“ดีแทค” ปรับรอบทิศ รับเทรนด์ Next Normal

ดีแทค

โควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวสู่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยในงานสัมมนา dtac Responsible Business Virtual Forum 2021 “ชารัด เมห์โรทรา”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค

กล่าวว่าไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากวิกฤตโควิด-19 และธุรกิจโทรคมนาคมได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งบริษัทพบว่าช่วงที่โควิดระบาด ลูกค้าดีแทคมีการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากการทำงานที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจโทรคมนาคมหลังโควิดแบ่งเป็น 3 เทรนด์ ได้แก่ 1.การควบรวมกิจการขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ เช่น กัลฟ์ เข้ามาลงทุนในบริษัทโทรคมนาคมของไทย 2.ภัยคุกคามที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ซึ่งดีแทคพยายามอุดช่องโหว่นี้ด้วยการเร่งขยายคลื่นความถี่ 700 MHz ทำให้ลูกค้าในระบบเติมเงินโตขึ้น 2 เท่า รวมถึงการเปิดตัวโครงการเน็ตทำกิน สำหรับกลุ่ม SMEs

และ 3.การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ดีแทคจึงมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% ให้ได้ในปี 2573

“ประเทศ ตันกุรานันท์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค เสริมว่า การใช้ดาต้าเติบโตขึ้นมากจากปีก่อน โดยไตรมาส 1/2563 ลูกค้ามีการใช้ดาต้าเฉลี่ย 3GB ต่อคนต่อเดือน

ขณะที่ไตรมาส 1/2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.4GB ต่อคนต่อเดือน บริษัทจึงเร่งขยายโครงข่ายรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ทั้งขยายสถานีฐานเพิ่ม 3 เท่า และขยายเสาสัญญาณเพิ่มปีละ 7% ทำให้ 97% ของการใช้พลังงานเกิดจากการบริหารโครงข่าย

ขณะที่ “ทิพยรัตน์ แก้วศรีงาม” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานขายดีแทค กล่าวต่อว่า โควิด-19 ได้ส่งผลซัพพลายเชนของบริษัท ตั้งแต่บริษัทผลิตซิมการ์ด, สมาร์ทโฟน
และร้านค้าตัวแทนจำหน่ายกว่า 7 หมื่นร้านทั่วประเทศ จึงเริ่มปรับการให้บริการ โดยให้คอลเซ็นเตอร์ทำงานที่บ้าน 95% ปรับการเสนอบริการเป็น O2O (online to offline) ทำให้ลูกค้าใช้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 70%

และดึงบริการเติมเงิน ซื้อซิมให้มาอยู่ในแอปพลิเคชั่น dtac One ทำให้ร้านตัวแทนจำหน่ายรู้ค่าคอมมิสชั่นได้แบบเรียลไทม์