เอ็ตด้าเปิดพฤติกรรมใช้เน็ต โควิดดันช็อปออนไลน์ติดลม

เอ็ตด้าเปิดพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตปี’64 พบคนไทยใช้งานเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 36 นาทีต่อวัน กลุ่ม Gen Z ใช้งานสูงสุดทะลุ 12 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน ขณะที่โควิดดันคนช็อปออนไลน์เพิ่มโดยอีมาร์เก็ตเพลซ “ช้อปปี้-ลาซาด้า” ติดแพลตฟอร์มยอดฮิต นิยมจ่ายเงินบนโมบายแบงกิ้ง พร้อมเปิด 10 อันดับกิจกรรมออนไลน์ในยุคนิวนอร์มอล ชี้การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมาแรง

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กล่าวว่า เอ็ตด้าได้สำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2564 เก็บข้อมูลผ่านออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่าง 44,545 คน ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2564 และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 36 นาที โดยวันธรรมดาจะใช้เวลาเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 55 นาที มากกว่าวันหยุดที่ใช้เวลาเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 49 นาที

ซึ่งค่าเฉลี่ยการใช้งานอินเทอร์เน็ตปีนี้ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ตและมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตที่น้อย ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยปีนี้ลดลง

สำหรับกิจกรรมออนไลน์คนไทยที่นิยมทำมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ การติดต่อสื่อสาร 77% เนื่องจากหลายองค์กรต่างมีมาตรการให้พนักงานทำงานที่บ้าน (work from home) และเรียนออนไลน์ ทำให้การสื่อสารในรูปแบบออนไลน์เติบโตขึ้น ตามด้วยกิจกรรมดูรายการโทรทัศน์ ดูคลิป ดูหนัง ฟังเพลงออนไลน์ 62.4% ค้นหาข้อมูลออนไลน์ 60.1% อ่านข่าว บทความ หรือหนังสือ 54.2% ซื้อสินค้า บริการ 47.7% รับ-ส่งอีเมล์ 45.0% และทำธุรกรรมทางการเงิน 41.7%

นอกจากนี้มีกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ติด 1 ใน 3 อันดับแรก คือ การใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อการช่วยเรื่องการออกกำลังกาย ติดตาม ประเมินเกี่ยวกับสุขภาพ 34.8% การสั่งฟู้ดดีลิเวอรี่ 34.1% และการเข้าร่วมกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน 32.7%

หากแยกย่อยตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่ม Gen Z ที่มีอายุน้อยกว่า 21 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุด เฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง 5 นาที ตามด้วยกลุ่ม Gen Y ที่มีอายุ 21-40 ปี มีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 52 นาที

ส่วน Gen X ที่มีอายุ 41-56 ปี ใช้เฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมง 12 นาที และกลุ่ม baby boomer ที่มีอายุ 57-75 ปี ใช้น้อยที่สุด เฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมง 21 นาที

ในส่วนกิจกรรมออนไลน์ที่กลุ่ม Gen Z ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ เรียนออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง 23 นาที ตามด้วยดูรายการโทรทัศน์ ดูคลิป ดูหนัง ฟังเพลงออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง 11 นาที และติดต่อสื่อสารออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง 39 นาที

ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านช่องทางเติบโตขึ้นตามไปด้วย โดยจากการสำรวจพบว่า ช่องทางที่คนนิยมซื้อสินค้าสูงสุด คือ อีมาร์เก็ตเพลซ โดยแบ่งตามแพลตฟอร์มพบว่า ช้อปปี้ (Shopee) 89.7% ลาซาด้า (Lazada) 74% และเฟซบุ๊ก (Facebook) 61.2%

โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าจากอีมาร์เก็ตเพลซ 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สินค้ามีราคาถูก คุ้มค่า แพลตฟอร์มใช้งานง่าย สินค้ามีความหลากหลาย ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นในระบบชำระเงินของแพลตฟอร์ม และมีโปรโมชั่นในช่วงวันสำคัญต่าง ๆ ในแต่ละเดือนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนช่องทางที่ผู้ขายนิยมขายสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก 65.5% ช้อปปี้ 57.5% และไลน์ 32.1% เพราะเป็นแพลตฟอร์มใช้งานง่าย มีชื่อเสียง สามารถทำการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการถูก และมีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย

นายชัยชนะกล่าวว่า ประเด็นที่ผู้ซื้อต้องเผชิญเมื่อซื้อสินค้าออนไลน์ คือ ได้สินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง เช่น ผิดสี ผิดขนาด เป็นต้น ตามด้วยสินค้าได้รับความเสียหาย ค่าขนส่งแพง สินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล และเรื่องความไม่เชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลในแพลตฟอร์ม

ส่วนปัญหาที่ผู้ขายพบคือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูง เช่น ค่าธรรมเนียมการขาย ค่าธรรมเนียมการชำระเงิน ค่าขนส่ง สินค้าชำรุด สูญหายระหว่างการขนส่ง

ช่องทางการชำระเงินค่าสินค้า บริการออนไลน์ที่คนเลือกใช้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ แอปพลิเคชั่นของธนาคาร 59.9% ชำระเงินปลายทาง 53.4% การใช้บัตรเครดิต/บัตรเดบิต 46.8% การโอนเงินโดยตรง 38.4% และการใช้ wallet ของแพลตฟอร์มที่เปิดให้บริการ เช่น Lazada Wallet, Shopee Wallet ประมาณ 34.7%

นายชัยชนะกล่าวว่า แม้การใช้ช่องทางออนไลน์จะมีความสำคัญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ คนมีความกังวลมากขึ้น โดยความกังวล 3 อันดับแรก คือ รู้สึกไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน 38.6% กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการทำงานที่บ้าน 37.5% รู้สึกอึดอัด และทำงานยากขึ้น เนื่องจากขาดอุปกรณ์ที่จำเป็น หรือการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร 29.2%

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุกคนต้องการปรับวิถีชีวิตโดยการพึ่งพาออนไลน์ต่อไป

โดยจากการสำรวจพบว่า กิจกรรมออนไลน์ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นนิวนอร์มอล 10 อันดับแรก คือ การซื้อขายสินทรัพย์เพื่อการลงทุนออนไลน์ การชำระค่าสาธารณูปโภคออนไลน์, การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างบุคคล เช่น โอน ให้ยืมเงิน, การชำระค่าสินค้า บริการออนไลน์,

การอ่านโพสต์ ข่าว บทความ หนังสือออนไลน์ (e-Book), การโอนเงิน บริจาคเงินออนไลน์ (e-Donation), การใช้บริการภาครัฐออนไลน์,การขายอาหารเครื่องดื่มออนไลน์, การค้นหาข้อมูลโดยการสั่งการด้วยเสียงผ่านอุปกรณ์ (voice command) และการเข้าร่วมกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน