กรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดตัวศูนย์ TISC หนุนไทยสร้างเทคเอง ไม่ง้อต่างชาติ

กรมทรัพย์สินทางปัญญา จับมือ 10 มหาวิทยาลัย ตั้งศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรม TISC สนับสนุนผู้ประกอบการไทยคิดค้นนวัตกรรม ไม่ง้อต่างชาติ หวังดันไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) มาอย่างยาวนาน ถึงแม้จะเปลี่ยนตนเองมาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม แต่ไทยยังไม่ปรับตนเองให้เป็น “ผู้พัฒนา” ยังอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากต่างชาติ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และนำทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการไทยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี ให้ไทยกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์

ล่าสุดร่วมมือองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TISC Thailand เป็นศูนย์กลางและแหล่งข้อมูลด้านนวัตกรรมจากทั่วโลก สนับสนุนให้นักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการจากภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษาเข้าถึงข้อมูลด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

โดยร่วมมือกับ 10 สถาบันการศึกษาในไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราขมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อให้สถาบันการศึกษาเข้าถึงฐานข้อมูลด้านสิทธิบัตรจากทั่วโลก สามารถนำข้อมูลทางทรัพย์สินทางปัญญาไปวิเคราะห์และวิจัยให้เกิดผลงานสร้างสรรค์โดยฝีมือคนไทย นอกจากนี้ยังหารือเตรียมบรรจุวิชาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในหลักสูตรของทุกคณะในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

สำหรับสถาบันการศึกษาทั้ง 10 สถาบัน เดิมมีหน่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยบ่มเพาะทรัพย์สินทางปัญญาอยู่แล้ว เมื่อปรับมาเป็นศูนย์ TISC จะได้รับการสนับสนุนจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก โดยมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ทำให้สถาบันการศึกษาสามารถยกระดับขยายบริการได้เต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันศูนย์ TISC ทั่วโลกให้บริการแล้ว 10 บริการ

Advertisment

อาทิ ระบบการสืบค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตรกว่า 200 ประเทศ บริการสืบค้นข้อมูลด้วยโปรแกรมใหม่ Inspire แบบ On-Demand Searches การให้คำปรึกษาและวางแผนการบริหารจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระบบการประมวลเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสืบค้นข้อมูลเชิงลึก เป็นต้น

อย่างไรก็ตามจากรายงานขีดความสามารถด้านนวัตกรรม (the Global Innovation Index) ปี 2563 พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถด้านนวัตกรรมอยู่ในอันดับ 44 จาก 131 ประเทศทั่วโลก และมีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์จำนวน 36,108 ราย

ขณะที่การจดสิทธิบัตรทั่วโลกมีมากกว่า 3.1 ล้านฉบับ โดย 1.3 ล้านฉบับอยู่ในประเทศจีน 6 แสนฉบับในสหรัฐอเมริกา 3 แสนฉบับในญี่ปุ่น และ 2 แสนฉบับในเกาหลีใต้ ซึ่งสิทธิบัตรกว่า 44% มาจากบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยี เช่น ไอบีเอ็ม ซัมซุง แคนนอน เทสลา ไมโครซอฟต์ แอปเปิล หัวเว่ย กูเกิล และอเมซอน

Advertisment