AI ศิลปินเค-พ็อป

TechTimes
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

สำหรับคนทั่วไปการมี “อวตาร” ในโลกออนไลน์อาจเป็นแค่การหาอะไรเล่นแก้เซ็ง แต่สำหรับวงการเค-พ็อปที่ทำมาหากินจากทุกความเคลื่อนไหวของเหล่า “ไอดอล” การสร้าง “อวตาร” หรือ “แฝดเสมือน” ของศิลปินหมายถึงช่องทางใหม่ในการเข้าถึงแฟนคลับ


วง æspa | Twitter @aespa_official

เมื่อ SM Entertainment ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เปิดตัว spa เกิร์ลกรุ๊ป วงใหม่ที่มีนักร้องสาว 4 คน Karina Winter Ning Ning และ Giselle

spa เป็นวงที่ศิลปินแต่ละคนมี “อวตาร” ของตัวเอง หน้าตา และจริตคล้ายต้นฉบับเกือบทุกกระเบียดนิ้ว

“ลี โซ มัน” ประธานและผู้ก่อตั้ง SM Entertainment บอกว่า spa คือจุดเริ่มต้นแห่งอนาคตใหม่ของวงการบันเทิง โดยนำ AI มาสร้างไอดอลเสมือน

หรือ virtual idols เพื่อเอ็นเตอร์เทนแฟนคลับผ่านช่องทางต่าง ๆ คำว่า “spa” มาจากคำว่า “Avatar X Experience” กับ “aspect” เพื่อสื่อให้เห็นภาพที่แฟน จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับไอดอลในมิติใหม่

“ลี” บอกว่า AI พัฒนาอวตารให้อยู่ร่วมกับคนได้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เหมือนพี่น้องหรือเพื่อนสนิท ซึ่งในอนาคตแฟนคลับจะสร้างอวตารของตัวเองเพื่อร่วมกิจกรรมบนโลกเสมือนจริงที่บริษัทสร้างขึ้นผ่านแอป SYNK

คอนเซ็ปต์ของ “spa” น่าสร้างโอกาสทางธุรกิจมากมาย เช่น หากศิลปินป่วยหรือคิวแน่นก็อาศัยแฝดจำลองให้ทำหน้าที่แทนได้

นักวิชาการด้านมนุษยวิทยาจาก Nanyang Technological University “เจมส์ แพทริค วิลเลียมส์” มองว่า หมากตานี้ของ SM เหมือนนำคอนเซ็ปต์ MMORPG (Massively Multiplayer Online Role-Playing Game)

จากวงการเกมที่สร้างผู้เล่นเสมือนพร้อมกันหลายคนมาใช้กับวงการบันเทิง แถมสร้างชุมชนเสมือนผ่านแอปพลิเคชั่นที่ให้แฟนคลับเข้าร่วมผ่านร่างอวตารของตัวเอง ยิ่งทำให้โลกคู่ขนานคึกคักไม่แพ้โลกที่แท้จริงเลยทีเดียว

วิลเลียมส์คาดว่า SM น่าจะมีการรวบรวมข้อมูลและปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ของแฟนคลับผ่านแอปเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของแฟนคลับจะได้พัฒนาบริการอื่น ๆ ต่อ เช่น สร้างคลังเพลงที่ตรงตามรสนิยมแฟนคลับแต่ละคน หรือให้อวตาร “แชต” ให้กำลังใจแฟนคลับเป็นการส่วนตัว

มีนักวิชาการอีกไม่น้อยที่กังวลว่าคอนเซ็ปต์นี้อาจกระทบจิตใจและความเป็นส่วนตัวของศิลปินในอนาคต และอาจก่อให้เกิดปัญหา Hypersexualizationเช่น อาจมีการตัดต่อใบหน้าอวตารของไอดอลไปใส่บนนักแสดงหนังโป๊แล้วใช้ deepfake ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ปรับแต่งท่าทางการพูดจาหรือการแสดงออก

“ลี ฮิ จิน” นักวิชาการด้านวารสารศาสตร์จาก University of Southern California บอกว่า การเป็นไอดอลเสมือนเปิดโอกาสให้คนละเมิดได้โดยไม่รู้สึกผิดมาก ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองการละเมิดทางเพศอวตารบนโลกเสมือนแต่อย่างใด

ปัญหาอีกอย่างที่อาจตามมา คือ เส้นแบ่งระหว่างศิลปินตัวจริงกับศิลปินเสมือนที่เริ่มเบลอขึ้นอาจรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของศิลปินมากขึ้น

แฟนคลับของ spa ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่ยึดไอดอลเป็นที่พึ่งทางใจ จึงอาจปรึกษาปัญหากับ “พี่อวตาร” ว่าอยากฆ่าตัวตาย ปัญหาคือ อวตารหรือ SM จะรับมืออย่างไร

เป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาวงการบันเทิงเกาหลีที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่โมเดลธุรกิจนี้จะยั่งยืนหรือไม่ต้องดูกันหลังโควิด จะมาแทนที่คนได้จริงหรือเป็นคำถามที่ต้องรอเวลาพิสูจน์ โดยเฉพาะในวงการเค-พ็อปที่แฟนคลับหลงใหลความเป็นตัวตนของไอดอลมากกว่า

เสน่ห์ที่แท้จริงของศิลปินเค-พ็อปมาจากความเป็น “มนุษย์” ที่จับต้องได้และไม่เปอร์เฟ็กต์ การล็อกดาวน์เพราะโควิดย้ำให้เห็นว่ามนุษย์โหยหาปฏิสัมพันธ์แบบดั้งเดิม ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้