“โควิด” รอบใหม่ทุบกำลังซื้อวูบ “ไอที-มือถือ-อีคอมเมิร์ซ” งัดแผนตั้งรับ

“ค้าปลีกไอที-มือถือยันแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ” งัดแผนตั้งรับ หลังวิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ปะทุ หวั่นทุบกำลังซื้อกลุ่มกลางล่างสะเทือน “เจ.ไอ.บี.” บริหารสต๊อกสินค้าปรับพอร์ตรับวิถีนิวนอร์มอล เดินหน้าโซเชียลมาร์เก็ตติ้งเต็มสูบ “เจมาร์ท” ขยับเปิดสาขานอกห้างบาลานซ์เสี่ยง

ทั้งปรับโฉม “เว็บ-ระบบขนส่ง” เตรียมบุกหนักปี 64ฟากยักษ์อีคอมเมิร์ซ “ลาซาด้า-ช้อปปี้” เพิ่มสต๊อกสินค้ารองรับดีมานด์พุ่ง พร้อมเสริมมาตรการป้องกันเข้มตั้งแต่คลังสินค้าถึงจัดการส่งถึงมือผู้บริโภค

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ส่งท้ายปี ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้แต่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในเชิงบวกจากวิกฤตที่ผ่านมาอย่างธุรกิจไอที, โทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้งหลาย

ระบาดรอบใหม่ทุบกำลังซื้อ

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดรอบใหม่อาจไม่ใช่ตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตเหมือนกับช่วงล็อกดาวน์รอบแรก เมื่อกลางปี 2563 ที่ทำให้ตลาดเติบโตขึ้น 50-60%

เนื่องจากเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคในรอบนี้ไม่ได้แข็งแรงเท่าเดิม โดยเฉพาะกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มกลางและล่างลดลงอย่างชัดเจน จากจำนวนคนว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นขณะที่กลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงบนยังมีกำลังซื้อ

“กำลังซื้อระดับกลางลงล่างน่าเป็นห่วงแถมปลายปีนี้หลายบริษัทไม่มีโบนัส ทำให้มู้ดจับจ่ายไม่ดีตามไปด้วย แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือธุรกิจมีความพร้อมมากขึ้นจากการเร่งพัฒนาช่องทางออนไลน์ คาดว่ากลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจะเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตอันดับแรก ๆ บนช่องทางอีคอมเมิร์ซ

โดยปีนี้โตขึ้น 70-80% ก็น่าจะต่อไปถึงปี 64 จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ขณะที่แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ ๆ ทั้งลาซาด้า ช้อปปี้ เจดีเซ็นทรัล ต่างลงทุนระบบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระบบขนส่งเพื่อเพิ่มความรวดเร็ว ส่วนผู้ประกอบการสินค้าไอที ทั้งในแง่ผู้ค้าปลีก และแบรนด์สินค้า ต่างปรับกลยุทธ์มาขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น”

“เจ.ไอ.บี.” ขยับรับนิวนอร์มอล

ด้านนายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของเครือข่ายร้านค้าปลีก “เจ.ไอ.บี.” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากมีมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ ค้าปลีกสินค้าไอทีจะได้รับผลกระทบในส่วนของร้านค้าออฟไลน์ แต่ฝั่งออนไลน์ยังขายดีต่อเนื่อง

แต่ยอดขายอาจไม่โตก้าวกระโดดเหมือนช่วงที่มีการระบาดรอบแรก เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มีอุปกรณ์ไอทีพร้อมแล้ว ทั้งวางแผนเรื่องการใช้เงินมากขึ้นด้วย จึงอาจมีการซื้อเพิ่มเติมแค่อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ

และตนมองว่าในปี 2564 การทำงานที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ขององค์กรต่าง ๆ จะมีความชัดเจนขึ้น ทำให้สินค้ากลุ่มพีซีสเป็กแรงจะได้รับความนิยม ขณะที่ยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์น่าจะเติบโตขึ้น 100%

ส่วนปัญหาซัพพลายขาดคาดว่าจะไม่รุนแรงเท่าเดิม เพราะช่วงนี้ซัพพลายเริ่มกลับมาเป็นปกติ ค้าปลีกไอทีจึงได้สต๊อกสินค้าไว้บ้างแล้ว

“เจ.ไอ.บี.ได้รับผลกระทบกรณีสมุทรสาครเช่นกัน ทำให้ต้องปิด 2 สาขา จากที่มี 150 สาขา แผนรับมือจากนี้คือ โฟกัสไปที่การจำหน่ายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ และลุยทำโซเชียลมาร์เก็ตติ้งเต็มสูบ พร้อมทั้งเตรียมนำเข้าสินค้าใหม่ในกลุ่มเฮลท์แคร์รับกระแสโควิดที่ยังไม่สิ้นสุด

ตั้งเป้าทำให้ยอดขายออนไลน์โตขึ้น 5-10% ทั้งบริหารจัดสต๊อกสินค้าไว้อย่างต่ำ 1 เดือน เพิ่มสินค้าที่คาดว่าจะขายดี อย่างกล้องเว็บแคม และโน้ตบุ๊ก”

นอกจากนี้ ยังนำหุ่นยนต์กว่า 15 ตัว มาช่วยจัดการออร์เดอร์ และบริหารจัดการการส่งสินค้าในคลังสินค้าเพื่อให้สามารถรองรับการสั่งซื้อที่มีปริมาณมาก และช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดจากแรงงานคนได้

ด้านนายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย กล่าวว่า ผู้บริโภคยังมีความกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และน่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อ แต่บริษัทยังเดินตามแผนที่วางไว้ โดยจะเปิดตัวเว็บไซต์เจมาร์ทสโตร์ (www.jaymartstore.com) โฉมใหม่กลาง ม.ค. 2564

รองรับการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ที่จะเพิ่มทั้งโปรโมชั่นและปรับระบบขนส่งให้เร็วขึ้น หลังจากกลาง ธ.ค.ทดลองจัดอีเวนต์ “Jaymart Virtual” แม้ยอดขายและจำนวนผู้เข้าร่วมงานอาจยังไม่เป็นไปตามเป้า แต่ถือว่าสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคได้ดี

“ถ้าจะมีล็อกดาวน์อีกรอบนี้ เรามีช่องทางออนไลน์รองรับการซื้อสินค้าที่ครอบคลุมมากกว่ารอบแรก ทั้งผ่านเว็บไซต์เจมาร์ทสโตร์, แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซและโซเชียลมีเดีย อีกทั้งได้เปิดสาขาใหม่นอกห้างเพิ่มขึ้น 12 แห่ง

ในรูปแบบ JMART SYNERGY รวมเจมาร์ท โมบาย, ซิงเกอร์, เจเอ็มที และร้านกาแฟคาซา ลาแปง เข้าด้วยกัน โดยในปี 2564 จะเปิดสาขานอกห้างกว่า 50 แห่ง ทำให้มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนได้ดีขึ้น”

อีคอมเมิร์ซสต๊อกสินค้าเพิ่ม

ในฝั่งของอีมาร์เก็ตเพลซทั้ง “ลาซาด้า-ช้อปปี้” ต่างเตรียมตัวรับมือเต็มที่ ทั้งการบริหารจัดการระบบขนส่ง และสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการที่อาจเพิ่มขึ้น

นายแจ็ค จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากสถิติพบว่าสินค้าที่ขายดีช่วงล็อกดาวน์เกี่ยวข้องกับการใช้งานภายในบ้าน อาหารสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด จึงมองว่าสินค้าเหล่านี้จะกลับมาได้รับความนิยมสูงขึ้นอีกครั้ง

จึงเตรียมสต๊อกสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ขายไม่ให้ขึ้นราคาสินค้าควบคุมทุกประเภท โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ถ้าพบว่าจำหน่ายราคาสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะลบโพสต์สินค้า หรือปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์มทันที

นอกจากนี้ได้เตรียมระบบขนส่งให้สามารถจัดส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีมาตรการป้องกันตั้งแต่คลังสินค้าด้วยการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ภายในคลังสินค้าทั้งหมด รวมถึงตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายพนักงานที่เข้าปฏิบัติงาน และมีขั้นตอนการรักษาความสะอาดอย่างเข้มงวดก่อนสัมผัสพัสดุที่ต้องจัดส่ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

“ในแง่กำลังซื้อพบว่า ผู้บริโภคมองหาสินค้าที่มีความคุ้มค่ามากขึ้น สะท้อนจากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคำสั่งซื้อที่ลดลง เทียบกับช่วงก่อนหน้า แต่จำนวนคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยนักช็อปตัดสินใจซื้อตามช่วงเวลาที่มีโปรโมชั่น และเลือกซื้อสินค้าที่ราคาเหมาะสมกับระดับราคาที่ต้องการ”

ด้านนางสาวสุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์โควิดเป็นปัจจัยเร่งให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยให้ขยายตัว และน่าจะเติบโตได้ดีในปี 2564 จากความต้องการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะปลายปี 2563 ถือเป็นช่วงที่มีการจับจ่ายใช้สอยสูงสุดของตลาดอีคอมเมิร์ซ ส่วนการแพร่ระบาดรอบใหม่ ทางช้อปปี้ได้เตรียมความพร้อมทั้งเรื่องของสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ

โดยเฉพาะของใช้จำเป็น รวมถึงพัฒนาเครื่องมือขายช่วยเหลือผู้ค้า และส่งมอบประสบการณ์การช็อปปิ้งที่ดีให้ผู้ใช้ ตลอดจนเปิดตัวแคมเปญต่าง ๆ เพื่อสร้างความคุ้มค่า รวมถึงมีการติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และนำมาตรการป้องกันและปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาลมาปรับใช้อย่างเคร่งครัด