ดร.สันติธาร เสถียรไทย โอกาสและความหวังประเทศไทยปี2021

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มติชนจัดสัมมนา Virtual Conferences : Breakthrough Thailand 2021 ประเทศไทยไปต่อ “ดร.สันติธาร เสถียรไทย” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ Sea Group เป็น 1 ในวิทยากรที่มาพูดบนเวทีนี้ในหัวข้อ “โอกาสและความหวังประเทศไทยในปี 2021”

ชำแหละ 5D เมกะเทรนด์

“ดร.สันติธาร” เริ่มต้นพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกจากเทคโนโลยีดิสรัปต์ที่มาเร็วจากโควิด-19 ทำให้เกิด 5Dเมกะเทรนด์โลก ได้แก่ debt-divided-divergence-digitalization และ degradation

ซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่หากรู้เท่าทัน และพลิกแพลงปรับเปลี่ยนตัวก็จะข้ามวิกฤต และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ได้

D ตัวแรก คือ debt หรือหนี้ระดับ “สึนามิ” จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้ประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วมีหนี้สาธารณะสูงเท่ากับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทยหนี้สูงเป็นประวัติศาสตร์ และกำลังกระจายไปทั่วโลกทำให้เกิดสภาวะสองเตี้ย สองสูง

“เตี้ยแรก” การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจะเตี้ยลง “เตี้ยที่สอง” คือ “ดอกเบี้ย” แม้ “อเมริกา” จะฟื้นได้จากนโยบายอัดฉีดเงินของประธานาธิบดี “ไบเดน” แต่ก็น่าจะยังเก็บดอกเบี้ยต่ำต่อไป ทำให้เงินไหลออกจาก “ดอลลาร์” มาหาที่ให้ผลตอบแทนสูงในเอเชีย

กรณีไทยน่าห่วงที่สุด คือ “หนี้ครัวเรือน”โดยเฉพาะในกลุ่มคนเปราะบาง

“จีน” ฟื้นเร็วผงาดคุม เศรษฐกิจโลก

D ตัวที่สอง คือ divided ความเหลื่อมล้ำ

“โควิดต่างจากวิกฤตอื่นตรงที่โจมตีคนสายป่านสั้น กลุ่มเปราะบาง คือ เอสเอ็มอีเกือบ 5 แสนบริษัทในไทย 30% น่าจะมีปัญหาหนี้ ด้านแรงงานก็กระทบ แบงก์ชาติประเมินผลกระทบรอบใหม่ว่าแรงงานจะโดนลดถึง 4.7 ล้านคน ที่มีสภาพเหมือนตกงาน คือยังมีงาน แต่ทำงานอาทิตย์ละไม่กี่ ชม. ส่วนใหญ่เป็นอาชีพอิสระและลูกจ้างรายวัน”

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอาจไม่ใช่แค่ในระยะสั้น เพราะ “ไวรัส” ได้เปลี่ยนโลกธุรกิจท่องเที่ยว การบิน การประชุมสัมมนาต่าง ๆ อาจไม่กลับมาเหมือนเดิม รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นก็อาจต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน มีการนำระบบออโตเมชั่นและเครื่องจักรมาใช้แทนคน

เทรนด์ที่ 3 “divergence” การผงาดของเศรษฐกิจเอเชีย โดยมี “โควิด”เป็นตัวเร่ง เพราะอเมริกาคุมโรคระบาดไม่อยู่ ขณะที่จีนฟื้นตัวเร็วกว่าและอาจทำให้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่แซงอเมริกาภายในปี 2030

“จีนมีการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เน้นวงจรคู่ขนาน ฟังเหมือนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ แต่แตกต่างตรงที่เปลี่ยนจากการเป็นโรงงานของโลก มาเป็นตลาดผู้บริโภคของโลก ผลิตสินค้าราคาถูกจำนวนมาก ทำให้เกิดการนำสินค้าเข้าจากทั่วโลก มีอำนาจต่อรองมากขึ้น

ถ้าจีนบอกว่าอยากใช้เงินหยวนมากขึ้นในโลกก็ทำได้ เงินหยวนจะมีบทบาทและสำคัญมากขึ้น อีกสิ่งที่บริษัทข้ามชาติ เรียกว่า ไชน่าพลัสวันคือ เก็บโรงงานในจีนไว้ และมองมายังอาเซียน ซึ่งไทยถือว่าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ แต่เราจะวางใจในแง่ภูมิศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องต่อยอด”

ข้ามวิกฤตด้วย “ดิจิทัล”

มาถึง D ตัวที่ 4 digitalization การเข้าสู่ “ดิจิทัล”

ดร.สันติธารย้ำว่า วิกฤตโควิด-19 เปลี่ยน “ดิจิทัล” จากอาหารเสริมมาเป็น “น้ำดื่ม”ที่คนขาดไม่ได้ ทั้งเรื่องการเรียน การงานและการทำธุรกิจ โดยปี 2563 คนใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียน 6 ประเทศรวมกันมากขึ้น 400 ล้านคน

เพิ่มขึ้น 100 ล้านคนในปีเดียว และพบว่าไม่ใช่แค่ในเขตเมือง แต่กระจายตัว โดย 90% ของกลุ่มนี้บอกว่าหลังโควิดก็จะใช้ดิจิทัลต่อไป

“ถามว่าจะใช้โอกาสที่คนใช้ดิจิทัลมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ใช้กระจายความเจริญ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้อย่างไร ซึ่งการค้าออนไลน์ช่วยเอสเอ็มอีได้มาก ไปดูตัวเลขพบว่า

เอสเอ็มอีไม่ถึงครึ่งในไทยขายของนอกจังหวัดทำให้รายได้กระจุกตัว ในยุคโควิดหากจังหวัดโดนล็อกดาวน์ก็จะแย่เลย แต่พอใช้อีคอมเมิร์ซพบว่ากว่า 80% ของเอสเอ็มอีมียอดขายมาจากทั่วประเทศ ทำให้ธุรกิจโตเร็ว แต่ที่สำคัญกว่า คือ การกระจายความเสี่ยง”

และ D สุดท้าย degradation “โควิด”ทำให้คนกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมาได้เห็นนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ เช่น “แบล็คร็อค” ออกมาเร่งการลงทุนในบริษัทที่ดีกับสิ่งแวดล้อม และมีบรรษัทภิบาลมากขึ้น

บาลานซ์ 5 ธาตุ-เสริมทักษะผู้นำ

นอกจาก 5D แล้ว การมียุทธศาสตร์เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาสต้องไม่ลืม 5 องค์ประกอบที่เปรียบเสมือน 5 ธาตุ

ธาตุแรก “ลม” คือ สิ่งที่อยู่รอบตัวแต่มองไม่เห็น ยุค 4.0 ลม คือ “ดาต้า” ที่อยู่บนระบบคลาวด์

“โครงการที่รัฐทำในปีที่ผ่านมา ทำให้เราได้ดาต้าของคนกลุ่มเปราะบาง เช่น จากเราไม่ทิ้งกัน 15 ล้าน เราชนะ 30 ล้านเราควรใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ แต่ข้อมูลคือจุดเริ่มต้น ต้องมีฐานข้อมูลที่ดี มีการเชื่อมโยง และเปิดให้คนศึกษาใช้ประโยชน์ นำข้อมูลมาประเมินผล และทำนโยบายเศรษฐกิจ”

เป็นนโยบายเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานของ “ดาต้า” ไม่ใช่ “ดราม่า”

ธาตุที่ 2 “ดิน” ความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำ

“เอสเอ็มอี อาจใช้โอกาสจากการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซ ส่วนผู้ใหญ่ก็ต้องใช้ประโยชน์จากการเรียนในการสร้างทักษะใหม่ๆ”

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสในเรื่องการเข้าถึงแหล่งการเงิน เพราะมีคนเข้าไม่ถึงจำนวนมาก อาจเพราะไม่มีหลักประกัน แต่ในยุค “ดิจิทัล” การมี “บิ๊กดาต้า” ทำให้ประเมินความเสี่ยงได้โดยใช้ข้อมูล จึงเป็นโอกาส แต่ก็ต้องเน้นช่วยกลุ่มที่เข้าไม่ถึงดิจิทัลด้วย

ธาตุที่ 3 คือ ธาตุน้ำ หมายถึงการปรับตัว ซึ่ง 3 ทักษะสำคัญ 1.ทักษะด้านดิจิทัลพื้นฐาน 2.growth mindset มีทัศนคติที่คิดว่า “พรุ่งนี้เราจะสามารถดีได้กว่าเดิม” เป็นไมนด์เซตที่ลดอีโก้ จะให้ดีต้องบ่มเพาะมา นำไปสู่ทักษะที่ 3 การเป็น “ผู้นำที่จุดประกายให้คน” คือ เข้าอกเข้าใจผู้อื่น (empathy)

ธาตุ “ไฟ” คือ เชิงรุกในยุค 5D

“เราทำได้ 3 อย่าง คือ 1.ดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลก 2.เป็นจังหวะดีในการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพราะดอกเบี้ยต่ำยาวทั่วโลก เงินบาทกำลังแข็ง 3.การทบทวนตัดลดกฎหมายที่รุงรัง อะไรที่รัฐเคยทำแล้วเทอะทะ ไม่คล่องตัวก็ปรับ”

ธาตุสุดท้าย คือ “ไม้” คือ “ความยั่งยืน” ทั้งด้านมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

เตือน “ไทย” ยิ่งช้ายิ่งเสี่ยง

ดร.สันติธารบอกว่า ปี 2564 เป็นปีแห่งการหาโอกาสจากวิกฤต และก้าวไปข้างหน้าด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีจะมีปัญหาขาดเงินสด มีภาระหนี้

จึงต้องเน้นการลดต้นทุน และหาโอกาสใหม่ ๆ ซึ่งรัฐและเอกชนต้องช่วยกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบ ต้องมีการรีสกิล ปรับทักษะแรงงานขนานใหญ่ สุดท้าย คือ กลุ่มที่อาจเปราะบางมาก ซึ่งเข้าไม่ถึง “ดิจิทัล” หรือเข้าถึง แต่ขาดทักษะ ต้องแก้หลายส่วน

“โอกาสในเอเชียในระยะยาวมาแน่ แต่ต่อให้มั่นใจแค่ไหนก็ต้องกระจายความเสี่ยง ปีนี้ไม่แน่ว่าหลังอเมริกา ยุโรปได้วัคซีนแล้ว เขาอาจกลับขึ้้นมาก็ได้ แต่ในอนาคต

อาจขยับมาทางเอเชียมากขึ้น สินค้าต่าง ๆ มองโอกาสตลาดอย่างอินเดีย อินโดนีเซีย ที่ตลาดยังเด็ก ภาคบริการใหม่ ๆ ต้องให้ความสำคัญกับเอเชีย และสร้างความสัมพันธ์มากขึ้น”

สำหรับโอกาสและอนาคตของไทย หลังโควิด-19 ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างไร

“จุดเด่นของไทย คือ เสถียรภาพ เงินเฟ้อต่ำ มีเงินทุนสำรองจำนวนมาก เวลาล้มก็จะไม่หนัก จะกระดอนกลับมาเร็ว แต่ข้อเสีย คือ เมื่อกระดอนกลับมาแล้วเราวิ่งช้ากว่าคนอื่น ถ้าพลาดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงเราอาจไม่ได้ถึงกับล้ม แต่อาจเห็นเป็นภาพ ทุกคนวิ่งแซงเราไปหมด ซึ่งคือความเสี่ยงที่แท้จริง”

ดร.สันติธารย้ำว่า ทุกการปรับตัวครั้งใหญ่มีความเสี่ยง แต่ “จำเป็น” ถ้ามัวแต่เพลย์เซฟ ก็มีโอกาสที่คนอื่นจะวิ่งแซงเราไป