อาหารเสริมเกลื่อนจอ ปรับ 5 แสน-5 ล้านไม่สะท้าน

อาหารเสริม-กสทช

2กระแสโฆษณาเสริมอาหารเกินจริงสะพัดตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาในหลายกรณี ทั้งถั่งเช่าเกลื่อนจอไปจนถึงกรณีพิธีกรดัง ล่าสุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ร่วมกับ อย. ต้องออกมาพูดถึงแนวทางกำกับดูแลโฆษณาเกินจริง โดยโฟกัสไปยังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่า

พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. ระบุว่า กสทช.มีอำนาจในการกำกับดูแลโฆษณาสื่อเก่าคือ ทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม และวิทยุ ส่วนสื่อออนไลน์ อินเทอร์เน็ต เป็นอำนาจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และ อย.

ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ร่วมมือกับ อย. จัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพตั้งแต่กลางปี 2561 ถึงปัจจุบัน มีโฆษณาเกินจริงทางทีวีดิจิทัล 17 ราย รวม 77 กรณี ทีวีดาวเทียม 90 ราย รวม 190 กรณี วิทยุ 2,150 ราย รวมกว่า 4,058 กรณี

ส่วนสื่อเก่าที่มีการโฆษณาเกินจริง กสทช.มีการเตือน และสั่งปรับไปแล้ว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์

และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่มีโทษปรับตั้งแต่ 500,000-5,000,000 บาท เช่น ปรับสถานีทีวีดาวเทียม เป็นเงิน 5 แสนบาทไปแล้ว 1 ราย อีก 2 รายที่ อย.วินิจฉัยมาแล้วว่าเป็นโฆษณาผิดกฎหมาย เตรียมเสนอบอร์ด กสทช.ลงโทษปรับต่อไป ส่วนสถานีวิทยุปรับไปแล้ว 2 ราย

“ถ้าเป็นวิทยุชุมชนรายเล็ก ๆ เมื่อโดนปรับอาจส่งผลให้เลิกกิจการได้ ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการวิทยุขอยกเลิกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 260 ราย รายที่มีประวัติโดนปรับจากโฆษณาผิดกฎหมายจะได้รับการบันทึกไว้

เมื่อขอต่อใบอนุญาตจะโดนลดอายุใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้มีสถานีโดนลดอายุใบอนุญาตไปแล้ว 150 ราย ส่วนทีวีดิจิทัลช่องใหญ่ปรับตัวดีขึ้น ระมัดระวังมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะโฆษณารูปแบบใด เนื้อหาการโฆษณาต้องได้รับอนุญาตจาก อย.ก่อน ถ้าไม่ผ่านจะโดนดำเนินคดี”

ที่ผ่านมา กสทช.กวาดล้างไปแล้วรอบหนึ่ง แต่โฆษณาเหล่านี้ก็กลับมาอีก โดยปรับรูปแบบใหม่ แม้มีโทษปรับหนักสุดถึง 5 ล้านบาท ส่วนพรีเซ็นเตอร์ อย.เป็นผู้ดำเนินคดี แต่ผู้ประกอบการบางรายก็ยังโฆษณาเกินจริงอยู่ เพราะต้องการรายได้

หากพิจารณาเม็ดเงินโฆษณา รายได้หลักทีวีดาวเทียมและทีวีดิจิทัลจะพบว่าลดลงต่อเนื่อง โดยข้อมูล “นีลเส็น” ระบุว่า ในปี 2563 ทีวี (ทีวีดาวเทียมและทีวีดิจิทัล) มีมูลค่า 63,177 ล้านบาท ลดลง 10% จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 70,310 ล้านบาท ทำให้ต่างปรับกลยุทธ์หารายได้

โดยหนึ่งในนั้นคือปล่อยเวลาให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมายึดพื้นที่ รวมถึงไทอิน ผลิตภัณฑ์ในรายการแม้เรียกเตือน และปรับเป็นระยะ แต่ก็ยังทำต่อ