เทคโนโลยี : เหรียญสองด้าน ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ISAAC LAWRENCE / AFP
คอลัมน์ TechTime
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ในขณะที่ม็อบนักศึกษาในบ้านเราดำเนินไปอย่างเข้มข้น สังคมก็เริ่มตระหนักถึงพลังของเทคโนโลยีที่มีต่อขบวนการขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตยของเยาวชนคนรุ่นใหม่การชุมนุมของนักศึกษาในวันนี้ต่างจากในอดีต คือ ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวและการรวมตัวเป็นไปอย่างรวดเร็วโดยไมต้องมีแกนนำ

แต่เทคโนโลยีก็เป็น “ดาบสองคม” ในขณะที่ช่วยให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวได้มีประสิทธิภาพ ภาครัฐก็ใช้เพื่อสกัดกั้นความเห็นต่างได้เช่นกัน

ม็อบฮ่องกง คือตัวอย่าง

เครก ชาว ทนายความชาวฮ่องกง หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการติดอาวุธให้ม็อบเยาวชนในฮ่องกงโดยเป็นคนเขียนคู่มือการใช้เทคโนโลยีเข้ารหัสให้ผู้ชุมนุมมาตั้งแต่ปี 2014 ชื่อ Protesstor’s Rights Handbook Mobile Frontier แนะนำให้ผู้ชุมนุม ใช้อีเมล์ที่มีการเข้ารหัส Hushmail Protonmail Startmail แทนอิเมล์ทั่วไป และให้ใช้แอปส่งข้อความ อย่าง Telegram Threema และ Wickr แทน Line หรือ Whatsapp เพราะเข้ารหัส end-to-end มีระบบทำลายตัวเองในเวลาที่กำหนด หากต้องโทรหากัน แนะนำให้โทรผ่านแอป RedPhone (Android) หรือ Signal (iOS) ส่วนผู้ที่อยากบันทึกหรือไลฟ์สดบรรยากาศควรใช้แอปสตรีมมิ่ง Ustream เพื่อความรวดเร็ว

เครก บอก ABC News ว่าการเขียนสเตตัสบนเฟซบุ๊กเป็นเทคโนโลยีที่ “ล้าสมัย” แอปที่เขารวบรวมไว้ในคู่มือ คือ เทคโนโลยีที่เหมาะกับยุคสมัยและปลอดภัยกว่าโดยช่วยให้ผู้ชุมนุมนัดหมายสถานที่และเวลารวมตัวได้ว่องไวและอัพเดตสถานการณ์แบบนาทีต่อนาทีแม้จะชุมนุมดาวกระจายไปยังสถานที่ต่าง ๆ ผู้ชุมนุมฮ่องกงยังใช้เว็บแลกเปลี่ยนความเห็นอย่าง LIHKG (Reddit เวอร์ชั่นฮ่องกง) เป็นแพลตฟอร์มหลักในการระดมความเห็นและกำหนดกลยุทธ์ในขั้นต่อไปผ่านการโหวตของสมาชิก โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน

ขณะที่ภาครัฐมีการใช้เทคโนโลยีสกัดกั้นการเคลื่อนไหวใช้อำนาจกดดันให้บิ๊กเทคจำนนต่อกฏหมายของจีนด้วย การสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผู้บริหาร นักพัฒนาซอต์ฟแวร์ และนักธุรกิจ 979 คนต่อผลกระทบของเทคโนโลยีต่ออนาคตของระบบประชาธิปไตยในปี 2030 ของ Pew Research Center และ Elon University’s Imagining the Internet Center พบว่ามีความหวาดเกรงว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยฉุดรั้งมากกว่าส่งเสริมประชาธิปไตย

การแพร่กระจายของข้อมูลเท็จประกอบกับการล่มสลายของสื่อมืออาชีพทำให้เกรงว่าการแบ่งขั้วในสังคมจะรุนแรงขึ้น ทั้งบริษัทเทคโนโลยียังเข้าถึงและควบคุม “ข้อมูล” ของผู้คนทั่วโลกทำให้หลายฝ่ายไม่มั่นใจว่าข้อมูลจะปลอดภัย และสุดท้ายแล้ว โซลูชั่นที่เราต้องการอาจไม่ต้องไฮเทค แค่คือการเปิดใจเปิดพื้นที่เจรจา ถกเถียง รับฟังอย่างมีเหตุผล แม้โลว์เทคแต่อาจเป็น “ทางออก” ที่ดีที่สุดก็เป็นได้