การปรับตัวของ SME ที่มีแนวคิดไม่ธรรมดา

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมมีโอกาสได้ไปเข้ากลุ่มที่ปรึกษาให้กับธุรกิจ การรวมตัวครั้งนี้เราให้คำปรึกษากับสตาร์ตอัพที่สนใจจะขอคำแนะนำ แต่การให้คำปรึกษาครั้งนี้ไม่ฟรี

เป็นการเอาเงินที่ได้ไปบริจาคให้กับองค์กรที่ต่อสู้กับโควิดและโครงการเพิ่งจบไป โครงการนี้มีชื่อว่า เมนทอร์เพื่อเธอนะจ๊ะมีทั้งหมดประมาณ 7 บริษัทที่อยากให้ผมให้คำปรึกษาธุรกิจ ผมเลยอยากจะมาแชร์ประสบการณ์ให้กับท่านผู้อ่าน

มีบริษัทที่ผมชอบมากบริษัทหนึ่งคือ เป็นน้องคนหนึ่งที่เป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ธุรกิจครอบครัวของเขาทำปฏิทินจีนที่เรียกว่าน่ำเอี๊ยง

สิ่งที่น่าสนใจของน้องคนนี้คือ เขาบอกว่า ตอนนี้คนใช้ปฏิทินน้อยลงจึงคิดทำเป็นแอปพลิเคชั่นชื่อ “น่ำเอี๊ยง”เป็นปฏิทินไทย-จีน สามารถดูวันธงชัย ดูวันดี ฤกษ์วันแต่งงาน วันเกิด ดูได้ทั้งหมดผ่านแอปตัวนี้

เมื่อเจเนอเรชั่นที่ 3 ต้องมาดูแลธุรกิจสิ่งพิมพ์นี้โดยเอาเข้าสู่ดิจิทัล เขาเองมีบิสซิเนสโมเดลหรือแผนธุรกิจที่น่าสนใจมาก ๆ กับการที่จะปรับธุรกิจเดิมของที่บ้านที่เป็นสิ่งพิมพ์เข้าสู่ดิจิทัลได้น่าสนใจ

เมื่อคนดาวน์โหลดแอปนี้มา จะสามารถดูดูฤกษ์ได้เหมือนในปฏิทิน และมีบริการต่าง ๆ ที่สามารถสร้างรายได้นอกเหนือจากที่เคยทำในเมื่อก่อนที่ขายปฏิทิน จะมีการสมัครสมาชิก ทำโฆษณา มีการทำ wedding planner ผมชอบแนวคิดเด็กรุ่นใหม่ที่สามารถสานต่อธุรกิจจากรุ่นพ่อรุ่นอากงมาได้อย่างน่าสนใจ

เท่าที่ผมพูดคุยกับน้องคนนี้เราคุยกันด้วยแนวคิดแบบใหม่ เป็นปฏิทินจีนแบบใหม่มาก ที่น่าตื่นเต้นก็เพราะว่ากลุ่มเจเนอเรชั่นปัจจุบันอย่างเบบี้บูมเมอร์กำลังเจอปัญหาคือไม่มีรุ่นลูกหลานที่จะสืบทอดกิจการต่อ

เด็กรุ่นใหม่มีแนวคิดที่อยากจะทำธุรกิจของตัวเองมากกว่า แต่น้องคนที่เข้ามาปรึกษานี้เขามองธุรกิจที่บ้านในมุมของธุรกิจที่มีดิจิทัลเข้าไปเสริม และเริ่มมองว่าจะสามารถสร้างรายได้ได้อย่างไรจาก asset หรือสินทรัพย์มีอยู่เดิมแล้วเกิดรายได้ใหม่ ๆ

อีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรียลเอสเตต เจ้าของยังหนุ่มอยู่แต่สร้างรายได้หลายร้อยล้าน ธุรกิจนี้เป็นการซื้อบ้านมือสอง บ้านเก่า คอนโดฯเก่าที่อยู่ในโลเกชั่นดี ๆ ซื้อมาทำใหม่ให้สวย และสามารถขายได้

สิ่งที่น่าสนใจคือ เขาต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาในธุรกิจ เรามีการคุยกันในเรื่องที่จะเอาดาต้า ข้อมูลต่าง ๆ นำการวิเคราะห์ analytics ต่าง ๆ มาผสมผสานกับธุรกิจเรียลเอสเตต
ซึ่งน่าสนใจมาก

ถ้าเรายังอยู่ในธุรกิจแบบเดิม ๆ มาตลอด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่หากเอาเทคโนโลยีเข้าไปใช้แล้ว หนึ่งคุณจะเกิดมุมมองในการทำธุรกิจแบบใหม่ ๆ สอง เกิดบิสซิเนสโมเดล วิธีการหารายได้ใหม่ ๆ สาม สามารถจับกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ได้เลย

ฉะนั้น ใครที่ยังติดอยู่กับกับดักอยู่ในรูปแบบธุรกิจแบบเดิม ๆ ผมว่าการที่หาผู้ช่วย คนที่มีความเชี่ยวชาญมาเสริม มาปรับโมเดล ทำธุรกิจใหม่ ๆ ให้มันสอดคล้องกับพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไปในยุคนี้ ธุรกิจของคุณจะทันสมัยมากขึ้น วิธีการหารายได้ของคุณจะมีความแปลกใหม่มากขึ้น

อีกธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการจากหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าท้องถิ่น ผมสนใจและชอบวิธีคิดมากเลยคือเป็นร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่เอาออนไลน์เข้ามาช่วย มี Facebook มี LINE OA ใช้เครื่องมือ

มีพนักงานไปไลฟ์ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ปรากฏว่ายอดขายดีมาก ใช้ธุรกิจออนไลน์ในการสร้างลูกค้าดึงลูกค้าเข้ามา ข้อมูลลูกค้าทั้งหมดมีการเก็บมีการใช้ CRM มีการวัดผล

เก็บข้อมูลลูกค้าว่าแต่ละคนที่มาซื้อขายเป็นอย่างไรบ้าง มีการส่งถึงบ้าน ฯลฯคือดูแล้วไม่ธรรมดา มีการใช้สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ในการวิเคราะห์คู่แข่งคู่ค้าต่าง ๆ มีการขายส่งบ้าง มีการทำระบบผ่อนออนไลน์

และที่น่าสนใจเขาบอกว่า ยอดขายที่มาจากออนไลน์เฉพาะแชตคอมเมิร์ซประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ มีการขายผ่านมาร์เก็ตเพลซพวกลาซาด้า ช้อปปี้ เขาบอกว่า การไปเปิดขายผ่านมาร์เก็ตเพลซนี้ หนึ่งไม่ค่อยมีกำไรแต่ต้องมี เพราะเอาไว้เป็นช่องทางในการปล่อยของออกให้หมดสต๊อกเร็ว ๆ

จุดที่น่าสนใจเขาบอกว่า ตอนนี้เจอภัยคุกคาม หนึ่ง มาร์เก็ตเพลซเป็นภัยคุกคามของเขา สอง D2C (direct to consumer) หรือแบรนด์หรือโรงงานต่าง ๆ เริ่มขายตรงกับผู้บริโภค สาม โมเดิร์นเทรดต่าง ๆ พวกร้านดัง ๆ ห้าง ๆ เริ่มขยายตัวเองมา ในออนไลน์ด้วยเหมือนกัน

เขาปรับตัวโดยใช้ online marketing สร้าง awareness ต้องเปลี่ยนลูกค้าให้เกิดการรับรู้ เกิดการซื้อ จนถึงการกลายเป็นสาวกของร้าน ฯลฯ ถือว่าเป็นร้านที่สมัยใหม่มาก แนวคิดค่อนข้างจะไม่เหมือน SMEs ทั่วไป บอกได้เลยว่าเขาได้ทรานส์ฟอร์มตัวเองเรียบร้อยแล้ว

นี่ทำให้เห็นว่า ถึงแม้จะเป็น SMEs ถึงแม้จะอยู่ต่างจังหวัด หากคุณมีธุรกิจที่เป็นตัวกลาง คุณเองก็ต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน ต้องพยายามเอาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมให้คุณเก่งขึ้น ถ้ายังทำอยู่เหมือนเดิมบอกได้เลยว่าอันตรายมากเลยทีเดียว