กดปุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล สแกนจุดอ่อนจุดแข็งแก้โจทย์ให้ตรงจุด

John MACDOUGALL / AFP

จากการขยายตัวเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โตขึ้น จากรายงาน e-Conomy SEA ปี 2562 ระบุว่า มีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2568 จะทะลุ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยจะมีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่อันดับ 2 หรือมีมูลค่าถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

สแกนจุดอ่อน-จุดแข็ง

ดร.วีระ วีระกุล รองประธานและประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” จัดโดยเครือมติชนว่า การพัฒนาให้ไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลต้องศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งและศักยภาพที่มีก่อน เพื่อหาเรื่องที่จะพัฒนาต่อ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร 70 ล้านคน มีเลขหมายโทรศัพท์มือถือ 93.4 ล้านเลขหมาย เฉลี่ย 1.2 เครื่องต่อคน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 52 ล้านราย และผู้ใช้โซเชียลแพลตฟอร์ม 52 ล้านราย

จากข้อมูลของ IMD สถาบันวัดศักยภาพทางการแข่งขันของ 63 ประเทศทั่วโลกในปี 2563 ระบุว่า ไทยอยู่อันดับ 39 จากปีก่อนอยู่อันดับ 40 ถือว่ามีพื้นที่ที่ต้องสร้างการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอีกมาก หากเจาะการวัดข้อมูลเป็น 3 ส่วน คือ 1.ด้านความรู้ ที่จะต่อยอดพัฒนาจากเทคโนโลยี ซึ่งไทยอยู่ลำดับ 43 ความน่าสนใจอยู่ที่ความรู้ด้านคณิตศาสตร์อยู่ลำดับ 48 ซึ่งเป็นพื้นฐานวิชาชีพวิทยาศาสตร์ วิศวกร “ถ้าขาดบุคคลด้านนี้ ไทยจะกลายเป็นประเทศที่บริโภคเทคโนโลยี ไม่ใช่ประเทศที่สร้างเทคโนโลยี”

2.ระบบนิเวศที่ก่อให้เกิดทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยี โดยระบบธนาคาร การเงินไทยแข็งแรงมาก ส่วนการพัฒนาและระดมทุนอยู่ลำดับ 27 และ 3.ความพร้อมของประชาชน ธุรกิจและรัฐบาลในการต่อยอดดิจิทัลเทคโนโลยี ไทยอยู่ลำดับ 45 โดยความพร้อมฝั่งอุปกรณ์โดยเฉพาะแท็บเลตอยู่ลำดับ 58 สะท้อนว่าอุปกรณ์นี้กระจุกตัวเฉพาะเมืองใหญ่ นั่นหมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ด้วยเช่นกัน ถือเป็นความท้าทายของการเดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ดึงบิ๊กบอยตั้งศูนย์วิจัยพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นในทุกส่วน โดยเร่งพัฒนา 2 เรื่อง ได้แก่ 1.เทคโนโลยี 2.บุคคลดิจิทัล ซึ่งทั้งหมดต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนที่ชัดเจน “ในส่วนเทคโนโลยี ต้องไปชวนบริษัทใหญ่ ๆ มาลงทุนในไทย โดยต้องกลับมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไร โดยเกณฑ์ก็มีไม่กี่เรื่อง โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งไทยสูงกว่าสิงคโปร์ แต่อาจเสนอเพิ่มได้ว่าไม่ต้องอยู่เฉพาะกรุงเทพฯ อยู่จังหวัดไหนก็ได้ เพราะเรามีอินเทอร์เน็ตทุกตำบล”

ดร.วีระย้ำว่า ไทยต้องตั้งโจทย์ว่า ถ้าผู้เล่นรายใหญ่เหล่านี้เข้ามา กระบวนการของธุรกิจที่เติบโตไปคู่กันมีอะไรบ้าง

“สภาดิจิทัลฯกำลังทำ white paper เพื่อเสนอให้รัฐ ดึงบิ๊กบอยดิจิทัลระดับโลกมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน เพราะที่ผ่านมาบริษัทเหล่านี้เข้ามาตั้งสำนักงานขายเท่านั้น การเชิญบิ๊กบอยเพราะบางเรื่องเราไม่รู้ลึกเท่าเขา ไม่ใช่คนไทยทำไม่ได้ แต่บางเรื่องเราพัฒนาไม่เท่าเขา ก็ต้องพึ่งคนที่มีทุน และคำถามคือ จะเชิญมาได้อย่างไร ซึ่งในไทยมีพื้นที่ในการพัฒนาด้านดิจิทัลอีกมาก”

เร่งพัฒนา “คน” ดิจิทัล

นอกจากนี้ประเทศไทยต้องคำนึงถึงการจัดเก็บข้อมูลมากขึ้น เพราะข้อมูลบนโซเชียลมีเดียทั้งหมด ทั้งข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลการเงินไม่ได้มีการบันทึกหรือจัดเก็บในไทย แต่บันทึกไว้บน “คลาวด์” ที่ต่างประเทศ เช่น ในรัสเซียและจีน เป็นต้น ขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัลมีความเกี่ยวโยงกับความมั่นคงประเทศด้วย ดังนั้นข้อมูลคนไทยก็ควรเก็บอยู่ในไทย

“ข้อมูล” ถือเป็นทรัพย์สิน เสมือนแหล่งน้ำมันที่ควรสร้างประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้คนไทย เช่น ข้อมูลประกันภัยรถยนต์ ถ้าบันทึกว่า อุบัติเหตุเกิดที่ไหน ก็ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ ขณะที่ผู้บริโภคก็ระมัดระวังมากขึ้นสุดท้ายคือการพัฒนาบุคคลด้านดิจิทัลถือเป็นสิ่งที่สำคัญ

จากการสำรวจของบริษัทวิจัย Mckinsey เปิดเผยว่า ทักษะที่จำเป็นมี 3 ส่วน คือความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจ, ทักษะด้านเทคโนโลยี หรือ technical skill และทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและต่อยอดจากข้อมูลได้

“สิ่งสำคัญคือความเป็นมนุษย์ต้องฟัง พูด และสื่อสารเป็น เพราะอนาคต เราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานเป็นทีม”

ดร.วีระทิ้งท้ายว่า เศรษฐกิจดิจิทัลคือการใช้เทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจเดิมให้เกิดธุรกิจใหม่ และสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่อีคอมเมิร์ซโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่เป็นการต่อยอดจากการเชื่อมต่อจากโลกอินเทอร์เน็ต