“ไปรษณีย์ไทย” เปิดเกมรุก ปิดทุกจุดอ่อน ทวงคืนส่วนแบ่งตลาด

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์
ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท)
สัมภาษณ์

การขยายตัวอีคอมเมิร์ซ ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์โดยรวมมีมูลค่าทะลุกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่สมรภูมิขนส่งพัสดุแบบด่วนที่มีการแข่งขันสูงก็มีมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา พื้นที่นี้มีเพียงรายใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ที่กินส่วนแบ่งตลาดนี้เกือบทั้งหมด ก่อนที่บริษัทขนส่งเอกชนรายใหม่รุกคืบเข้ามาลดทอนส่วนแบ่งตลาดลงเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน ปณท มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 40%

เมื่อส่วนแบ่งตลาดลดน้อยถอยลง สิ่งที่ ปณท พยายามทำ คือ การต่อยอดสร้างรายใหม่ ๆ จากเครือข่าย ศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งบุรุษไปรษณีย์ เส้นทางการขนส่งที่ครอบคลุมทุกตารางนิ้วของประเทศไทย รวมถึงการจับมือพาร์ตเนอร์ เพื่อรายได้จากธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน

“ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า การขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การค้าสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ยังถือเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ธุรกิจขนส่งด่วนยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าตลาดนี้มีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท และเติบโตต่อเนื่องทุกปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10%

สมรภูมิขนส่งแข่งแรง

สำหรับแนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจนี้ก็สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปีนี้คาดว่าธุรกิจขนส่งด่วนยังแข่งขันกันดุเดือด โดยเฉพาะด้านราคา เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ที่จับต้องได้ และสร้างยอดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้การแข่งขันด้านราคายังอยู่

“ธุรกิจขนส่งเป็นธุรกิจที่สร้างความแตกต่างกันได้ยาก ดังนั้นการลดราคาค่าบริการ จึงเป็นกลยุทธ์ที่ง่าย และเร็วในการดึงคนให้เข้ามาใช้บริการ โดยปัจจุบัน ปณท มีส่วนแบ่งตลาด 40% ของมูลค่ารวม มีส่วนแบ่งตลาดในเชิงปริมาณชิ้นงานอยู่ที่ 57%”

“ดนันท์” กล่าวต่อว่า ปี 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ท้าทายทั้งจากการแข่งขันสูง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ ปณท ยังเดินต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าจะใช้งบฯลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท

ปี’65 ลุยเก็บส่วนแบ่งตลาด

เป้าหมายสำคัญจากนี้ คือ การรักษาส่วนแบ่งตลาดทั้งในแง่มูลค่าและชิ้นงานไว้ได้มากที่สุด พร้อม ๆ กับการขยับเข้าไปเก็บส่วนแบ่งตลาดในเซ็กเตอร์ใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นทิศทางธุรกิจปีนี้จะเน้นไปยังการต่อยอดธุรกิจจากทรัพยากรที่มี

หนึ่งในนั้น คือ การให้ความสำคัญกับตลาดนิชมาร์เก็ต (niche market) มากขึ้น จากที่ผ่านมามุ่งจับตลาดแมส เจาะกลุ่มบีทูซี (business to consumer) เริ่มมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องในปีนี้ เนื่องจากพบว่าไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้กลุ่มนิชมาร์เก็ตเติบโตขึ้น โดยตลาดใหม่ ๆ ที่ ปณท จะขยายมากขึ้น แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ตลาดขนส่งสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น การขนส่งผัก ผลไม้ ต้นไม้ เป็นต้น โดยปีที่ผ่านมายอดขนส่ง “ต้นไม้” เติบโตขึ้น 100% เทียบกับปี 2563

อีกส่วน คือ การเพิ่มน้ำหนักการให้บริการขนส่งของชิ้นใหญ่ (น้ำหนัก 30-200 กิโลกรัม) มากขึ้น เนื่องจากไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป และมีการทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ทำให้แนวโน้มการขนส่งสินค้าชิ้นใหญ่ขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ บิ๊กไบก์

“ปีนี้จะเพิ่มน้ำหนักให้แก่บริการขนส่งระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของธุรกิจออนไลน์ โดยปีที่ผ่านมาเฉพาะธุรกิจนี้เติบโตสูงถึง 30% ดังนั้น ปณท จึงมองโอกาสในการเติบโตจากธุรกิจนี้ด้วย”

จับมือพาร์ตเนอร์เติมบริการใหม่

ขณะเดียวกันจะเดินหน้าจับมือพาร์ตเนอร์มากขึ้นจากปีก่อน จับมือเจดับเบิ้ลยูดี และแฟลช เอ็กซ์เพรส เปิดบริการขนส่งเย็น ภายใต้แบรนด์ฟิ้วซ์ โพสต์ ซึ่งได้เปิดบริการไปแล้วในบางเส้นทาง โดยได้รับผลการตอบรับที่ดี และคาดว่าภายในไตรมาส 1 ปีนี้การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนจะแล้วเสร็จและเดินหน้าขยายเส้นทางใหม่

นอกจากนี้มีแผนขยายความร่วมมือการขนส่งร่วมกับอีมาร์เก็ตเพลซอีกหลายราย แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพื่อขยายฐานลูกค้าและปริมาณการส่งเพิ่มขึ้น

ชูบริการ EMS ส่งทุก 365 วัน

ขณะเดียวกัน ล่าสุด เปิดตัวแคมเปญ “EMS พี่ไปรฯ ส่งทุกวัน เพื่อทุกวันที่ดีของคุณ” ซึ่งเป็นการยกระดับงานบริการการส่งด่วนให้เข้าถึงได้ง่าย รองรับกับทุกไลฟ์สไตล์ ทันสมัย และสามารถใช้บริการได้ทุกวัน ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งคนรุ่นใหม่ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ประชาชนทั่วไป

อีกทั้งยังสามารถขับเคลื่อนทุกความต้องการในการขนส่งหลากหลายรูปแบบ เช่น รับฝากส่งสิ่งของถึงบ้าน (pick up service) ส่งของดีจากชุมชนที่เว็บไซต์ thailandpostmart ส่งของไปต่างประเทศ ส่งสินค้าแบบครบวงจรด้วยบริการคลังสินค้า fulfillment เป็นต้น

“การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และช่องทางการค้าออนไลน์เป็นปัจจัยให้ธุรกิจการขนส่งแบบด่วน (express delivery) มีทิศทางการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ปณท ในฐานะหน่วยงานด้านการสื่อสารและการขนส่งของชาติถือเป็นพี่ใหญ่ในธุรกิจนี้ โดยมี EMS เป็นบริการส่งด่วนยอดนิยม และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญทั้งในส่วนของธุรกิจค้าปลีก วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และช่วยต่อยอดโอกาสใหม่ ๆ ให้เข้าถึงทุกพื้นที่”

เร่งปิดทุกจุดอ่อน

สำหรับความท้าทายปีนี้ คือ ต้นทุนพุ่งที่สูงจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยน้ำมันถือเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจขนส่ง โดยต้นทุนน้ำมันของ ปณท คิดเป็นสัดส่วน 30% ของต้นทุนทั้งหมด โดยเบื้องต้นจะเน้นการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่ระยะกลางและระยะยาว มีแผนจะนำรถไฟฟ้าเข้ามาใช้สำหรับการขนส่งพัสดุมากขึ้น โดยในเดือนมีนาคมปีนี้จะมีลงนาม MOU กับมิตซูบิชิ และ OR ในการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ขนส่งพัสดุไปรษณีย์ ขณะที่ก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) นำรถบรรทุก 6 ล้อ ด้วยระบบขับเคลื่อนกำลังไฟฟ้า 100% สำหรับใช้ขนส่งสิ่งของในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มาทดลองใช้ 1 คันก่อน และจะค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกันมีแผนที่จะปรับมาตรฐานแฟรนไชส์ไปรษณีย์ไทยใหม่ นั่นหมายถึง ราคาค่าบริการหน้าร้านของทุกแฟรนไชส์ต้องเท่ากัน เพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ปัจจุบันมีจุดบริการรับส่งพัสดุกว่า 10,000 จุด และมีตู้ ปณท 20,000 ตู้ โดยคาดว่าผลประกอบการปี 2564 จะอยู่ที่ 22,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 ที่ผ่านมามีรายได้อยู่ที่ 24,210 ล้านบาท กำไร 385.35 ล้านบาท

“ดนันท์” ทิ้งท้ายว่า แม้ไปรษณีย์ไทยจะเป็นบริษัทขนส่งที่มีอายุมากกว่า 137 ปี แต่ปรับตัว ทำทุกอย่างให้สอดรับกับความต้องการ และไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เราจึงเป็นองค์กรที่อยู่นาน แต่ไม่ได้แก่