ส่อง “อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน” เร่งศึกษาผลกระทบธุรกิจไทย

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ร่วมกับโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี ดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบของ “Cross-Border e-Commerce Platform” หรือการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย. 2564 เพื่อพัฒนากฎหมาย มาตรฐานการทำธุรกรรม และกำกับดูแลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน

“นายธงชัย แสงสิริ” รองผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่าในระยะยาวตั้งเป้ากำหนด และสร้างแผนยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคไทย

ด้าน “ดร.รัชดา เจียสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความท้าทายของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ในประเด็นแรกคือ “การอำนวยความสะดวกทางการค้า”

หรือ การทำให้พิธีศุลกากรลื่นไหล ลดค่าใช้จ่ายทางศุลกากรในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ อาเซียนมีความพยายามในการให้บริการ “National Single Windows Service” แลกเปลี่ยนเอกสารผ่านดิจิทัลเพื่อให้จัดการพิธีศุลกากรเร็วขึ้น

หรือมีหลักเกณฑ์“de minimis” ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งอาจทำให้รัฐเสียรายได้ และมีความเสี่ยงที่จะมีสินค้าผิดกฎหมายเล็ดลอดเข้าประเทศมากขึ้น

“การคุ้มครองผู้บริโภค รัฐต้องคุ้มครองผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้าและบริการจากแพลตฟอร์มข้ามชาติ ให้มีการซื้อขายเป็นธรรม และรักษาข้อมูลผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าสินค้านำเข้ามักไม่ได้จดทะเบียนกับหน่วยงานรัฐ

จึงไม่สามารถเอาผิดกับผู้ขายได้ นอกจากนี้ยังใช้รูปภาพโฆษณาที่ไม่ตรงปก ซึ่งภาครัฐขาดบุคลากรในการกำกับดูแลการจดทะเบียนขาย ขณะที่ทั้งผู้เล่นรายใหญ่ เช่น กูเกิล และแอนดรอยด์ ขายพ่วงสมาร์ทโฟนคู่กับเซอร์วิส รวมถึงการควบรวมกิจการระหว่างแกร็บและอูเบอร์ก็ด้วย”

และว่า “การจัดเก็บภาษีอิเล็กทรอนิกส์” ต้องมีการจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์อย่างเท่าเทียม ล่าสุดไทยได้ประกาศเก็บภาษีอีเซอร์วิส หรือบริการออนไลน์จากต่างชาติแล้ว มีผลบังคับใช้ 1 ก.ย. 2564

สำหรับ “มาตรฐานโลจิสติกส์” จะต้องมีการกำหนดราคา การติดตามการขนส่งและคืนสินค้า “ความโปร่งใสในการโฆษณา” โดยในปีที่ผ่านมา ไทยโดนโจมตีกรณีมีการเผยแพร่คลิปใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวในเฟซบุ๊ก

ทำให้ผู้บริโภคต่างประเทศเลิกสนับสนุนมะพร้าวไทย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดขึ้นที่ไทยจริงหรือไม่ ดังนั้น แพลตฟอร์มต้องมีกฎระเบียบในการเผยแพร่โฆษณา และมีสิทธิระงับโฆษณาที่เป็นเท็จได้ทันที

ด้าน “นายชานน วุฒิจรรยารักษ์” ผู้จัดการอาวุโส บริษัทเดียวกันกล่าวว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ “อีเพย์เมนต์” อำนวยความสะดวกในการชำระเงินให้ผู้บริโภค ซึ่งต้องมีระบบซีเคียวริตี้แน่นหนา และพัฒนาแพลตฟอร์มตอบโจทย์ลูกค้าอยู่เสมอ

“แพลตฟอร์มต้องจริงใจกับผู้บริโภค ผู้บริโภคในฐานะเจ้าของข้อมูลมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลของตน สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไข และสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลได้ ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ในแง่การควบคุมข้อมูล ต้องเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีภายใต้ความยินยอมของผู้บริโภค และกำหนดให้มีการประมวลผลในประเทศ และห้ามส่งต่อข้อมูลออกนอกประเทศ”

ส่วน “การนำข้อมูลไปใช้ในเชิงธุรกิจ”รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ในพาณิชย์ให้เป็นสาธารณะ กรณีที่ไม่สามารถเปิดเผยที่มาได้ต้องไม่ระบุเจ้าของข้อมูล ปิดทับข้อมูลบางส่วน และลดความชัดเจนของข้อมูลบางตอน มี “e-Signature” และ “digital ID” สำหรับยืนยันตัวตนออนไลน์