ผ่ากลยุทธ์ “คอปเปอร์ ไวร์ด” เกมเร่งโตรับเทรนด์ดิจิทัลไลฟ์

ปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข
ปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน)
สัมภาษณ์

เมื่อการระบาดของโควิด-19 ยังไม่จบลง ทำให้บรรดาธุรกิจต่าง ๆ หยุดนิ่งไม่ได้ รวมถึงค้าปลีกไอทีที่แม้จะได้รับอานิสงส์เนื่องจากความจำเป็นในการใช้อุปกรณ์ไอที และเทคโนโลยีเติบโตขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

“คอปเปอร์ ไวร์ด” หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง สินค้าไอที และดิจิทัลไลฟ์สไตล์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งปิดดีลใหญ่เพื่อขยับขยายการลงทุนเพิ่มเติม โดยเข้าไปซื้อกิจการบริษัท ไอบิส พลัส เน็ทเวอร์ค จำกัด (มูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท) ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นสปริงบอร์ดสำคัญที่จะทำให้บริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดดในปีนี้

“ปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงไตรมาส 3/2564 บริษัทตัดสินใจเข้าไปซื้อกิจการของบริษัท ไอบิส พลัส เน็ทเวอร์ค จำกัด และได้รับการโอนกิจการแล้วเสร็จในปลายปีเดียวกัน ส่งผลให้โครงสร้างขององค์กรใหญ่ขึ้น ทั้งในส่วนของการมีร้านค้าปลีกเพิ่มเป็น 107 สาขา และมีบุคลากรเพิ่มเป็น 800 คนในทันที จากเดิมมีบุคลากรเพียง 300 คน จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้บริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วย

“คอปเปอร์ ไวร์ดกำลังเข้าสู่ปีที่ 22 โดยในช่วง 10 ปีแรกภาพจำของเราคือบริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์ Apple ส่วนใน 10 ปีหลังเราชูความเป็นดิจิทัลไลฟ์สไตล์ มีสินค้าในพอร์ตหลากหลายแบรนด์ ซึ่งทิศทางจากนี้ก็ชัดเจนว่าเราจะเริ่มขยายพอร์ตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งการซื้อกิจการไอบิสฯเข้ามาจะทำให้บริษัทเติบโตได้เร็วและแข็งแรงมากขึ้น”

ซื้อ “ไอบิส พลัสฯ” สปีดธุรกิจ

นายปรเมศร์อธิบายเพิ่มเติมว่า มองเห็นโอกาสหลายอย่างจากการเข้าซื้อกิจการไอบิส พลัสฯ โดยหลังจากโอนกิจการเสร็จในไตรมาส 4 ปีผ่านมาก็เริ่มดำเนินกิจการทันทีด้วยการเข้าไปวางระบบบริหารจัดการต่าง ๆ และเชื่อมต่อระบบเข้ากับร้านค้า ซึ่งในแง่ของระบบหลังบ้านทั้งหมดเสร็จแล้วอาจเหลือปรับการบริหารจัดการร้านและช่องทางต่าง ๆ อีกเพียงเล็กน้อย

โดยการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวทำให้บริษัทได้สิทธิในการบริหารร้านเอไอเอส 28 สาขา ซัมซุง 20 สาขา ร้าน Xiaomi 9 สาขา ทำให้พอร์ตร้านค้าปลีกของบริษัทใหญ่ขึ้น และเพิ่มความแข็งแรงในตลาดแอนดรอยด์ จากเดิมที่มีความแข็งแรงเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ Apple

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ธุรกิจที่ได้มาจากไอบิสฯ และ 2.ขยายธุรกิจเดิม

โดยในส่วนของธุรกิจที่ได้มาจากไอบิสฯ มีแผนปรับรูปแบบร้านเอไอเอส ช็อปใหม่ ทั้งการเพิ่มไลน์อัพสินค้าและการปรับการบริหารจัดการให้ดีขึ้น รวมถึงการขยายสาขาเพิ่มเติม ทำให้ “เอไอเอส ช็อป” ภายใต้การบริหารของบริษัทมีความหลากหลายของสินค้ามากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น

“ร้านเอไอเอส ช็อปมีความเป็นมัลติแบรนด์ ซึ่งแตกต่างไปจากร้านค้าปลีกเดิมที่เรามี ประกอบกับจุดแข็งของไอบิสฯที่มีความชำนาญในการทำตลาดอุปกรณ์ที่รองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ทั้งแบรนด์เกาหลีและจีนรวมเข้ากับการมีช่องทางค่อนข้างแข็งแรง เชื่อว่าจะส่งผลให้บริษัทแข็งแรงมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของห้างสรรพสินค้าในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง จึงอยู่ระหว่างการหารือกับแบรนด์สินค้าทั้งซัมซุง และเสี่ยวหมี่ เนื่องจากบริษัทได้สิทธิในการบริหารแบรนด์ช็อปของทั้งคู่มาจากการเข้าซื้อกิจการของไอบิสฯ และถือเป็นพาร์ตเนอร์รายใหม่ด้วย แต่มั่นใจว่าจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้บริษัทขยายพอร์ตสินค้าและสร้างการเติบโตในปีนี้ให้บริษัทเพิ่มขึ้น

เตรียมเปิด iStudio ที่จันทบุรี

ในส่วนการขยายธุรกิจเดิม บริษัทเพิ่งได้สิทธิในการเปิดร้าน iStudio by copperwired ที่จังหวัดจันทบุรีเพิ่มอีก 1 สาขา และคาดว่าจะเปิดได้ในกลางปีนี้ ซึ่งในภาพรวมการเปิดร้าน iStudio by copperwired ปีนี้อาจไม่มากเหมือนที่ผ่านมา เพราะปีที่แล้วเปิดไปแล้วจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯและตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด

“ร้านเดิมมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ทำให้บางสาขามีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับลูกค้าได้ ปีที่แล้วเราจึงเปิดเพิ่มหลายแห่ง ขณะที่ปีนี้คงเน้นไปที่การรีโนเวตร้าน iStudio by copperwired เดิมมากกว่าเปิดสาขาใหม่ โดยรูปแบบร้านจะมีการปรับโฉมและขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้สามารถรองรับลูกค้าที่เพิ่มขึ้นได้”

สำหรับร้านภายใต้แบรนด์ “ดอทไลฟ์” ซึ่งจำหน่ายสินค้าไอทีในกลุ่มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ที่ผ่านมามีการขยายสาขาอย่างรวดเร็วเช่นกัน ปัจจุบันมี 25 สาขา ทำให้แผนงานในปีนี้จะเน้นไปยังการขยายช่องทางจำหน่ายรูปแบบออนไลน์เพิ่มขึ้น

อีกทั้งยังจะเพิ่มไลน์อัพสินค้าในกลุ่มไลฟ์สไตล์ที่เน้นการใช้ในบ้านมากขึ้น เช่น เครื่องชงกาแฟ, กาต้มน้ำไฟฟ้า และเครื่องล้างจาน เป็นต้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนหันมาทำกิจกรรมในบ้านมากขึ้น

“โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้คนออกจากบ้านไม่ได้จากมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลต่อยอดขายสินค้าในกลุ่มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกล้องและสมาร์ทวอตช์ที่เติบโตลดลง ขณะที่ในปีนี้แม้การแพร่ระบาดจะยังคงอยู่ แต่สถานการณ์และบรรยากาศโดยรวมเริ่มดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเรียนรู้และเริ่มปรับตัวที่จะอยู่กับโควิดได้ดีขึ้นแล้ว ขณะที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงบริษัทเองปรับตัวได้ดีขึ้นเช่นกัน ทำให้สินค้ากลุ่มดิจิทัลไลฟ์สไตล์กลับมาเติบโตขึ้นอีกครั้ง”

ลุยเปิดร้าน U-store

นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายสาขาในส่วน U-store by copperwired ต่อเนื่อง คาดว่าในสิ้นปีนี้จะมี 7-10 สาขา จากปัจจุบันมี 5 สาขา

“ปีนี้เราจะรุกเปิดร้าน U-store by copperwired มากขึ้น มีเป้าหมายเพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษามากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเราเองเข้าไปเจาะตลาดนี้ช้ากว่าผู้เล่นรายอื่น ๆ โดยเพิ่งเริ่มทำตลาดในปี 2562 ขณะที่ตลาดนี้มีการเติบโตอย่างมากจึงต้องเร่งเปิดร้านในสถาบันการศึกษามากขึ้น โดยร้านจะมีขนาดใหญ่ มีสินค้าครอบคลุมทุกกลุ่ม และตอบโจทย์ความต้องการทั้งของนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และลูกค้าทั่วไป”

นายปรเมศร์กล่าวด้วยว่า ปีนี้บริษัทมีซูเปอร์สตาร์ 3 ตัว คือ แบรนด์แอปเปิล, ซัมซุง และเสี่ยวหมี่ ถือเป็นท็อป 3 ของตลาด รวมไปถึงการมีสินค้าแบรนด์จีนอื่น ๆ ภายในเอไอเอส ช็อป จึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ภาพรวมของบริษัทในปีนี้เติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมา

โดยผลประกอบการในปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 5,246 ล้านบาท เติบโต 57.18% มีกำไรสุทธิ 85.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.41% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลมาจากการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางค้าส่ง และสาขาร้านค้าปลีกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากการรับโอนกิจการจากบริษัท ไอบิส พลัส เน็ทเวอร์ค จำกัด

และ ณ สิ้นปี 2564 มีเครือข่ายร้านค้าปลีกรวม 107 สาขา แบ่งเป็นดอทไลฟ์ 25 สาขา Apple Brand Shop 20 สาขา (iStudio by copperwired 14 สาขา U-store by copperwired 5 สาขา และ Ai 1 สาขา) ศูนย์บริการ iServe 5 แห่ง

ส่วนร้านที่ได้รับโอนมาจากไอบิสฯมี 56 สาขา และเปิดใหม่ 1 แห่งประกอบด้วย เอไอเอส ช็อป 28 แห่ง ซัมซุง 20 แห่ง และ Xiaomi ช็อป 9 สาขา