ดีเอชแอล ลุยธุรกิจขนส่งทางบก รับกระแสอีคอมเมิร์ซโต

ดีเอชแอล เผย ธุรกิจขนส่งทางบกโตขึ้น 13.2% จากระแสอีคอมเมิร์ซ พร้อมให้บริการแอปพลิเคชั่น myDHLi เช็กสถานะพัสดุและบริการเอกสารสำหรับพิธีการ เร่งพัฒนารถบรรทุกไร้คนขับ ดึงดิจิทัลมาใช้ในระบบขนส่ง หวังลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593 

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 นายเคลวิน เหลียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ปี 2564 ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตขึ้น 5.5% จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และคาดการณ์ว่า มูลค่าการใช้จ่ายในธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบ B2B และ B2C จะเพิ่มขึ้นราว 70% ในปี 2570 ส่งผลให้ตลาดการขนส่งทางบกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี โดยธุรกิจกว่า 85% จะเลือกใช้ระบบขนส่งทางบก เนื่องจากที่ผ่านมาการขนส่งทางทะเลและอากาศมีความผันผวนจากสถานการณ์โควิด-19 

สอดรับกับระบบขนส่งทางบกของดีเอชแอลที่เติบโตขึ้นประมาณ 13.2% โดยแผนธุรกิจของดีเอชแอลจะมุ่งโฟกัสไปที่ขนส่งทางบกสำหรับอีคอมเมิร์ซ ซึ่งให้บริการทั้งการขนส่งแบบไม่เต็มคัน (LTL) การขนส่งแบบเต็มคัน (FTL) และการขนส่งแบบ Mutimodal ทั้งทางรถ ทางเรือและทางอากาศ ซึ่งจะมีแอปพลิเคชั่น myDHLi สำหรับติดตามสินค้าได้แบบเรียลไทม์ วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการขนส่งล่วงหน้า และให้บริการเอกสารสำหรับพิธีการศุลกากร 

โดยช่วงที่ผ่านมาการขนส่งทางบกในหลายประเทศได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์และการปิดกั้นพรมแดนระหว่างประเทศ ดีเอชแอลจึงนำเอาซอฟต์แวร์โซลูชั่นมาช่วยคำนวณเส้นทางการขนส่งทางบกทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ หาเส้นทางที่เหมาะสมและประหยัดเวลามากที่สุด ทั้งยังมีมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลพนักงานขนส่งบริเวณชายแดน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอีกด้วย

อย่างไรก็ตามดีเอชแอลยังมีนโยบาย Zero Emission ภายในปี 2593 โดยปัจจุบันดีเอชแอลเริ่มใช้พลังงานทดแทนในธุรกิจขนส่งทางบก ซึ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าครึ่ง ทั้งนี้ยังมีแผนที่จะนำเอาเทคโนโลยี IoT คลาวด์และ AI มาใช้ในระบบขนส่ง รวมถึงกำลังเร่งพัฒนารถบรรทุกไฟฟ้าไร้คนขับ ทดลองใช้แล้วในเยอรมนีบางเส้นทาง ส่วนในประเทศอื่นขึ้นอยู่กับกฎหมายและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ป้ายกำกับบนเส้นทางการจราจรที่จะต้องขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

“ปัจจุบันลูกค้าเลือกใช้บริการขนส่งทางบกเพิ่มขึ้นทั้งระยะใกล้และไกลโดยพบว่า การขนส่งทางบกควบคู่กับการขนส่งทางอากาศ (air—road shipment) จากจาการ์ตาไปยังกรุงเทพฯ ผ่านสิงคโปร์จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึงครึ่ง ลดต้นทุนได้ 35% ส่วนการขนส่งทางบกจากจีนไปสิงคโปร์ก็ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 83% เมื่อเทียบกับการขนส่งทางอากาศ”

ด้านนายโทมัส ทีเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวต่อว่า ดีเอชแอลให้บริการขนส่งระหว่างประเทศครอบคลุม 10 ประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งหลังจากมีมาตรการทางการค้าระหว่างภูมิภาค เช่น ระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน (ACTS) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ทำให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคสามารถทำการค้าข้ามพรมแดนอาเซียนได้ราบรื่นมากขึ้น ผ่านมาตรฐานและการรับประกันที่ครอบคลุมทั้งอากรขาเข้าขาออกและภาษีตลอดเส้นทางการขนส่ง

“ดีเอชแอลต้องการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาคนี้ให้เป็นผืนเดียวกัน สามารถขนส่งข้ามพรมแดนทั้งทางบก ทางเรือและอากาศได้อย่างเสรี แต่ยังติดปัญหาเรื่องภูมิศาสตร์และกฎหมายในแต่ละประเทศที่ยังไม่เอื้อกับโมเดลธุรกิจ”

สำหรับประเทศไทยถือเป็นฮับของโลจิสติกส์ในภูมิภาคนี้ มีศูนย์กระจายสินค้าในไทยกว่า 14 แห่งและมีจุดรับพัสดุมากกว่า 238 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและปรับตัวรวดเร็วภายในระยะเวลา 10 ปีมีการนำแนวคิดคลังสินค้าปลอดอากร (Free Zone) มาปรับใช้กับภาคการส่งออกที่เอื้อต่อการขนส่งทางบกข้ามพรมแดน