INET พลิกตัวสู่ที่ปรึกษาไอที ทรานส์ฟอร์มองค์กรตอบโจทย์ธุรกิจ

การแพร่ระบาดโควิด-19 สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญทั้งบวกและลบให้หลายธุรกิจ รวมถึงผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีครบวงจร

อย่างอินเทอร์เน็ตประเทศไทยที่ต้องเร่งเครื่องเต็มกำลังเพื่่อเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ จากดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นขององค์กรต่าง ๆ ที่มาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับแม่ทัพ “ไอเน็ต” ถึงการปรับตัวของบริษัท และแง่มุมต่าง ๆ จากวิกฤตโควิด-19 ที่่ส่งผลต่อธุรกิจต่าง ๆ

ปรับแผนใหม่รับดีมานด์พุ่ง

“มรกต กุลธรรมโยธิน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด หรือ INET ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีครบวงจรสำหรับธุรกิจ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดโควิด-19

ทำให้บริษัทต้องปรับแผนงานใหม่ เพื่อรองรับความต้องการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล ซึ่งแม้แต่บริษัทเองก็ต้องปรับเช่นกันด้วยการนำแผนที่วางไว้ล่วงหน้ามาใช้ก่อน เนื่องจากโควิดทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนเร็วขึ้น เป็นการปรับตัวอย่างกะทันหัน โดยหลายองค์กรที่ไม่เคยใช้เทคโนโลยีก็ต้องเร่งเปลี่ยนตนเอง

“บริษัทนำโซลูชั่นที่มีเข้าไปช่วยลูกค้าที่เป็นกลุ่มองค์กรในหลาย ๆ มิติ โดยเฉพาะบริการคลาวด์โซลูชั่น เพื่อสนับสนุนและสร้างการเติบโตให้แก่ลูกค้าต่อ ก่อนวิกฤตโควิด-19 บริษัทได้พัฒนาโซลูชั่นต่าง ๆ ไว้แล้ว พัฒนามาแล้ว 3-4 ปี

แต่พอมีโควิดก็ต้องนำส่วนผสมที่มีมาประกอบร่างเป็นบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เรียกว่า มีบริการเป็นวัตถุดิบหลัก และเลือกหยิบมาบริการมาปรุงเป็นเมนูตามที่ลูกค้าต้องการ”

ปัจจุบันบริษัทมี 3 บริการหลัก คือ คลาวด์ เซอร์วิส ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักในปัจจุบัน ตามด้วยบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสำหรับธุรกิจด้วยความเร็วที่หลากหลาย

มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งรายได้ในส่วนนี้มีแนวโน้มการเติบโตลดลง เพราะการแข่งขันสูง สุดท้ายคือ บริการ Co-Location หรือบริการรับฝากเซิร์ฟเวอร์สำหรับองค์กร

ปัจจุบันมี INET IDC 3 แห่ง คือ กรุงเทพฯ 2 แห่ง ได้แก่ อาคารบางกอกไทย ไทยซัมมิท ทาวเวอร์ และที่แก่งคอย สระบุรี

พลิกสู่บริการที่ปรึกษาด้านไอที

อย่างไรก็ตาม เมื่อความต้องการเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นจากทุกทิศทุกทาง พร้อมไปกับแลนด์สเคปของการให้บริการด้านไอทีที่เปลี่ยนแปลงทำให้บริษัทต้องปรับบทบาทของตนเองจากที่เคยขายแต่ระบบ

และซอฟต์แวร์สู่การเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านไอที เพื่อช่วยสร้างการเติบโตให้องค์กรของลูกค้า ซึ่งในส่วนของบริษัทเองเริ่มปรับตัวสู่การให้บริการคลาวด์มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ทำให้บริการนี้สามารถสร้างรายได้ให้บริษัทได้ในช่วงที่เกิดวิกฤต

สำหรับทิศทางธุรกิจจากนี้ไปจะมุ่งไปยังการขยายโซลูชั่นต่าง ๆ ของคลาวด์มากขึ้น ทั้งบริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน (IaaS) ต่อด้วยบริการด้านแพลตฟอร์ม (PaaS) เป็นบริการที่ผู้ใช้สามารถนำแอปพลิเคชั่นมาทำงานอยู่บนระบบนี้

โดยช่วยให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ซึ่งบริการเหล่านี้กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มองค์กรไทย เพราะสอดรับกับการปรับตัวที่เกิดขึ้น

“เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการขยายคลาวด์ออกมาเป็นหลายส่วน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน”

แตกโซลูชั่นใหม่เจาะเอสเอ็มอี

“มรกต” กล่าวต่อว่า บริการด้านซอฟต์แวร์ (SaaS) หรือการให้บริการด้านแอปพลิเคชั่นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นคลาวด์แพลตฟอร์ม บริษัทลงทุนเองอีกส่วนมีแผนร่วมมือกับบริษัทซอฟต์แวร์ต่าง ๆ

ในการปรับมาเป็นบริการ ที่ปรึกษาด้านไอที แต่ปัจจุบันองค์กรไทยยังให้ความสนใจบริการซอฟต์แวร์ค่อนข้างน้อย ซึ่งบริษัทก็พยายามสร้างตลาดใหม่ด้วยการขยายโซลูชั่นใหม่ ๆ ต่อเนื่อง

โดยพยายามผันตัวเองมาเป็นแพลตฟอร์ม เช่น Email on Cloud, ERP on Cloud เป็นต้น เช่น มีบริการ Email on Cloud สำหรับธุรกิจที่ต้องการความสะดวก และความน่าเชื่อถือ คิดราคาค่าบริการเริ่มต้นเดือนละ 35 บาทต่อบัญชี เป็นต้น เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร และเอสเอ็มอี

“หลายองค์กรอาจมองข้ามเรื่องอีเมล์ไป แต่อีเมล์ถือเป็นพื้นฐานในการติดต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์ บริการอีเมล์ของ INET จึงช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจได้”

นอกจากนี้ยังพัฒนาแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “One Conference Service” ที่รองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้สูงสุด 100 คน รวมถึงรองรับการประชุมลับ

ล่าสุดเพิ่งได้รับหนังสือรับรองระบบควบคุมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมการประชุมผ่านสื่อออนไลน์ และการประชุมลับ

โดยมีระบบควบคุมการประชุมการติดตั้ง และให้บริการในประเทศไทย ปัจจุบันมีลูกค้าภาครัฐ และเอกชนเริ่มเข้ามาใช้บริการ

ตลาดคลาวด์ไทยโตทะลุ 6 พันล้าน

จากข้อมูล IDC Semiannual Public Cloud Services Tracker ระบุว่า ในปีที่ผ่านมาธุรกิจให้บริการคลาวด์มีมูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านบาท เบอร์ 1 คือ อเมซอนเว็บเซอร์วิส ตามไมโครซอฟท์

และ INET มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3 ที่สัดส่วน 14.8% ขณะที่ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากคลาวด์เซอร์วิส 70% อีก 30% มาจากบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และบริการ Co-Location ด้านสัดส่วนลูกค้าเกือบ 90% เป็นกลุ่มเอกชน อีก 10% เป็นภาครัฐ

“ก่อนเกิดวิกฤตโควิด ภาคธุรกิจ และรัฐบาลตื่นตัวเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ดิจิทัล แต่เมื่อมีโควิดทุกองค์กรต้องเปลี่ยนตนเองกะทันหัน

ทำให้บริการที่บริษัทพัฒนาในช่วงก่อนเกิดโควิดมีการหยิบนำมาใช้จริงมากขึ้นโดยกลุ่มธุรกิจที่หันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ก็เช่น ประกันภัย โลจิสติกส์ ดีลิเวอรี่ และค้าปลีก”

สำหรับเป้าหมายรายได้ในปีนี้ ตั้งไว้ที่ประมาณ 2,200 ล้านบาท เพิ่ม 20% จากปีผ่านมาที่ทำได้ 1,846 ล้านบาท