จับตา 5 ซิลิคอนวัลเลย์แห่งใหม่

ซิลิคอน วัลเลย์
TechTimes
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

เวลาพูดถึงสตาร์ตอัพมักจะคิดไปถึงซิลิคอนวัลเลย์ในฐานะต้นกำเนิด แต่ตอนนี้ซิลิคอนวัลเลย์กำลังมีคู่แข่งอย่างน้อย 5 แห่งที่พร้อมชิงตำแหน่งเมืองหลวงแห่งเทคสตาร์ตอัพ

จากรายงาน The World Economic Forum ระบุว่า สิงคโปร์ เกาหลี บราซิล เคนยา และอิสราเอล คือดาวรุ่งแห่งโลกสตาร์ตอัพด้วยความพร้อมหลายด้าน

เริ่มที่ “สิงคโปร์” ที่ได้รับการจัดอันดับจาก The World Economic Forum ให้เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านนวัตกรรมเป็นอันดับที่ 13 ของโลก

แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ผลักดันให้สิงคโปร์สร้างชุมนุมสตาร์ตอัพไฮเทคระดับโลกได้ดี คือ รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์และสนับสนุนให้เกิดนโยบายใหม่ ๆ ที่ “เป็นมิตร” กับสตาร์ตอัพ

การผลักดันจากภาครัฐอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องทำให้ยอดการลงทุนในสตาร์ตอัพของสิงคโปร์เพิ่มอย่างรวดเร็วจาก 2.39 พันล้านเหรียญในปี 2017 เป็น 8 พันล้านเหรียญในปี 2019

โดยเม็ดเงินลงทุนในกลุ่ม DeepTech (หรือกลุ่มที่พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นเพื่อปัญหาในอุตสาหกรรมต่าง ๆ) เพิ่มขึ้น 260% จาก 160 ล้านเหรียญ เป็น 580 ล้านเหรียญ ขณะที่เงินลงทุนในกลุ่มดาวเด่นอย่าง FinTech ก็ยังโตต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปี 2018 เป็น 861 ล้านเหรียญในปี 2019

เมืองถัดมา คือ กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล ซึ่งการเป็นประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติทำให้ต้องขวนขวายกล้าคิดนอกกรอบ

ศักยภาพของอิสราเอลทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านไอทีและกล้าคิดนอกกรอบเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ดึงดูดยักษ์ระดับโลกอย่าง Google และ Microsoft ให้เข้ามาลงทุนและทุ่มงบฯมหาศาลให้กับเทคสตาร์ตอัพที่มีนวัตกรรมโดดเด่น

อีกประเด็นน่าสนใจ คือ หลักสูตรเกณฑ์ทหารอันเป็นการฝึกภาคบังคับของอิสราเอลยังมีเป้าหมายในการพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่ด้วย

โดยตลอดการฝึกจะมีโปรแกรมการสอนด้านเทคโนโลยีชั้นสูงให้กับทหารทุกคนติดอาวุธทางปัญญากระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

เมื่ิอออกจากค่ายทหารไปก็สามารถทำธุรกิจต่อได้ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ปริมาณเงินลงทุนในสตาร์ตอัพอิสราเอลสูง 8.3 พันล้านเหรียญในปี 2019 เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนหน้า

ประเทศถัดมา คือ“เกาหลีใต้” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจของเกาหลีนั้นโตจากกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยมีเครือบริษัทขนาดใหญ่อย่างซัมซุงและ LG

ซึ่งบริษัทเหล่านี้ต่างยอมรับบทบาทสำคัญของสตาร์ตอัพในฐานะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบใหญ่

นอกจากนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐผ่านโครงการอย่าง TIPS (Tech Incubator Program for Start-ups) ถือเป็น game changer ที่ทำให้วงการสตาร์ตอัพเกาหลีเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2017

รัฐบาลยังตั้งกระทรวง SMEs and Startups เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสตาร์ตอัพเกาหลีขึ้นอีก โดยในปี 2019 รัฐออกเงินลงทุนในสตาร์ตอัพไปกว่า 3.5 พันล้านเหรียญ

หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 25% บริการที่ได้รับเงินสนับสนุนสูงสุด ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ อีคอมเมิร์ซ และไอซีที

ถัดมาได้แก่ “เคนยา” ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนในสตาร์ตอัพทะลุ 2 พันล้านเหรียญในปี 2019 โดยการมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักและมีตลาดแรงงานที่ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านไอทีขั้นสูง ทำให้เคนยากลายเป็นมหานครแห่งสตาร์ตอัพของแอฟริกา

โดยมีบริการ M-PESA หรือบริการโมบายแบงกิ้งระดับตำนาน เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดสตาร์ตอัพหน้าใหม่ที่พัฒนาบริการดิจิทัลอื่น ๆ มาต่อยอดมากมาย ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังให้เคนยาเป็นตลาดที่พร้อมรองรับบริการ 5G ที่กำลังจะมาถึง

และมีแผนจะสร้างซิลิคอนซาวันนาห์มาประชันกับซิลคอนวัลเลย์ โดยตั้งเป้าจะสร้างรายได้ราว 2% ของ GDP ให้ได้ภายใน 10 ปี

ประเทศสุดท้าย คือ “บราซิล” โดยมีเมืองเซาเปาลูเป็นที่มั่นหลัก จากรายงานของ Startup Genome’s Global Startup Ecosystem Report 2020 เมืองเซาเปาลูเป็นเมืองเดียวในละตินอเมริกาที่ตัดอันดับท็อป 30 ของเมืองสตาร์ตอัพโลก

ซึ่งบราซิลมีประชากรกว่า 200 ล้านคน และมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก ทำให้เป็นแหล่งเพาะสตาร์ตอัพชั้นดี

จะเห็นว่าทั้ง 5 ประเทศนี้แม้จะมีพื้นฐานและโครงสร้างทางประชากร สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกแห่งมีเหมือนกัน คือ การมีรัฐบาลที่มองการณ์ไกลและเล็งเห็นถึงบทบาทสำคัญของเทคสตาร์ตอัพในการพัฒนาประเทศ

ที่สำคัญคือ การเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพเข้าถึงแหล่งทุนทั้งภายในและภายนอกอย่างเต็มที่โดยมีรัฐเป็นโต้โผทั้งในฐานะเจ้าของทุนและผู้กำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

ซึ่งทั้งหมดนี้จะประสบผลสำเร็จได้ภาครัฐต้องมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รวมทั้งต้องผลักดันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง