Peloton ฟิตเนสยูนิคอร์น กับปัญหาด้านความปลอดภัย

Peloton ฟิตเนสยูนิคอร์น
FILE PHOTO : onepeloton.com /
คอลัมน์ TECH TIMES
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

จากฟิตเนสสตาร์ตอัพที่มาแรงที่สุดในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา วันนี้ Peloton กำลังเผชิญปัญหารุมเร้าทำให้ภาพลักษณ์และราคาหุ้นตกต่ำลงเรื่อย ๆ หลังมีเหตุการณ์เด็กเสียชีวิตจากการเข้าไปติดใต้ลู่วิ่งไฟฟ้ารุ่น Tread+ เมื่อมี.ค ที่ผ่านมา

คณะกรรมการด้านความปลอดภัยของสินค้าเพื่อผู้บริโภค (CPSC) นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนจนนำมาสู่การประกาศแจ้งเตือนผู้บริโภคที่มีเด็กเล็กหรือสัตว์เลี้ยงให้หยุดใช้เครื่องวิ่งของ Peloton หลังได้รับรายงานอาการบาดเจ็บจากเครื่องวิ่ง 39 ราย

แทนที่จะแก้ไข Peloton กลับยืนยันกับลูกค้าว่าไม่จำเป็นต้องบ้าจี้หยุดใช้ตามคำเตือนของ CPSC แค่ใช้งานตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยของบริษัทก็พอแล้ว โดยหนึ่งในคำแนะนำคือ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 รวมทั้งสัตว์เลี้ยง เข้าใกล้เครื่องวิ่งโดยเด็ดขาด และทุกครั้งที่ใช้เสร็จ ควรดึงกุญแจ ออกเพื่อหยุดการทำงานของตัวเครื่อง

แต่หลังเล่นบทแข็งกร้าวตอบโต้ผู้คุมกฎได้ไม่กี่วัน หลัง CPSC รวบรวมเคสความเสียหายที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เครื่องวิ่งเพิ่มขึ้นเป็น 72 ราย (29 เคสเกิดในเด็กเล็กมีทั้งกระดูกหักและแผลถลอก) บริษัทก็กลับลำ โดยซีอีโอจอห์น โฟลีย์ ออกมาขอโทษพร้อมยอมรับผิดที่ไม่ฟังคำเตือนของ CPSC บริษัทยังเรียกคืนเครื่องวิ่งเจ้าปัญหาทั้งรุ่นพรีเมี่ยม Tread+ (ราคา 4,295 เหรียญ ) และรุ่น Tread (2,495 เหรียญ) กว่า 125,000 เครื่อง

โฟลีย์ยังบอกด้วยว่า บริษัทจะร่วมมือกับ CPSC อย่างเต็มที่เพื่อกำหนดมาตรฐานใหม่ด้านความปลอดภัย กลุ่มปกป้องสิทธิผู้บริโภคอย่าง Consumer Reports อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ระหว่างที่บริษัทกระบิดกระบวนกว่า 2 อาทิตย์ หลังได้คำเตือนทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงกับโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บไปเท่าไหร่

รายงานของ The US National Institutes of Health ปี 2014 ระบุว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ กว่า 25,000 คนที่ได้รับบาดเจ็บจากเครื่องออกกำลังกายต่อปี โดยลู่วิ่งไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ออกกำลังที่เป็นต้นเหตุของการบาดเจ็บมากที่สุด แต่ละปีมีคน 46,000 คน บาดเจ็บจากลู่วิ่ง

Advertisment

ในปี 2019 CPSC รายงานว่า แผนกผู้ป่วยฉุกเฉินในอเมริกาต้องรับรักษาอาการบาดเจ็บของเด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ ที่เกี่ยวข้องกับลู่วิ่งเฉลี่ยปีละ 2,000 ราย Peloton เป็นฟิตเนสสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นที่มีค่าตัวกว่า 4 พันล้านเหรียญก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดปี 2019

และเป็นบริษัทแรกที่ผลิตเครื่องวิ่งที่มีหน้าจอเชื่อมต่อกับคลาสออกกำลังกายออนไลน์ บริษัทยังมีบริการรายเดือนที่ให้สมาชิกเข้าร่วมคลาสเรียนออนไลน์กับเทรนเนอร์ชั้นนำ เหตุผลที่ทำให้ Peloton โดดเด่นและแตกต่าง คือ ไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นแค่บริษัทขายอุปกรณ์ฟิตเนส

Advertisment

Peloton ทำตัวเหมือน Amazon แห่งวงการฟิตเนสที่ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ผลิตฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ คอนเทนต์ (ภาพคมชัดระดับ HD ถ่ายในสตูดิโอแบบมืออาชีพ มีดนตรีประกอบขั้นเทพ) ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าและบริการหลังการขายอย่างมืออาชีพ

ท็อปฟอร์มสุด ๆ ช่วงโควิดระบาด มีสมาชิกราว 1.4 ล้านคนทั่วโลก แต่ปัญหาเรื่องความปลอดภัยจนต้องเรียกคืนสินค้ากดดันราคาหุ้นอย่างหนัก ล่าสุดร่วงไปแล้ว 12% ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

นักวิเคราะห์ของ The Motley Fool เดวิด เจกิวสกี้ เคยให้ความเห็นว่า โมเดลธุรกิจที่เน้นขายเครื่องราคาแพงแถมลูกค้ายังต้องจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน on top อีก ไม่น่าเป็นโมเดลที่ยั่งยืน แน่นอนว่าช่วงล็อกดาวน์คนอาจไม่มีตัวเลือกมากนัก ทำให้ Peloton เป็นที่นิยมยอดขายพุ่งจาก 694 ล้านเหรียญ เป็น 1.8 พันล้านเหรียญ ปลายปี 2020 แต่ดูผลประกอบการดี ๆ จะพบว่ากำไรแค่ 5.6%

ยิ่งกว่านั้น เมื่อทางการเร่งเปิดเมืองหลังมีวัคซีนโควิด ความนิยมก็อาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่รวมคดีที่ค่ายเพลงและศิลปินรวมตัวกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกว่า 300 ล้านเหรียญ ฐานที่เอาเพลงมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตอีก จึงไม่แปลกที่หุ้นของ Peloton ร่วงลงมาแล้วกว่า 35% ในช่วงไม่กี่เดือนแรกของปี 2021 เมื่อประกอบกับข่าวการเรียกคืนสินค้าและข้อกังขาเรื่องความปลอดภัยของสินค้าก็ยิ่งทำให้อนาคต Peloton ไม่สดใสดังที่เคย