่นเบื้องสูง ฉ้อโกงการขายสินค้า โฆษณาชวนเชื่อ

“การดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีคำสั่งศาลถูกต้อง”

ประเด็นที่ “เฟซบุ๊ก” จะฟ้องรัฐบาลไทยขณะนี้ยังไม่เห็นเอกสารที่ชัดเจน แต่ถ้ามีการฟ้องร้องขึ้นมา ทางกระทรวงดีอีเอสก็มีทีมกฎหมายพร้อมต่อสู้ เพราะที่ผ่านมาได้ทำตามกฎหมายไทย และผลจากการส่งหนังสือให้ลบข้อความภายใน 15 วัน เฟซบุ๊กได้ดำเนินการลบ URL ให้ทั้งหมดก่อนครบกำหนดในวันที่ 24 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา ทำให้เชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุดแล้วเฟซบุ๊กจะไม่ฟ้องรัฐบาลไทย

“พุทธิพงษ์” ขยายความว่าเหตุผลที่มีกระแสข่าวระบุว่าเฟซบุ๊กจะฟ้องรัฐบาลไทยน่าจะเกิดจากการปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ เป็นการส่งหนังสือแจ้งเตือนติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาล ซึ่งมีกรอบเวลา 15 วันที่เจ้าของแพลตฟอร์มต้องลบข้อความ ขั้นตอนหลังจากนั้น กระทรวงดีอีเอสจะรวบรวมหลักฐานส่งให้ตำรวจดำเนินการต่อไปกับเจ้าของแพลตฟอร์ม ซึ่งต่างจากแนวทางเดิมที่เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากเจ้าของแพลตฟอร์ม โดยที่ผ่านมาต้องผ่านขั้นตอน กระบวนการพิจารณาภายในของเฟซบุ๊กก่อนจะลบข้อความซึ่งใช้ระยะเวลานาน

ส่วนประเด็นที่ว่าอาจส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย “รมว.ดีอีเอส” บอกว่า ถ้ากฎหมายไทยไม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่แค่ “เฟซบุ๊ก” ที่จะไม่มา บริษัทอื่นก็คงไม่เข้ามาลงทุน แต่ถ้าไม่พอใจอะไรแล้วไม่มาลงทุนก็คงห้ามไม่ได้ “ถ้าจะอยู่ด้วยกันก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี”

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ไม่ใช่แค่การลบกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลซ” แต่คือจุดเริ่มต้นในการเดินหน้าสู่แนวทางรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ในสเต็ปต่อไป เริ่มด้วยการปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติ ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับแจ้งเข้ามาจากประชาชน และทีมงานที่ดูแล โดยมีกรอบระยะเวลา 48 ชั่วโมง ในการรวบรวมข้อมูล ก่อนส่งให้ศาลออกคำสั่งติดตาม เพื่อให้สอดรับกับความรวดเร็วของเทคโนโลยี

กระทรวงดีอีเอสเตรียมส่งหนังสือแจ้งเตือนการติดตามปิดกั้นตามคำสั่งศาลอีก 1,024 ราย แบ่งเป็นเฟซบุ๊ก 661 ราย ยูทูบ 289 ราย ทวิตเตอร์ 69 ราย และเว็บอื่น ๆ 5 รายและเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” ที่เป็นช่องทางให้ประชาชนส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์ เว็บผิดกฎหมายกว่า 5,943 รายการ ซึ่งดีอีเอส เตรียมนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนทางกฎหมาย ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการซ้ำซ้อน ไม่เข้าข้อกฎหมาย 3,232 รายการ ตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย 2,260 รายการ มีคำสั่งศาลไป 1,781 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 479 รายการ และอยู่ระหว่างตรวจสอบ 451 รายการ

“แนวทางที่วางไว้ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเราจะติดตาม ตรวจสอบทุกแพลตฟอร์ม ถ้าพบว่าผิดตามกฎหมายก็จะดำเนินการทันทีโดยไม่เลือกปฏิบัติ เราต้องปรับรูปแบบการทำงานให้เร็วขึ้น เพราะปัญหาการบุกรุกอธิปไตยทางไซเบอร์เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด และสร้างความเสียหายต่อประเทศ หลายประเทศก็กำลังเผชิญปัญหานี้ไม่ต่างจากไทย”

นายพุทธิพงษ์ย้ำว่า ต้องพยายามล้างระบบโซเชียลมีเดียไทยให้สะอาด และเชื่อได้ว่าแนวทางที่วางไว้เป็นไปตามกฎหมาย และไม่ลิดรอนสิทธิใคร แต่ทำเพื่อปกป้องอธิปไตยไซเบอร์ของประเทศ