สภาดิจิทัลฯ อัพเดต ศบศ. ยกร่าง พ.ร.ฎ.ยกเว้นภาษีลงทุนธุรกิจสตาร์ตอัพ

สภาดิจิทัลฯ อัพเดต ศบศ. คุยสรรพากร ยกร่าง พ.ร.ฎ. ยกเว้นภาษีลงทุนในสตาร์ตอัพ ลุ้นมีผล 10 ปี นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้

วันที่ 21 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1/2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีวาระเรื่องมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ตอัพ โดยสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

โดยสภาดิจิทัลฯ รายงานว่าได้หารือกับกรมสรรพากร กระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เพื่อจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อการยกเว้นภาษีลงทุนในสตาร์ทอัพ ตามขั้นตอนกฎหมาย โดยต้องการให้มีผล 10 ปี นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้

พร้อมกับมอบหมายหน้าที่ของแต่ละส่วนงาน ดังนี้

  • กรมสรรพากรดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายและดูแลการใช้สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง
  • สวทช.และ NIA รับผิดชอบในการรับรองสตาร์ทอัพ
  • ก.ล.ต. รับผิดชอบในการรับจดแจ้งธุรกิจเงินร่วมลงทุนของไทย
  • สภาดิจิทัลฯ ดำเนินการสนับสนุนการใช้สิทธิประโยชน์ให้แก่กลุ่มเป้าหมายรวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ สภาดิจิทัลฯ ยังได้เสนอแนวทางการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลของประเทศ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของระบบการศึกษาที่เข้มแข็งในทุกระดับ การผลิตกำลังคนที่มีทักษะตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ การดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่มีทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง และการสนับสนุนการจัดหางานและการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ

รวมทั้งการดำเนินมาตรการสนับสนุนเชิงนโยบายและสร้างแรงจูงใจเพื่อสนับสนุนการเข้าร่วมการยกระดับทักษะ (Upskill) และปรับทักษะ (Reskill) ให้แก่กำลังแรงงานไทย

สภาดิจิทัลฯ เดินหน้าจี้ ศบศ. ยกเว้นภาษีลงทุนในสตาร์ตอัพ

ที่ผ่านมา สภาดิจิทัลฯ ได้เสนอให้มีการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ปี 2559 (ฉบับที่ 597) และปี 2560 (ฉบับที่ 636) โดยปรับเงื่อนไขที่สำคัญ 3 เรื่อง ประกอบด้วย

  1. เปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปในประเทศและต่างประเทศท
  2. ให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ทั่วโลก
  3. ไม่มีการจำกัดระยะเวลา

โดยคาดว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้ภายในปี 2569 มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 3.2 แสนล้านบาท มีจีดีพีเพิ่มขึ้น 7.9 แสนล้านบาท มีบริษัทสตาร์ตอัพเพิ่มขึ้น 5,000-1,000 แห่ง และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2-4 แสนตำแหน่ง

นิยามสตาร์ตอัพที่เข้าเกณฑ์

  1. เป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี และต้องประกอบ อุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่รัฐบาลกําหนด
  2. การใช้เทคโนโลยีต้องทําให้เกิดรายได้ 80%
  3. ธุรกิจต้องได้รับการรับรองโดย NIA หรือ สวทช. หรือ หน่วยงานที่สรรพากรกําหนด

นิยามนักลงทุน

  1. ให้สิทธิกับนักลงทุนทั้งที่ลงทุนเองโดยตรง และที่ลงทุน ผ่านธุรกิจเงินร่วมลงทุน โดยสามารถเป็นได้ทั้งบุคคล ธรรมดาหรือนิติบุคคล ทั้งไทยและต่างประเทศ
  2. ต้องถือหุ้นขั้นตํ่า 24 เดือน
  3. หากเป็นธุรกิจเงินร่วมลงทุนไทยต้องจดแจ้งกับ ก.ล.ต.

สิ่งที่สตาร์ทอัพ-นักลงทุนต้องการ

  • กฎระเบียบต่าง ๆ เช่น การยกเว้น ภาษีลงทุน ในสตาร์ทอัพ 70%
  • ทักษะ ด้านดิจิทัล 25%
  • อื่น ๆ 5%

พร้อมกันนี้ ยังมีการนำเสนอข้อมูลอัตราภาษีลงทุนในบริษัทสตาร์ดอัพในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยพบว่า สิงคโปร์ และมาเลเซีย ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีบุคคลและนิติบุคคลแก่ผู้ลงทุนในสตาร์ดอัพ ขณะที่ อินโดนีเซีย เก็บภาษีบุคคลธรรมดาในอัตรา 5% นิติบุคคล 5% ฟิลิปปินส์ ภาษีบุคคล 15% ภาษีนิติบุคคล 5 % ส่วนเวียดนาม เก็บภาษีบุคคลและนิติบุคล เท่ากันที่ 20 % แต่ประเทศไทย มีอัตราภาษีบุคคลสูงสุด 35% นิติบุคคลสูงสุด 15%